ปัญหาเรื่องส้วมในอินเดีย

คอลัมน์ คนเดินตรอก 

โดย ดร.วีระพงษ์ รามางกูร


เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่า นายกรัฐมนตรีโมดี ของอินเดีย มีนโยบายที่จะให้ชาวอินเดียสร้างส้วม และใช้ส้วมกันให้มากขึ้นทั่วประเทศ แม้ว่าอินเดียจะมีนโยบายให้คนอินเดียใช้ส้วมมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะคนอินเดีย 1,300 ล้านคน กว่าร้อยละ 70 ยังไม่นิยมใช้ส้วมเป็นที่ถ่ายทุกข์ แม้แต่ส้วมที่สร้างขึ้นมาแล้วในสถานที่ต่าง ๆ ก็ดี คนนิยมใช้เพียงครึ่งเดียว แต่ไปทำธุระนอกส้วมถ้าเราไปอินเดีย หรือประเทศแถบนั้น เช่น เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา บังกลาเทศ หรือแม้แต่พม่า ตอนเช้า ๆ

ถ้าเดินออกไปนอกโรงแรม หรือไปที่ชายหาดสาธารณะ ก็จะเห็นทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นั่งยอง ๆ ปฏิบัติภารกิจส่วนตัวกันทั่วไป

เคยไปเมืองมัทราส ที่อินเดีย หรือกาฐมาณฑุ ที่เนปาล หรือแม้แต่นอกเมืองเดลี ตอนเช้า ๆ ก็จะเห็นผู้คนใช้ท้องทุ่ง หรือหาดสาธารณะ หรือริมแม่น้ำ เป็นที่ถ่ายทุกข์กันทั้งนั้น เป็นปกติธรรมดา

เคยไปเมืองจีน เมื่อกว่า 30 ปีก่อน สมัยที่คณะ 4 คน หรือ “สี่นั้งปั๊ง” หมดอำนาจใหม่ ๆ ถ้าออกไปเมืองนอก ๆ เช่น ที่เมืองแต้จิ๋ว โผวเล้ง หรือที่เกาะไหหลำ ก็ยังใช้ส้วมหลุมที่เปิด แม้ว่าจะเป็นที่เป็นทางกว่าเนปาล และอินเดียก็ตาม เพราะจีนสมัยนั้นเป็นของที่ซื้อขายกัน สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ในนาและแปลงผักได้ แต่จีนมีวัฒนธรรมไม่ดื่มน้ำดิบ ไม่นิยมรับประทานอาหารดิบ หรืออาหารเย็น แต่นิยมดื่มน้ำต้มหรือน้ำชา รับประทานอาหารร้อน ๆ ซึ่งเป็นกฎหมายมาตั้งแต่สมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ เมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว แม้กระนั้นโรคทางเดินอาหารก็ยังคงมีระบาดให้เห็น

ประเทศไทยเราเมื่อ 40-50 ปีก่อน แม้ว่าในเขตเทศบาลและเขตสุขาภิบาล จะมีเทศบัญญัติและสุขบัญญัติห้ามมิให้ถ่ายทุกข์ในที่สาธารณะ แต่นอกเขตเทศบาล สุขาภิบาลในเขตชนบท ก็ยังไม่นิยมมีส้วมกัน วัสดุที่ใช้ชำระก็เป็นไม้ไผ่เหลาบ้าง กาบมะพร้าวบ้าง ที่ดีหน่อยก็เป็นกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษฟาง ถ้าดีหน่อย หรือถ้าเป็นคนในเมือง ก็ใช้น้ำทำความสะอาดไปเลย แต่ส้วมซึมเริ่มออกไปในชนบทเมื่อราว ๆ หลังปี พ.ศ. 2525 มานี้เอง เพราะมีการรณรงค์ของรัฐบาลที่ท่านผู้นำต้องการให้คนไทยมีวัฒนธรรมอย่างนานาอารยประเทศ โดยรัฐบาลออกแบบหัวส้วมเป็นแบบนั่งยอง ๆ หินขัดมีสีแดงและสีเขียว สีอื่นไม่สู้จะนิยม ใช้น้ำไม่มาก ราดประมาณ 1.5 ลิตร ส่วนที่เป็นแบบชักโครกราคาแพงจะใช้แต่ในโรงแรมชั้นหนึ่ง หรือบ้านคนชั้นสูง แม้แต่ในโรงเรียนก็ใช้หัวส้วมแบบนั่งยอง

