เศรษฐกิจไทย-จีน โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

คอลัมน์คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจไทย-จีน แน่นแฟ้นเกินกว่าที่คิดเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ จีนกลายเป็นตลาดสำคัญของสินค้าเกษตรสำคัญที่ประเทศไทยส่งออก ไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง มะม่วง วัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรม เช่น ยางพารา เฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารา สำหรับภาคบริการไม่ต้องพูดถึง จำนวนนักท่องเที่ยวเป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากเมืองจีนเกินกว่าครึ่งหนึ่ง

นอกจากการส่งออกโดยตรงแล้ว การส่งออกทางอ้อมที่ไปเมืองจีนผ่านทางญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และประเทศอาเซียน รวมทั้งมีชิ้นส่วนและวัตถุดิบในสินค้าที่ผลิตในจีน แล้วส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ยุโรป ละตินอเมริกา รวมทั้งสินค้าจีนที่ส่งกลับมาไทย และประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนด้วย จีนจึงนับว่าเป็น “โรงงานของโลก” อย่างแท้จริง และจีนก็สามารถเอาชนะประเทศต่าง ๆ ในทุกภูมิภาค ยกเว้นแต่เรื่องอวกาศเท่านั้นที่ยังตามสหรัฐอเมริกาไม่ทัน แต่ก็ไม่แน่ อีก 20 ปีข้างหน้า จีนก็อาจจะเอาชนะอเมริกาในเรื่องอวกาศ งานวิจัยเพื่อความรู้ในสาขาต่าง ๆ ก็น่าจะตามทันอเมริกาก็ได้

การที่จีนเอาชนะประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ในการผลิตและการส่งออก ทำให้คนจีนร่ำรวยขึ้น จีนจึงกลายเป็นตลาดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญ เหมือน ๆ กับสมัยหนึ่งที่ญี่ปุ่นเป็นตลาดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย จนห้องพักโรงแรมในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต มีไม่พอต้อนรับนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่น โรงพยาบาลเอกชน วัดวาอาราม ต้อนรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่ทะลักเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

อุตสาหกรรมโรงแรมและกิจการที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้านอาหารไทย และผู้ผลิตอาหารหรือขนมต่าง ๆ ก็เจริญเติบโตตามมา จนประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดของโลก แล้วคนไทยก็นิยมบริโภคอาหารจีน เช่น บะหมี่ ก๋วยเตี๋ยว กุนเชียง ปลากระป๋อง เต้าเจี้ยว เต้าหู้และอื่น ๆ จากเดิมที่เป็นอาหารจีน แล้วกลายมาเป็นอาหารไทย ที่คนจีนก็จำไม่ได้แล้ว ก็เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวจีน และนึกว่าเป็นอาหารไทย เพราะมีรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ที่สำคัญ คือ รสเผ็ด ถูกนับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของอาหารไทยข้างถนน

ตอนค่ำ ๆ ถ้ามีเวลาไปเดินย่านรัชดาภิเษก ห้วยขวาง ถ้าไม่นับย่านสำเพ็ง เยาวราชแล้ว ย่านรัชดาฯ ห้วยขวาง ก็เป็นแหล่งนิยมของนักท่องเที่ยวจีน เพราะมีร้านอาหารจีนจากทุกภูมิภาคจีน นอกจากอาหารจีนกวางตุ้ง ไหหลำ แต้จิ๋ว แล้วยังมีอาหารจีนยูนนาน ปักกิ่ง เสฉวน และที่อื่น ๆ อีก กลายเป็นย่านจีนแห่งใหม่อีกที่หนึ่ง

นอกจากอาหารและแหล่งท่องเที่ยวแล้ว เยาวราชและห้วยขวางยังเป็นแหล่งร้านทองที่เป็นที่นิยมของคนจีน ที่จะซื้อทองรูปพรรณมีความบริสุทธิ์ 96.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่มีที่ไหนสวยงามเท่ากับรูปพรรณที่ทำโดยช่างทองของไทย ซึ่งกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนอีสาน ลูกจีนเองมีน้อยลงมาก ก็ยังดีที่ขณะนี้เป็นคนอีสาน ต่อไปสงสัยจะเป็นคนไทยใหญ่จากพม่าเป็นแน่ ถ้าเศรษฐกิจไทยยังก้าวหน้าต่อไปเรื่อย ๆ และประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางอัญมณีของโลก

พม่าและศรีลังกาส่งออกอัญมณีดิบ ส่วนไทยส่งออกอัญมณีสำเร็จรูป แม้รัฐบาลประเทศทั้ง 2 จะห้ามการส่งออกพลอยดิบก็ตาม ตลาดอัญมณีที่สำคัญนอกจากอเมริกา และยุโรป ก็คือ จีน

