ป๋ากับต้มยำกุ้ง

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

แม้ว่าป๋าจะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมานานแล้วก็ตาม แต่ท่านก็ยังติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเราอยู่ตลอด

มักจะเรียกให้ไปอธิบายชี้แจงภาวะทางเศรษฐกิจของโลกและของประเทศอยู่เสมอ ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมคารวะท่านที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ ในใจของท่านไม่มีเรื่องอื่น มีแต่เรื่องประเทศชาติ ทุกข์สุขของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่ยากจนในชนบท

ในราวเดือนพฤษภาคมปี 2540 ท่านให้นายทหารคนสนิทโทรศัพท์มาหา ให้ไปพบที่บ้าน เมื่อเข้าไปพบ ท่านให้อธิบายชี้แจงภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศจึงอธิบายว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเกิดฟองสบู่ สาเหตุเพราะระบบอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทแข็งเกินไปเมื่อเทียบกับเงินตราสกุลอื่น ๆ แม้ว่าประเทศไทยประกาศใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ตรึงค่าไว้กับตะกร้าของเงินตราสำคัญ ๆ ของโลก basket of currencies ในตะกร้าดังกล่าวมีเงินตราสกุลหลักของโลก 10 สกุล ถ่วงน้ำหนัก

ตามความสำคัญของการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศหรือกลุ่มประเทศนั้น ๆ แต่ทำไปทำมาทางธนาคารแห่งประเทศไทยให้น้ำหนักกับเงินดอลลาร์และทองคำมากเกินไป

กล่าวคือให้น้ำหนักกับเงินดอลลาร์สหรัฐถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ทองคำ 10 เปอร์เซ็นต์ เงินเยน 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็เท่ากับตรึงค่าเงินบาทไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐนั่นเอง เพราะราคาทองคำและค่าเงินเยนของญี่ปุ่นก็ขึ้นลงตามค่าเงินดอลลาร์ ภาษาคณิตศาสตร์เขาเรียกว่า “inclusive dependence” กล่าวคือไม่ขึ้นไม่ลงอย่างเป็นอิสระแก่กันโดยแท้จริง โดยที่ฝ่ายวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เข้าใจ

เมื่อค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น ก็หิ้วค่าเงินบาทสูงขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าจะไม่เท่า 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างกรณีที่ตรึงค่าเงินบาทไว้กับเงินดอลลาร์สกุลเดียว แต่ก็ถูกหิ้วขึ้นประมาณ 90-95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการตรึงค่าเงินบาทไว้กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจป๋า ออกโรงให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ว่า ค่าเงินบาทอย่างนี้แข็งเกินไป อยู่ไม่ได้ เพราะเราขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึงร้อยละ 8 ของรายได้ประชาชาติอย่างต่อเนื่อง นานหลายปีจนทุนสำรองร่อยหรอ แม้เจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามปิดบังจำนวนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ แม้ว่าจะปิดบังคนไทยได้ แต่ก็ไม่สามารถปิดบังชาวโลกไว้ได้

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2540 ได้รับโทรศัพท์จากนายทหารคนสนิทบอกว่า ป๋าให้ไปพบด่วน เมื่อไปพบ ท่านให้เล่าชี้แจงอธิบายภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง อาจจะเป็นเพราะท่านไม่เชื่อสิ่งที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น อดีตที่ปรึกษาซึ่งได้โอกาส จึงอธิบายชี้แจงท่านอย่างละเอียดว่า เงินบาทแข็งเกินไป สินค้านำเข้ามีราคาถูกเกินไปเมื่อคิดเป็นเงินบาท

ขณะเดียวกัน สินค้าขาออกของเราแพงเกินไปเมื่อคิดเป็นดอลลาร์สหรัฐ ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลถึงร้อยละ 8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ติดต่อกันและต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี ค่าเงินบาทระดับนี้อยู่ไม่ได้