เมื่อนายกรัฐมนตรีโมดี ของอินเดีย จะรณรงค์ให้คนอินเดียทั่วประเทศสร้างส้วมและใช้ส้วม อย่างเดียวกับที่นายกรัฐมนตรี จู หลง จี ของจีน ที่ตั้งงบประมาณ 8,000 ล้านหยวน ช่วยเหลือชดเชยให้คนจีนในชนบททั่วประเทศสร้างส้วมแบบปิด จะเป็นส้วมซึมหรือส้วมชักโครกก็ได้ รณรงค์ให้มีการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยชีวภาพอย่างอื่นในการเกษตรเพื่อป้องกันโรคระบาด จีนต้องใช้ความพยายามในการรณรงค์อย่างมาก

แต่ในกรณีของอินเดียที่ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจยังไม่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วได้เหมือนจีน คงจะเป็นงานที่ยากลำบากไม่น้อย เพราะนอกจากระดับการพัฒนา ระดับการศึกษา รวมทั้งฐานะของสตรีในสังคม เป็นเงื่อนไขที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต นอกจากนั้น สังคมอินเดียนั้นยังยึดมั่นกับความเชื่อในเรื่องชั้นวรรณะ ความเชื่อในเรื่องศาสนา ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีการถ่ายทุกข์ บางคนมีความเชื่อว่าจะทำในที่มิดชิด อับอากาศ หรือทำในที่เดิมซ้ำ ๆ ไม่ได้ ผิดกฎหมายศาสนา ต้องเปลี่ยนที่ บางคนเชื่อว่าต้องปล่อยไว้ให้สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข สุกร นก หนู กา ไก่ ได้ใช้เป็นอาหาร

บางคนแม้แต่ส้วมของตนเอง ตนก็ทำความสะอาดเองไม่ได้ เพราะงานทำความสะอาดส้วม ห้องน้ำหรือสถานที่สกปรกเป็นงานของคนในวรรณะต่ำ เช่น วรรณะศูทร หรือจัณฑาล พวกคนวรรณะสูงทำไม่ได้ แม้ว่าในเมืองก็ด้วยความจำเป็นที่ทำให้ความเชื่อถืออย่างนี้หมดไป แต่ในชนบทความเชื่อถืออย่างนี้ก็ยังมีอยู่ และยังปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

เนื้อสุกรก็ดี เนื้อไก่ก็ดี เนื้อวัวควายก็ดี หรือแม้แต่เนื้อปลาน้ำจืด ถ้าจะรับประทานต้องทำให้สุกก่อน เพราะเนื้อสัตว์เหล่านี้เป็นพาหะของเชื้อโรคจากคนสู่คน ผ่านทางการกินอาหารตามธรรมชาติของสัตว์ที่มีเชื้อโรคจากคนสู่คน เพราะการไม่ใช้ส้วม แต่ใช้ท้องทุ่งหรือส้วมหลุมที่ขุดเป็นหลุม แล้วมีไม้พาด 2 ท่อน เป็นที่เพาะแมลงวันในหลุม จะเห็นหนอนไต่ตอมเต็มไปหมด แมลงวันจึงมีชุกชุม แม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวอย่างทัชมาฮาล

เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็น สุกร ไก่ วัว ปลา ต่างก็เลี้ยงอย่างถูกสุขลักษณะ กินอาหารสำเร็จรูป จึงปลอดภัยจากเชื้อโรค จะยังเหลือก็เป็ดไล่ทุ่ง วัว และควาย ที่ไล่ต้อนมาจากต่างประเทศ เช่น พม่า บังกลาเทศ ลาว และกัมพูชา เป็นต้น

