ปัญหาราคาไข่แพง

ส่งออกไก่ไทย

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

สมัยหนึ่งเคยใช้ราคาไข่และราคาเนื้อหมูเป็นเครื่องวัดประสิทธิภาพของนายกรัฐมนตรี วัดว่าไข่ของนายกรัฐมนตรีคนไหนแพงกว่าไข่ของนายกรัฐมนตรีคนไหน เพราะไข่และเนื้อหมูเป็นอาหารหลักของคนในเมือง เดี๋ยวนี้สลับกัน ถ้าไข่ไก่และหมูมีราคาถูกลงจนต้องเอาไปทิ้งทะเลหรือไปทำหมูหันขายริมถนน แปลว่ารัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ

ในสมัยที่ยังไม่มีการผลิตอาหารสัตว์เป็นอุตสาหกรรมอย่างทุกวันนี้ ราคาอาหารที่เป็นโปรตีน ถ้าเรียงตามราคาก็จะมีดังนี้ ปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลาทะเล แล้วก็เนื้อควาย เนื้อวัว แล้วก็มาเนื้อหมู แล้วก็มาเนื้อเป็ด แล้วก็เนื้อไก่ แล้วก็มาถึงไข่เป็ด แล้วก็มาไข่ไก่แพงที่สุด หมูเห็ดเป็ดไก่เป็นสุดยอดของอาหารไทย อาหารทะเลและปลาน้ำจืดเป็นอาหารราคาถูก

กลับกันกับเดี๋ยวนี้ เมื่อมีการพัฒนาอาหารสัตว์ให้เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ราคาถูก มีการใช้สูตรอาหารที่มีส่วนประกอบจากกากถั่วเหลือง ข้าวโพด มันสำปะหลัง ผสมตามสูตร ให้มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดแต่มีปริมาณโปรตีนไม่ต่ำกว่าที่กำหนด ราคาอาหารสัตว์จึงมีราคาถูก

ประกอบกับการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ให้โตเร็วที่สุด เพื่อให้เกษตรกรเห็นผลเร็วที่สุดเมื่อนำไปเลี้ยง พอไก่มีอัตราการเจริญเติบโตต่อน้ำหนักอาหารลดลง ก็ได้เวลาเข้าโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งมีเวลาอยู่ประมาณ 40-45 วัน

เนื้อไก่จึงเป็นอาหารที่มีราคาถูกที่สุด ถูกกว่าราคาเป็ด ไข่ไก่จึงมีราคาถูกกว่าไข่เป็ดในปัจจุบัน เคยมีการพัฒนาไข่นกกระทาให้มีราคาถูกกว่าไข่ไก่ เมื่อเทียบน้ำหนักเดียวกัน แต่ไม่เป็นที่นิยม เพราะเมื่อแม่พันธุ์ไก่ไข่นกกระทาถูกปลดระวางความต้องการมีน้อยกว่าไก่ไข่

การผลิตไข่ไก่เชิงพาณิชย์นั้นมี 2 ระบบ คือ ระบบที่เป็นอุตสาหกรรมและระบบชาวบ้านรายเล็กที่เลี้ยงโดยระบบเปิด แต่เมื่อเกิดโรคหวัดนกระบาดซึ่งมากับนกธรรมชาติ ระบบเปิดควบคุมป้องกันโรคไม่ได้ จึงเหลือระบบปิด เพียงระบบเดียวที่สามารถทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ ประเทศไทยสามารถผลิตไข่ไก่ได้เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ 90 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตใช้บริโภคภายในประเทศ มีเหลือส่งออกเพียงไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของการผลิต

เคยมีภาวะไข่ไก่ล้นตลาดซึ่งเกิดจากความผันผวนของตลาดส่งออก กลไกราคาของตลาดภายในประเทศจึงเป็นตัวกำหนดทั้งราคาและปริมาณการผลิต ถ้ารัฐบาลไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวข้องก็ไม่ขาดตลาด

ไข่ไก่มี 3 ประเภท คือ ไข่ไก่ที่ใช้เป็นแม่พันธุ์ เกษตรกรจะซื้อไปฟักเป็นลูกไก่ เลี้ยงเป็นไก่เนื้อเพื่อส่งตลาดเนื้อไก่ ราคาสูงกว่าประเภทที่ฟักเป็นตัวไม่ได้