ท่านถามว่าควรจะลดค่าเงินบาทสักเท่าไหร่ ได้คำนวณอย่างคร่าว ๆ คือ ต้องลดจาก 23 บาท เป็น 27 บาท หรือประมาณ 15% ก็พอ ท่านบอกให้เขียนมาเป็นลายลักษณ์อักษร ท่านจะเรียกนายกรัฐมนตรีมาพบ ให้นายกรัฐมนตรีอ่านบันทึกเช่นว่านี้ก่อน แล้วอธิบายซ้ำให้นายกรัฐมนตรีเข้าใจ

เมื่อกลับเข้าไปในบ้านสี่เสาเทเวศร์อีกครั้ง เห็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเคยเป็นนายทหารคนสนิทนั่งพับเพียบอยู่กับพื้น ป๋าผายมือให้ที่ปรึกษานั่งเก้าอี้แล้วให้ที่ปรึกษาอธิบายชี้แจง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่ต้อง เพราะฟังอดีตที่ปรึกษาป๋ามาจากโทรทัศน์แล้ว รัฐมนตรีคลังไม่เห็นด้วยและไม่มีใครในพรรคเห็นด้วย เพราะในทางการเมืองรับไม่ได้ รัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ แม้อดีตที่ปรึกษาป๋าจะออกมาช่วยอธิบาย รัฐมนตรีคลังก็ไม่ยอมลดค่าเงินบาท ในพรรคไม่มีแม้แต่คนเดียวที่เห็นด้วย นายกรัฐมนตรีท่านนั้นกล่าว

ป๋าพยายามเกลี้ยกล่อม บอกว่า ให้ฟังบ้าง เพราะอดีตที่ปรึกษาทำงานด้วยกันมายังไม่เคยเห็นผิด แล้วป๋าก็ยื่นบันทึกที่ท่านให้เขียน ส่งให้กับนายกรัฐมนตรีแล้วกำชับให้เอาไปอ่าน ถ้าสงสัยก็ให้โทร.ไปถามกันต่อได้ อย่าเพิ่งปฏิเสธวันรุ่งขึ้นป๋าโทรศัพท์มาถามว่า นายกฯเขาติดต่อมาหรือเปล่า เมื่อได้รับคำตอบว่าไม่ได้รับการติดต่อมา

ป๋าก็อุทานทางโทรศัพท์เบา ๆ ว่า “ประเทศไทยคงแย่แล้ว” และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลดังกล่าว ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายธนาคาร ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น เคยเป็นนายธนาคารใหญ่ของประเทศ

เคยเรียนป๋าว่า ผู้คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่านายธนาคารพาณิชย์ที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจจะสามารถเป็นรัฐมนตรีคลังได้ดี ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น งานทางด้านเศรษฐกิจการเงินมหภาค หรือ macroeconomic policy กับงานการธนาคาร หรือ banking นั้น ไม่เหมือนกัน งานบริหารธนาคารพาณิชย์ หรือแม้แต่งานธนาคารกลาง อย่างงานของธนาคารแห่งประเทศไทย จะไม่มีความเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจของชาติโดยส่วนรวม

วิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศไทยทุกครั้งเกิดจากความผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ควรมีความอิสระอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีใครถ่วงดุล แต่ควรจะดำเนินนโยบายด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังควรมีอำนาจถอดถอนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ ถ้าจำเป็น ดังกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยป๋า มีความจำเป็นต้องถอดถอนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วตั้งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการคลังไปดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแทน

ผู้ว่าการท่านนั้นไม่ยอมลดค่าเงินบาท ทั้ง ๆ ที่ป๋าส่งที่ปรึกษาของท่านไปชี้แจงแล้ว แต่ก็ไม่ยอม โดยพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า จะอยู่ในตำแหน่งไม่ได้ถ้าไม่ทำ จะถูกสื่อมวลชนโจมตีแบบเดียวกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังคนก่อน ที่รับหน้าออกมาชี้แจงการลดค่าเงินบาทเมื่อครั้งก่อนหน้านั้น ที่ลดค่าเงินจาก 20 บาท เป็น 21 บาท และ 23 บาท ซึ่งไม่เพียงพอกับการแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งสูงถึง 8 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ

เมื่อรัฐมนตรีคลังเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขอเปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐมนตรีในที่ประชุมต่างก็ทัดทาน คัดค้าน จนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องยื่นคำขาดว่า นายกรัฐมนตรีต้องเลือกเอาคนใดคนหนึ่ง ระหว่างรัฐมนตรีคลังหรือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะมาถึงขั้นนี้ที่ทำงานร่วมกันไม่ได้แล้ว ประเทศชาติบ้านเมืองจะเสียหาย

ป๋าตัดสินใจอนุญาตให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านต่อต้านจากสื่อมวลชนทุกฉบับ เพราะสื่อมวลชนต่าง ๆ ไม่ชอบรัฐมนตรีคลังที่เอาแต่ขึ้นภาษี ตัดงบประมาณรายจ่าย ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ สื่อมวลชนลามปามไปวิพากษ์วิจารณ์ป๋าอย่างหนัก เพราะผู้ว่าการท่านนั้นมีความสนิทสนมกับนักข่าวประจำธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอันมาก

ถ้าป๋าไม่ตัดสินใจอนุญาตให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย การลดค่าเงินบาทก็จะไม่เกิดขึ้น ประเทศไทยก็คงล้มละลายตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เป็นประวัติอันด่างพร้อยของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อดีตผู้ว่าการหลายยุคหลายสมัยเคยสร้างสมมาโดยตลอด ทำให้คิดถึงคำสอน

ของ อาจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ว่า “ถ้าจะทำงานใหญ่ อย่ากลัวหลุดจากตำแหน่ง ถ้ารู้ว่ากลัวหลุดจากตำแหน่ง อย่ารับทำงานในตำแหน่งใหญ่” กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างที่ได้เห็นของจริง เป็นไปตามที่อาจารย์ป๋วยสอนเอาไว้ ในกรณีของอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหลายท่าน

ป๋าอยู่ในตำแหน่งได้นานถึง 8 ปี 5 เดือนกับ 1 วัน ก็เพราะท่านกล้าตัดสินใจในทุกเรื่องที่เป็นความจำเป็นสำหรับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร สังคม

ขณะเดียวกัน ท่านก็เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความอดทนอดกลั้น ยอมกลืนเลือด ไม่โต้ตอบใครในเรื่องไร้สาระ ต่างกับนายกรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ที่ปากเปราะ เห็นประชาชนเป็นผู้อยู่ใต้การปกครองของตน พูดเท็จเกือบทุกวัน จนในที่สุดหนังสือพิมพ์จึงได้หันมาสนับสนุนป๋า และ ปู่สมหมาย ฮุนตระกูล ในการลดค่าเงินบาท เพราะถ้าป๋าต้องหลุดจากตำแหน่งไป ผู้ที่จะมาแทนนั้นแย่อย่างยิ่ง มีหวังทำให้ประเทศล่มจมมากกว่าลดค่าเงินบาท

แม้ป๋าจะออกตัวอยู่เสมอว่า ท่านไม่ใช่นักการเมืองและไม่คิดจะอยู่นาน ท่านจึงไม่คิดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนท่าน ซึ่งคณะที่ปรึกษาขอไม่ให้ท่านคิดและพูดอย่างนั้น เพราะท่านเป็นนักการเมืองตัวยง ต้องขับเคี่ยวกับนักการเมืองที่มีความประพฤติไม่ชอบ ท่านสามารถปลดนักการเมือง รวมทั้งนายทหารที่ทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างไม่ลังเล แต่ก็ยังอยู่ในตำแหน่งได้เป็นเวลานาน

เรื่องของป๋ากับความเป็นนักบริหารจัดการนั้นยังมีอีกมากมาย แม้ว่าท่านจะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังติดตามภาวะและปัญหาเศรษฐกิจของชาติบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา

ถ้านายกรัฐมนตรีในปี 2540 ฟังคำเตือนเรื่องค่าเงินบาทแข็งเกินไป หายนะจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งก็คงไม่ระบาดไปทั่วโลก


ได้ไปกราบศพท่านที่พระที่นั่งทรงธรรม มีความรู้สึกว่าท่านยังอยู่กับเราและประเทศชาติของเรา ไม่ได้หายไปไหน เพราะท่านกลายเป็นตำนานไปแล้ว