เมื่อเกิดสงครามทางการค้าระหว่างอเมริกากับจีน ข่าวที่ออกมาก็คือ นักลงทุนจีนสนใจจะมาลงทุน ย้ายโรงงานมาอยู่ที่พื้นที่เขตชายฝั่งภาคตะวันออก เสียดายเวลารัฐบาล 5-6 ปีผ่านไปหลังการปฏิวัติรัฐประหารไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะอุปสรรรคสำคัญของการพัฒนาพื้นที่เขตชายฝั่งภาคตะวันออก คือ น้ำ หลังจากยกเลิกโครงการจัดการและบริหารน้ำของรัฐบาลก่อน แหล่งน้ำที่พัฒนาไว้ตั้งแต่รัฐบาลป๋า บัดนี้ไม่เพียงพอเสียแล้ว โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำบางปะกงก็หยุดชะงัก พร้อม ๆ กับการพัฒนาจัดการบริหารน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เคยเสนอไว้ บัดนี้จะงัดออกมาปัดฝุ่นทำก็ยังไม่สาย จะได้มีผลงานบ้าง

ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งจีน ยังไม่กล้าลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากปัญหาเรื่องน้ำแล้ว ยังเกรงว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากประเทศไทยจะถูกกีดกันจากประเทศผู้นำเข้า เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากประเทศเผด็จการทหาร ที่มีปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย แม้ว่าประเทศจีนก็ยังมีปัญหาเรื่องนี้อยู่ จึงต้องหาประเทศที่ไม่มีปัญหาเพื่อที่จะลงทุน

ถ้าประเทศไทยกลับไปเป็นประเทศประชาธิปไตย มีเสถียรภาพทางการเมืองในระยะยาว ในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศก็น่าจะดีกว่านี้ เพราะใคร ๆ ก็ไม่เชื่อว่ารัฐบาลเผด็จการทหารและรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจเผด็จการจะมีเสถียรภาพอยู่ไปได้ตลอดกาล วิกฤตการณ์ทางการเมือง การต่อต้านและล้มล้างรัฐบาลเผด็จการทหารจะต้องเกิดขึ้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

สงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีนยังไม่สงบ จีนก็ประสบกับภัยพิบัติจากการระบาดของโรคโคโรน่าไวรัสใหม่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกตั้งชื่อให้ว่า “โควิด-19” เริ่มระบาดที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ซึ่งเป็นชุมทางคมนาคม อันได้แก่ ทางรถไฟ ทางหลวง ทางอากาศ และทางน้ำที่แม่น้ำอู่ฮั่นกับแม่น้ำแยงซีมาบรรจบกัน อู่ฮั่นจึงเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญของจีน

การระบาดของโรคโควิด-19 นั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว ขณะนี้มีคนเสียชีวิตจากโรคนี้แล้วถึงกว่า 3,000 คน มีคนป่วยเกือบ 10,000 คน มีคนที่มีอาการในกลุ่มเสี่ยงเกือบ 100,000 ราย โรคได้กระจายไปทุกภูมิภาคในโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วยที่มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ 40 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย นับว่าเป็นความสามารถและโชคที่ดีของเรา

การเกิดโรคระบาดในเมืองอู่ฮั่นทำให้ทางการจีนต้องตัดสินใจปิดเมือง การที่จีนปิดเมือง ปิดโรงงาน ปิดสถานที่ราชการ ปิดโรงเรียน ให้ทุกคนอยู่กับบ้าน แม้กระนั้นโรคร้ายดังกล่าวก็ยังแพร่ระบาด ยังไม่หยุด แม้ว่าอัตราการติดต่อของโรคจะชะลอตัวลงก็ตาม

โรคระบาดที่เมืองจีนคราวนี้ นอกจากจะทำให้สินค้าไทยที่ใช้ตลาดเมืองจีนเป็นหลักแล้ว จีนยังเป็นแหล่งที่ประเทศไทยซื้อเครื่องจักร วัตถุดิบ และชิ้นส่วนของสินค้าสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปที่สำคัญ ดังนั้น เมื่อจีนไม่สามารถส่งวัตถุดิบ ชิ้นส่วน ก็ทำให้การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทยต้องหยุดชะงักไปด้วย ส่วนจะร้ายแรงแค่ไหนก็คงจะได้เห็นภายในเวลาอันไม่ช้านี้

ภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ซบเซาอยู่แล้ว เนื่องจากการชะลอตัวของการส่งออก ทั้งที่ส่งไปจีนและส่งออกไปอเมริกา ยุโรป และที่อื่น ๆ ก็จะยิ่งซบเซามากยิ่งขึ้น ด้วยการเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อนระหว่างเศรษฐกิจไทยและของจีน