ประเภทที่ 2 เป็นประเภทไข่ที่ไม่ได้ผสมเชื้อตัวผู้ ฟักเป็นตัวไม่ได้ ใช้บริโภคอย่างเดียว ราคาถูกกว่าประเภทแรกและมีปริมาณการผลิตมากที่สุด

ประเภทที่ 3 คือ ไข่ไก่ที่ส่งร้านซูเปอร์มาร์เก็ตที่คนญี่ปุ่นซื้อไปบริโภคเป็นไข่ดิบ เคยมีขายที่อิเซตันและซูเปอร์มาร์เก็ตอื่น ๆ ในส่วนที่เป็นอาหารญี่ปุ่น ไข่ประเภทนี้จะต้องมีความสะอาดสูงสุด ฟาร์มจะต้องได้รับอนุญาตให้ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตของญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นนิยมตอกไข่ไก่วางบนข้าวสุกใหม่ ๆ ร้อน ๆ รับประทานกับปลาดิบ กับซุปเต้าเจี้ยว โรยด้วยโซยุหรือซีอิ๊วญี่ปุ่น ไข่ไก่ประเภทนี้มีราคาแพงที่สุด แต่ก็มีขายเพราะเราห้ามนำเข้า

วิกฤตการณ์ไข่ไก่หายไปจากตลาดครั้งนี้ ก็เกิดขึ้นเพราะความโง่เขลาของเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ที่ไปกำหนดราคาควบคุม ปัญหาของการควบคุมราคาก็คือมักจะกำหนดจาก “ราคาต้นทุน” ซึ่งไม่มีทางหาได้ ไม่มีทางรู้ได้ เพราะต้นทุนของผู้ผลิตแต่ละรายย่อมไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องขนาดของฟาร์ม สูตรของอาหารที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นความลับของแต่ละบริษัท และผันแปรไปตามราคาของวัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารสัตว์ รวมทั้งมาตรการราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองที่ผลิตภายในประเทศ ที่รัฐบาลไม่เปิดให้นำเข้าเสรี เพราะกลัวว่าราคาถั่วเหลืองและข้าวโพดในประเทศจะราคาตกลง

ความจริงถ้าให้นำเข้าถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารสัตว์โดยเสรี แล้วเอาเงินไปจ่ายกับเกษตรกรเพื่อให้เลิกปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง จะทำให้เราแข่งขันในการส่งออกเนื้อไก่ สุกร รวมทั้งกุ้ง ปลา ได้ดีกว่านี้มาก แต่ไม่มีใครเข้าใจ คงให้ปลูกต่อไปและก็ไม่มีรายได้สูงกว่านี้ได้

ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯก็คงจะไม่ยอมเหมือน ๆ กับกรณีพืชตัดต่อพันธุกรรม คุณพ่อเอ็นจีโอก็ไม่ยอมให้ผลิต นโยบายของรัฐที่ไม่แน่นอนเกี่ยวกับการส่งออกไข่ไก่และการนำเข้ากากถั่วเหลือง ข้าวโพดและอื่น ๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่มีทางรู้ว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไร จึงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ

ทั้ง ๆ ที่ทุกวันนี้ผลไม้และพืชหลายอย่างก็เป็นพืชที่ตัดต่อพันธุกรรม ประโยชน์ที่ได้มีหลายอย่าง เช่น ต่อต้านโรคและเพื่อคุณภาพผลผลิตอื่น ๆ ด้วย พืชทุกวันนี้ที่ให้แมลงเป็นตัวผสมพันธุ์ก็เพื่อให้พันธุกรรมเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อยู่แล้ว โดยคุณพ่อเอ็นจีโอห้ามแมลงไม่ได้ พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ทุกวันนี้ พันธุกรรมก็เปลี่ยนไปโดยฝีมือมนุษย์ สัตว์และแมลงอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว หยุดยั้งไม่ได้

หมูเห็ดเป็ดไก่ทุกวันนี้ก็ไม่เหมือนหมูเห็ดเป็ดไก่ที่เรารับประทานเมื่อ50 ปีก่อน มะม่วง ทุเรียน เงาะ มังคุดสับปะรด มันสำปะหลัง อ้อย น้ำตาล เดี๋ยวนี้ก็ไม่เหมือนของเมื่อ 50 ปีก่อน แต่พวกเราก็อายุยืนกันมาเรื่อย ๆ ไม่เหมือนเมื่อ 50 ปีก่อน เหมือนกัน

