“อเมริกา” หมดค่า

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

 

ประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกาออกมาโวยวายกล่าวหาสาธารณรัฐประชาชนจีน กรณีการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนล้มเหลว สหรัฐอเมริกาจึงขึ้นภาษีขาเข้ากับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีน จากอัตราภาษีร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 สำหรับสินค้าหลายรายการ รวมมูลค่านำเข้าปัจจุบันประมาณ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็ประกาศตอบโต้อย่างสุภาพแบบผู้ใหญ่ ว่าจีนก็จะตอบโต้สหรัฐอเมริกา โดยการขึ้นภาษีในอัตราเดียวกันกับสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐ มูลค่าประมาณ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สหรัฐกล่าวหาจีนเตะถ่วงการเจรจา หวังรอประธานาธิบดีคนใหม่จากพรรคเดโมแครตเข้ามาเสียก่อน

การที่อเมริกาขาดดุลการค้ากับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างหนักมาโดยตลอด และไม่มีวี่แววว่าจะแก้ไขปัญหานี้จากในระยะเวลาสั้น ๆ ก็เพราะว่าอเมริกามีประสิทธิภาพในการผลิตต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ เมื่อเทียบกับค่าจ้างแรงงานชาวอเมริกัน เพราะสหภาพแรงงานสหรัฐอเมริกามีความเข้มแข็ง ขณะที่จีนไม่มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งแบบในค่ายทุนนิยม สหภาพแรงงานจีนตั้งโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน

วิธีที่ระบบเศรษฐกิจอเมริกาทำงานเพื่อรักษาดุลการค้าไว้ก็คือ การทำวิจัยเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งยังไม่มีประเทศใดในโลกก้าวตามสหรัฐอเมริกาได้ทันในหลายแขนงวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอวกาศ อาวุธยุทโธปกรณ์ การสื่อสารโทรคมนาคม หรือที่เรียกว่าทรัพย์สินทางปัญญา

ซึ่งสหรัฐออกกฎหมายคุ้มครองไม่ให้ประเทศอื่นลอกเลียนแบบ แต่ในทางปฏิบัติก็บังคับได้ยาก เพราะอิทธิพลของกลไกราคาที่ไม่มีผู้ใดจะขัดขวางได้ แม้แต่สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจอันดับหนึ่งในด้านแสนยานุภาพทางทหาร

ขณะเดียวกัน จีนก็เป็นประเทศมหาอำนาจที่ทรงอานุภาพทางการผลิตของคุณภาพดี ราคาถูก จีนอาจจะแพ้สงครามที่ใช้อาวุธสู้รบกัน แต่อเมริกาก็แพ้สงครามการค้ากับประเทศจีน

อเมริกามีความโชคดีที่เงินดอลลาร์ของตนเป็นเงินตราที่เป็นที่ยอมรับ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการทั่วโลก ยอมรับเป็นทุนสำรองของประเทศต่าง ๆ ในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินของตน และเป็นเงินตราสกุลเดียวของโลกที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรราคาสินค้าและค่าเงินสกุลต่าง ๆ ทั่วโลก

ระบบการเงินและเศรษฐกิจของอเมริกาจึงยังคงดำรงอยู่ได้ไม่ล้มละลาย หากเป็นประเทศอื่นขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนานอย่างนี้ก็คงจะล้มละลาย ธนบัตรเงินตราของตนคงจะเป็นเศษกระดาษไปแล้ว เช่นเดียวกับธนบัตรของรัฐบาลบางประเทศในทวีปอเมริกาใต้ หรือละตินอเมริกา การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตโดยคงอัตรา

ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงเอาไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องปล่อยให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินตราสกุลหลักอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินหยวนของจีน

การไม่ใช้กลไกราคา แต่ใช้วิธีทุบโต๊ะ ขึ้นภาษีขาเข้าจากสินค้านำเข้าจาก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ สำหรับสินค้าขาเข้าจากจีน มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญ

ผลของการกระทำของสหรัฐดังกล่าวอาจจะไม่มีผลต่อดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐโดยส่วนรวม นอกจากจะทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคในสหรัฐแพงขึ้น ผู้รับภาระของมาตรการภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็คือผู้บริโภคชาวอเมริกัน

เมื่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในอเมริกาแพงขึ้น ทรัมป์ก็หวังว่าเงินทุนจะไหลกลับไปลงทุนสร้างงานให้กับแรงงานอเมริกันมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นจริงในระยะสั้น แต่ในระยะปานกลางหรือระยะยาว สถานการณ์ก็จะกลับมาที่พื้นฐานเดิม คือความได้เปรียบเชิงเทียบ หรือ comparative advantage ของผู้ผลิตอเมริกัน ไม่มีการใช้มาตรการกำแพงภาษีเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมของตน จะยิ่งทำให้การปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตของตนช้าลง แทนที่ตลาดจะกำจัดอุตสาหกรรมที่ไร้ประสิทธิภาพออกไปให้เหลือแต่อุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ สามารถอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตนเอง เพราะสามารถแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศได้