ในอนาคตข้างหน้า ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งในด้านความเป็นตลาดสำคัญของสินค้าส่งออกไทย เป็นตลาดการท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุด แล้วยังเป็นแหล่งที่ผลิตสินค้าสำเร็จรูป วัตถุดิบชิ้นส่วน เป็นห่วงโซ่สำคัญของสายการผลิตสินค้าที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของไทย

สิ่งหนึ่งที่จีนพยายามอย่างมาก คือ การทำให้เงินหยวนของจีนเป็นที่ยอมรับ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ รวมทั้งเป็นเงินตราที่ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเอเชียใต้ สามารถใช้เป็นแหล่งเงินเพื่อการลงทุนและสนับสนุนเพื่อการอื่น ๆ ได้มากขึ้น

จีนได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนระหว่างประเทศแห่งเอเชีย เพื่อจีนจะได้ให้สินเชื่อระยะยาวเพื่อการลงทุนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตและทางการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ความพยายามที่จะให้เงินหยวนเป็นเงินตราระหว่างประเทศยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ใส่เงินหยวนของจีนเป็นเงินตราที่กองทุนการเงินไว้ใช้ถ่วงน้ำหนักในการคำนวณค่าเงินสิทธิพิเศษถอนเงิน หรือ SDR ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศเป็นผู้ออกและแจกจ่ายให้กับประเทศด้อยพัฒนายากจนที่ขาดแคลนเงินตราระหว่างประเทศ

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนคงจะเพิ่มขึ้นไปอีก ถ้าหากเศรษฐกิจของจีนยังขยายตัวในอัตราที่สูง แม้ว่ารายได้ประชาชาติต่อหัวของคนจีนยังต่ำกว่ารายได้ประชาชาติต่อหัวของสหรัฐอเมริกา แต่รายได้ประชาชาติโดยรวมของจีนคงจะไล่ทันรายได้ประชาชาติของสหรัฐอเมริกา และคงจะแซงสหรัฐอเมริกาในไม่ช้านี้ การที่เศรษฐกิจของจีนจะใหญ่กว่าเศรษฐกิจอเมริกาย่อมสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีในหมู่ชนชั้นปกครองของอเมริกา เพราะการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในวันนี้ ย่อมจะเป็นหนทางไปสู่การเป็นมหาอำนาจทางทหาร เทคโนโลยี และมหาอำนาจทางการเมืองในที่สุด

ความไม่สบายใจของรัฐบาลและประชาชนอเมริกัน ที่เห็นความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ของจีน ย่อมจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เพราะอเมริกานั้นไม่อยากให้ใครมาเป็นคู่แข่งของความเป็นมหาอำนาจของตน

สำหรับประเทศไทยที่เคยมีความสัมพันธ์ทั้งในทางเศรษฐกิจ การทูต และการทหาร อย่างแนบแน่นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะระหว่างสงครามเย็นตั้งแต่สงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม และไม่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน จนกระทั่งสหประชาชาติประกาศยอมรับว่า รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ปักกิ่งเป็นตัวแทนของประเทศจีน และมีที่นั่งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แทนรัฐบาลสาธารณรัฐจีน หรือรัฐบาลไต้หวัน ที่ไทเป

ประเทศไทยในฐานะสมาชิกสหประชาชาติก็ยอมรับนโยบายจีนเดียวของทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐจีน แต่สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผู้แทนของประชาชนจีนทั้งจีนผืนแผ่นดินใหญ่และที่ไต้หวัน แต่อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศไทยกับไต้หวันก็ยังดำเนินต่อไป โดยรัฐบาลไต้หวันสามารถมีสำนักงานการค้าในประเทศไทยได้

สำหรับคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทยที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ การเงินการธนาคาร การค้า การอุตสาหกรรมและบริการนั้น บัดนี้ไม่ได้มีความรู้สึกว่าตนเป็นจีนแล้ว คือ รู้สึกว่าตนเป็นคนไทยโดยครบถ้วน และถูกกลืนเข้าสู่สังคมไทยไปอย่างสมบูรณ์ แม้แต่ชื่อแซ่ก็เลิกใช้ หันมาใช้ชื่อ นามสกุล เป็นภาษาบาลีสันสกฤตแบบคนไทย แยกกันไม่ออก จนได้รับการต่อว่าจากคนจีนในมาเลเซียและสิงคโปร์

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ทางเศรษฐกิจและทางการเมือง จึงเป็นความสัมพันธ์ที่พิเศษ ไม่เหมือนประเทศใด