เมื่อเกิดโรคระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 คนตกใจแตกตื่น ไม่กล้าออกจากบ้าน คุณหมอท่านประกาศว่า “อยู่บ้านเป็นการช่วยชาติ” เมื่อต้องสนองนโยบายของคุณหมอทั้งหลายโดยการอยู่บ้านเพราะท่านรู้ดีกว่าเรา การรับประทานอาหารอยู่ที่บ้านก็เป็นของคู่กัน และอาหารที่แม่บ้านสมัยนี้ทำได้ก็มีอยู่ไม่กี่อย่าง อย่างหนึ่งก็ไข่เจียว ไข่ดาว ยังไม่ทราบจะทำเป็นหรือเปล่า อย่าว่าแต่ “ไข่คน” หรือ “ไข่ตุ๋น” เลย ความต้องการไข่ไก่ก็เพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา ซึ่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นก็จะถูกชดเชยโดยการลดการส่งออก

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ราคาในประเทศจะเท่ากับราคาในตลาดต่างประเทศลบด้วยค่าขนส่ง เนื่องจากเราเป็นประเทศที่ส่งไข่ไก่ออกสุทธิ เราก็จะเป็นผู้บริโภคไข่ไก่ในราคาต่ำกว่าผู้บริโภคที่ประเทศนำเข้าไข่ไก่อยู่แล้ว
ยิ่งในยามวิกฤตจากโรคระบาด ขนส่งไม่ได้ ไข่ไก่ก็จะมีราคาถูกเพราะจะมีไข่ไก่ล้นตลาด การกักตุนไข่ไก่เป็นเรื่องที่ไม่น่ากลัวเพราะเก็บไว้นานไม่ได้ ส่งออกก็ถูกห้าม ระวังจะเกิดวิกฤตการณ์ไข่ไก่ล้นตลาด ราคาตกต่ำ ถ้าไม่ระวังก็อาจจะเกิดเหตุการณ์เอาไข่ไก่และลูกไก่ไปทิ้งทะเลแบบที่เคยอีกก็ได้

ที่สำคัญก็คือ คนในเมืองที่มีปากเสียงดังที่สุดในสังคมไทย ที่ไม่เข้าใจกลไกตลาด เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงตลาดทำลายกลไกตลาด เหมือน ๆ กับตลาดในระบบคอมมิวนิสต์ ราคาอาจจะถูกจริง แต่ไม่มีของวางขายในตลาด แต่มีขายในตลาดมืดในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เพราะผู้ขายต้องบวกค่าเสี่ยงที่จะถูกจับเข้าไปอีก สำหรับรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบก็ต้องทำตัวเป็นข่าวว่าจะเล่นงานคนนั้นคนนี้ ผู้ผลิตบ้าง พ่อค้าคนกลางบ้าง ผู้ขายปลีกบ้าง ในที่สุดก็เป็นเหยื่อให้กับตำรวจใช้กฎหมายที่ไม่มีเหตุผลและบังคับใช้ไม่ได้เป็นเครื่องมือหากิน กระทรวงพาณิชย์ของเรานั้นควรจะเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงทำลายพาณิชย์เสียดีกว่า

ถ้าอยากจะหาเสียง สิ่งที่รัฐบาลทำได้ก็คือ ใช้ภาษีอากรที่เก็บจากพวกเราไปซื้อหน้ากากอนามัยและไข่ไก่ในราคาตลาด และเอาไปแจกหรือขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ถ้าอยากเห็นคนมารวมตัวกันเยอะ ๆ เข้าคิวซื้อเป็นแถวยาวเหยียด แล้วก็ถูกด่าเพราะของมีไม่พอ แต่ก็จะได้หน้า เหมือนกับการช่วยเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน หรือสมัยที่พรรคเพื่อไทยต้องการช่วยชาวนาโดยการรับจำนำข้าว มันสำปะหลังและยางพารา

ปัญหาราคาไข่ไก่มีทั้งปัญหาไข่ถูกและปัญหาไข่แพง ทั้ง 2 ปัญหาเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐบาลเดือดร้อนอยู่เสมอ เพราะการปล่อยเสรีให้เป็นไปตามกลไกตลาด ย่อมมีทั้งภาวะไข่ราคาถูกเมื่อไข่ล้นตลาด และไข่มีราคาแพงเมื่อไข่ขาดตลาด ซึ่งเกิดจากภาวะความต้องการซื้อหรือดีมานด์ กับความต้องการขายหรือซัพพลาย ปกติปริมาณการผลิตแม้จะปรับตัวสูงขึ้นหรือต่ำลงก็ต้องใช้เวลา