สหรัฐอเมริกาเลือกที่จะแก้ไขปัญหาทางด้านการใช้จ่ายของประชาชน หรือทางด้านความต้องการ หรือ demand management แทนที่จะแก้ไขทางด้านประสิทธิภาพการผลิต หรือ supply side เพื่อให้สามารถส่งออกไปแข่งขันกับต่างประเทศได้ เป็นการมองเข้าหาตัว “inward looking” แทนที่จะมองออกไปนอกตัว หรือ “outward looking” เป็นการบีบรัดตัวเอง แทนที่จะขยายตัวเองสู้กับประเทศอื่นในเวทีการค้าระหว่างประเทศ เมื่อปริมาณการนำเข้าของอเมริกาลดลง ก็จะมีผลต่อการส่งออกของอเมริกา ทำให้การส่งออกของอเมริกาลดลงด้วย เนื่องจากปริมาณการค้าของโลกลดลง

ขณะเดียวกันประเทศต่าง ๆ ก็จะถือโอกาสกีดกันการค้าอเมริกันมากขึ้น ในที่สุดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของอเมริกาก็จะกลับมาที่เดิม แต่ถ้าอเมริกาจะหันกลับไปใช้วิธีปิดประเทศอย่างที่เคย

ทำมาแล้วในอดีต ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจของอเมริกากลับมาทรุดลง ความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจอเมริกาอย่างที่เห็นในปัจจุบันอาจจะไม่ยั่งยืนอย่างที่คิด ที่น่าห่วงก็คือบทบาทขององค์การการค้าโลก หรือ WTO กำลังถูกอเมริกาทำลาย ทั้ง ๆ ที่ตนเองเป็นผู้มีบทบาทในการก่อตั้ง

การที่อเมริกาใช้วิธีสร้างกำแพงภาษีคุ้มครองตนเองจากการแข่งขันกับจีน จะเป็นแรงกดดันให้จีนขึ้นค่าจ้างแรงงาน
ช้าลง ขณะเดียวกันก็เป็นแรงผลักดันให้ตนต้องหาทางลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นแรงกดดันให้จีนต้องใช้และปรับปรุงวิทยาการผลิตหรือเทคโนโลยีให้มากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างบรรยากาศในระบบการค้าโลกให้อเมริกายังคงอยู่กับอุตสาหกรรมที่ล้าหลังและไร้ประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันเป็นการสร้างพลังการตลาดบีบบังคับให้อุตสาหกรรมของจีนก้าวหน้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อชดเชยกับการถูกเพิ่มต้นทุนที่จะเข้าตลาดอเมริกา ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมของจีน และเป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาในระยะยาว

การอาละวาดของ โดนัลด์ ทรัมป์ กับจีนที่เป็นคู่ค้าสำคัญของสหรัฐอเมริกา กำลังจะขยายวงให้กว้างไปถึงยุโรป และประเทศพันธมิตรต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งประเทศไทยเราเองก็ควรจะต้องเตรียมตัว ถ้าหากว่าจะต้องตอบโต้อเมริกันโดยมาตรการภาษี หรือมาตรการกีดกันการค้าอื่น ๆ ก็อาจจะต้องทำเหมือนกัน เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศของเรา ทั้ง ๆ ที่เราเป็นประเทศเล็ก การเกินดุลของประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาไม่มีความหมาย อะไรเลยกับอเมริกา แต่อเมริกาก็ยังมาหาเรื่องเราจนได้แต่น่าจะเป็นผลดีในระยะยาว

ทำให้คู่ค้าของเรากระจายตัว มากขึ้น แทนที่จะพึ่งตลาดอเมริกาอย่างมาในขณะนี้มาตรการทางการค้าของอเมริกากับจีนอาจจะลุกลามต่อไปยังประเทศอื่น ๆ เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และยิ่งใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีขึ้นในปลายปีหน้า โดนัลด์ ทรัมป์ ก็คงจะต้องแสดงอิทธิฤทธิ์มากขึ้น เพื่อลดการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดกับจีนให้ได้ เพื่อใช้เป็นผลงานในการหาเสียงในการเลือกตั้ง

การปรับตัวทางเศรษฐกิจของโลกจะต้องเกิดขึ้นกับประเทศเราแน่นอน ซึ่งอาจจะมีทั้งผลดีและผลเสีย เท่าที่ฟังผลดีน่าจะมีมากกว่าผลเสีย แม้ว่าทั่วโลกมองไปสู่การโยกย้ายการลงทุนออกจากจีนน่าจะไปเวียดนามมากที่สุด แต่ก็ยังไม่แน่ เพราะโครงสร้างพื้นฐานและคุณภาพของแรงงานของเวียดนามยังสู้ของไทยเราไม่ได้ เราเองก็น่าจะหาลู่ทางไปลงทุนในเวียดนามด้วย สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานในสัดส่วนที่สูง

การเตรียมการต้อนรับการโยกย้ายโรงงานการลงทุนของญี่ปุ่นและตะวันตกออกจากจีน น่าจะมาที่ไทยมากกว่าเวียดนาม หากเราเตรียมการให้ดี พร้อม ๆ กับการกลับไประบอบการปกครองของเราให้เป็นระบอบประชาธิปไตยให้มากขึ้น เพราะอเมริกา และยุโรปรังเกียจระบอบเผด็จการทหาร หรือแม้แต่ระบอบที่สืบทอดอำนาจจากเผด็จการทหาร


เราน่าจะได้ผลประโยชน์จากนโยบายทรัมป์มากกว่านี้