ถ้าใครเคยไปเยี่ยมชมพระราชวังโบราณ หรือชาโต หรือป้อมปราการในยุโรป หรือเมืองในประวัติศาสตร์ในอเมริกา เช่น เมืองวิลเลียมส์เบิร์ก ถ้าสังเกตให้ดี ไม่ว่าจะเป็นพระราชวังแวร์ซายส์ พระราชวังลูฟวร์ หรือพระราชวังเชินบรุนน์ในออสเตรีย ซึ่งแต่ละแห่งมีที่ทางมากมายเป็นพันห้อง แต่ที่สำคัญไม่มีห้องส้วม เคยถามมัคคุเทศก์ว่า เจ้านายเหล่านั้นเขาทำอย่างไร ได้รับคำตอบว่า เขาใช้กระโถน แล้วบ่าวไพร่นำไปเทในวันรุ่งขึ้น พระราชวังในกรุงปักกิ่งก็เช่นเดียวกัน

ถ้ารัฐบาลอินเดียจะเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ก็ต้องประกาศเป็นวาระแห่งชาติ อย่างเดียวกับที่นายกรัฐมนตรี จู หลง จี ของจีนเคยทำ บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คราวละ 5 ปี กว่าอินเดียจะสำเร็จอาจจะต้องทำต่อเนื่องไปกว่า 10-15 ปี พร้อม ๆ กับงบประมาณแผ่นดินและบุคลากรที่จะออกไปแนะนำ อาจจะต้องเปลี่ยนความคิดของผู้นำศาสนาที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนวิถีชีวิต ความเชื่อทางศาสนา ในเรื่องการถ่ายทุกข์ที่ซ้ำที่เดิมไม่ได้ หรือต้องให้เป็นทานกับสัตว์

ประชาชนในชนบทจำนวนกว่าครึ่งของประเทศยังอยู่ในฐานะยากจน บ้านเรือนก็เป็นกระท่อมเล็ก ๆ ทำด้วยไม้ไผ่สาน ยาด้วยโคลนและมูลวัวควาย ใช้มูลวัวควายเป็นเชื้อเพลิงในการหุงหาอาหาร ประชากรที่ยังอยู่ใต้เส้นความยากจนเหล่านี้คงจะลำบากที่จะชักชวนให้เขาเปลี่ยนวิถีชีวิต อีกทั้งการมีส้วมน่าจะเป็นของฟุ่มเฟือยเกินไปสำหรับผู้คนเหล่านี้

ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ อย่าว่าแต่ประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกาเลย แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเรา เช่น พม่า และประเทศในกลุ่มอินโดจีน ก็ยังล้าหลังกว่าเราเป็นอันมาก

เคยมีการพูดกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์พัฒนาสมัยนี้ว่า ดัชนีที่ใช้วัดระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจอาจจะวัดได้จากสัดส่วนของประชากรในชนบทที่มีและใช้ส้วมในการขับถ่าย ซึ่งก็คงจะไม่เกินความจริงมากนัก

แต่ถึงแม้ว่าเราจะมีการใช้ส้วมกันอย่างแพร่หลายแล้ว ทั้งในเขตเทศบาลและในเขตชนบท แต่ก็ยังเป็นระบบที่ให้น้ำซึมลงสู่ดิน โดยที่ระดับน้ำใต้ดินยังต่ำกว่าระดับพื้นดิน แต่เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมหรือน้ำล้นฝั่ง น้ำที่เป็นของเสียกับน้ำใต้ดินก็รวมไหลลงคูคลองและไหลลงแม่น้ำในที่สุด แม่น้ำของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปทุมธานี นนทบุรีลงมา จึงเป็นแม่น้ำที่ใช้ระบายของเสียจากกรุงเทพฯ และชานเมืองออกสู่ทะเล เป็นแม่น้ำที่มีมลพิษที่ยากในการแก้ไข

เมื่ออินเดีย เขามีวาระแห่งชาติในการปฏิรูปให้มีการใช้ส้วมมากขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า เราควรจะมีวาระแห่งชาติในเรื่องของการกำจัดของเสีย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ๆ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น ชลบุรี พัทยา หาดใหญ่ ฯลฯ เสียใหม่

เรื่องส้วมอย่านึกว่าเป็นเรื่องเล็ก