กรณีไก่ไข่ต้องใช้เวลา 2-3 เดือน แต่ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นล่วงหน้าไปก่อน ราคาจึงขึ้นไปก่อน เมื่อปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ตามราคาที่เพิ่มขึ้นราคาก็จะลดลง

อายุของไข่ไก่ที่จะเก็บได้จึงเป็นตัวกำหนดเวลาที่ปริมาณการกักตุนที่จะมีปริมาณสูงสุด ผู้กักตุนจึงมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย เพราะเวลาราคาลงก็จะลงอย่างฮวบฮาบสำหรับสินค้าที่เก็บไว้นานไม่ได้ การที่จะสร้างดีมานด์ที่เก็บไว้ได้นาน เช่น การลงทุนสร้างโรงงานไข่ผง เอาไข่สดไปทำไข่ผงยามที่ไข่ราคาตก ที่เคยมีผู้เสนอแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ

การปล่อยให้ตลาดไข่ไก่เป็นตลาดเสรี เป็นนโยบายที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย ฝ่ายผู้ผลิตรับภาระในยามราคาไข่ตกต่ำ ผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระในยามราคาไข่แพง ในยามไข่ล้นตลาดและในยามไข่ขาดตลาด โดยพ่อค้าคนกลาง ผู้ทำหน้าที่กักตุนเมื่อยามไข่ล้นตลาดและมีราคาถูก เพื่อเก็งกำไรโดยกักตุนแล้วเอามาขายในราคาแพงเมื่อของขาดตลาด เป็นตัวทำให้ตลาดไม่สะวิงไปมารุนแรงเกินไป

ภาษาเศรษฐศาสตร์เขาเรียกว่าเป็นตัวทำให้เกิดเสถียรภาพอย่างอัตโนมัติ “automatic stabilizer” แต่รัฐบาลจะเป็นตัวทำลายเสถียรภาพอัตโนมัติ หรือ automatic destabilizer อย่างไม่รู้ตัว ด้วยความหวังดีหรือด้วยเหตุผลทางการเมือง

มีคำอีกคำหนึ่งที่นิยมพูดกันคือ “ราคายุติธรรม” หรือการค้า “กำไรเกินควร” เป็นคำที่มีปัญหามาก แต่ก็เป็นคำที่รัฐบาลมักจะนำมาใช้ราคายุติธรรมคืออะไร คำตอบก็คือราคาที่สูงกว่าต้นทุนพอสมควร ซึ่งก็ทราบแล้วว่าสินค้าหลายอย่างไม่ทราบว่าต้นทุนเป็นเท่าไร เพราะต้นทุนสินค้าเกษตรก็ดี สินค้าอุตสาหกรรมก็ดี ไม่แน่นอน สุดแท้แต่การตัดสินใจที่ถูกต้องของผู้บริหารในการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ แล้วแต่จะคิดระยะสั้นหรือระยะยาว

ดังนั้น ราคายุติธรรมก็ควรจะเท่ากับราคาตลาดที่ปราศจากการแทรกแซงจากรัฐบาล เป็นราคาที่ยุติธรรมที่สุด

สำหรับผู้ผลิตและผู้บริโภค อุตสาหกรรมบางอย่างจะมีรายเดียวหรือน้อยราย แต่ไม่มีการห้ามนำเข้าหรือส่งออก ราคาตลาดก็ยังเป็นราคายุติธรรมอยู่นั่นเอง ขณะเดียวกันก็ไม่เป็นการค้าที่กำไรเกินควร เพราะเมื่อใดที่มีการค้ากำไรเกินควรก็จะมีผู้ผลิตรายใหม่หรือผู้นำเข้ามาผลิตหรือสั่งเข้ามามากขึ้น ราคาก็จะมาอยู่ในจุดที่เป็นจุดดุลยภาพระหว่างดีมานด์กับซัพพลาย หรือความต้องการซื้อกับความต้องการขายในระยะยาว ไม่มีกำไรเกินควรถ้าไม่มีการผูกขาด และการผูกขาดมักจะเกิดจากมาตรการของรัฐ

คราวนี้ก็เหมือนกัน การที่พาณิชย์จังหวัดไปจับฟาร์มเลี้ยงไก่นั้น จะทำให้ไข่ไก่ขาดตลาดและมีราคาแพง เจ้าหน้าที่เป็นตัวปัญหาไม่ใช่วีรบุรุษ

ทางที่ดีรัฐบาลอยู่เฉย ๆ ตลาดจะปรับตัวของมันเอง