จีนกำลังจะเข้ามา

คอลัมน์ คนเดินตรอก
โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ในความโชคร้ายทางด้านการเมืองของประเทศไทย โดยยุโรปและสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรไม่ยอมให้ผู้นำของเราเดินทางไปเจรจาการค้าด้วย แต่ก็โชคดีเมื่อมีข่าวว่าจีนกำลังทำตัวเหมือนญี่ปุ่น จะเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่งสินค้าไปตลาดโลก ในรูปแบบบรรษัทจีนหรือใช้ทุกอย่างของจีน หรือ China Inc. เหมือน ๆ กับที่คนไทยเคยขนานนามญี่ปุ่นว่าเป็นธุรกิจแบบ Japan Inc. โดยการสนับสนุนของรัฐบาลไทย จนถูกสื่อมวลชนไทยและนักวิชาการไทยวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ญี่ปุ่นเข้ามาญี่ปุ่นก็ใช้ทุกอย่างจากญี่ปุ่น วัตถุดิบ ชิ้นส่วน เทคโนโลยี เครือข่ายการตลาด วิศวกร นักบัญชี คนไทยได้แต่ค่าแรงงาน

แต่ต่อมาญี่ปุ่นก็เลือกโยกย้ายโรงงานจากญี่ปุ่นเข้ามาเมืองไทย จนกล่าวได้ว่าไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมการส่งออกภายใต้ชื่อตราสินค้าญี่ปุ่นแต่ผลิตในประเทศไทย เป็นสินค้าคุณภาพดี ส่งออกไปมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม รวมทั้งเกาหลีใต้และไต้หวันด้วย

เมื่อมีข่าวจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่งระบุว่า “บรรษัทจีน” จะมาปักธงในเมืองไทย ซึ่งหมายความว่ารัฐบาลจีนซึ่งเป็นผู้จัดการบริหารบรรษัท เลือกที่จะเข้ามาลงทุนในเมืองไทย ซึ่งคงจะมาในรูปแบบร่วมทุนกับคนไทยเพื่อให้ได้บัตรส่งเสริมการลงทุน หรือใจร้อนไม่ทันใจที่จะรอบัตรส่งเสริมจะเข้ามาเลย ก็เริ่มจากเข้ามาซื้อหุ้นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการค้าขายกับประเทศจีน ทัวร์ศูนย์เหรียญก็เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการเป็นบรรษัทจีน หรือ China Inc. เหมือนกับสมัยก่อนที่เป็นทัวร์ญี่ปุ่น ไม่แตกต่างกันเลย

ในสมัย 40-50 ปีก่อน เราเคยมีทัศนคติต่อต้านการลงทุนของญี่ปุ่น โดยกล่าวหาว่าญี่ปุ่นทั้งประเทศประพฤติตัวเสมือนเป็นบรรษัทเดียวกันคือ บรรษัทญี่ปุ่นหรือ Japan Inc. ใช้วัตถุดิบชิ้นส่วน วิศวกร ผู้บริหาร พักโรงแรมญี่ปุ่นหรือที่ญี่ปุ่นมีหุ้น รวมทั้งขึ้นเครื่องบินก็ใช้สายการบินญี่ปุ่น เข้าทำงานในอาคารญี่ปุ่น พักอาคารชุดญี่ปุ่นที่ใช้คนไทยเป็นตัวแทนบังหน้า ความรู้สึกนี้หายไปจนหมดสิ้น เพราะญี่ปุ่นทำคุณประโยชน์ให้ประเทศไทยอย่างมหาศาล อุตสาหกรรมไทย เช่น รถยนต์ เครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หัวรถจักร รวมทั้งระบบโทรคมนาคมของไทยภายใต้ชื่อญี่ปุ่นเป็นที่นิยมอย่างมาก รวมทั้งผู้คนในประเทศญี่ปุ่นเองด้วย

ถ้าจีนเลือกเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็แสดงว่าจีนเริ่มคิดแล้วว่าต่อไปค่าแรงในประเทศจีนต้องสูงกว่าประเทศไทยหลายเท่า จีนจะไม่สามารถก้าวออกไปแข่งกับอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น หากไม่ย้ายอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ล้าสมัยแล้วออกไปยังประเทศอื่นเพื่อเป็นฐานให้จีนได้ก้าวหน้าต่อไป มองไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ประชาชนไม่มีความรู้สึกต่อต้านจีน แต่กลับเป็นมิตรกับจีนอย่างเหนียวแน่น ต่างกับมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่ลึก ๆ แล้วมีความรู้สึกต่อต้านจีน อาจจะเป็นเพราะศาสนา เพราะความร่ำรวยของคนจีน ไม่มีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์กันมากนักซึ่งต่างกับประเทศไทย จะหาคนไทยในเมืองยากมากที่จะไม่มีเลือดจีนผสมอยู่เลย

ถ้าจีนเข้ามาจริง ๆ ในระยะแรกที่เข้ามาก็จะประพฤติตัวแบบญี่ปุ่นตอนแรก ๆ กล่าวคือ ทำตัวเป็นบรรษัทจีน ใช้แต่ของจีน กิริยามารยาทแบบจีน ญี่ปุ่นเข้ามาแรก ๆ ก็ดูดเส้นบะหมี่ดังสนั่นเหมือนกัน ก็อย่าไปต่อต้านต่อว่าเลย ขอให้เข้ามาเถิด ไม่ช้าเกินรอ 20-30 ปีบริษัทเหล่านี้ก็จะเป็นบริษัทไทยชื่อจีน บรรดาผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จีนก็จะกลายเป็นคนไทย ขออย่างเดียว อนุญาตให้เขาตั้งโรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยม ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการจีนได้ จบจากโรงเรียนจีนที่ประเทศไทย สามารถไปสอบเข้าวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่เมืองจีนได้แบบญี่ปุ่น อย่างนี้จีนจะได้มาทั้งครอบครัว ไม่ต้องพะว้าพะวงว่าจะต้องเข้ามาทำงานในบริษัทจีนที่ไทยคนเดียว การอนุญาตให้เข้าถึงโรงเรียนประถม มัธยม ใช้หลักสูตรกระทรวงศึกษาฯของจีน รับแต่ลูกคนจีน ก็ควรทำแบบเดียวกับญี่ปุ่น

ต่อไปตลาดจีนประเทศเดียว ถ้ารายได้ต่อหัวยังขยายตัวในอัตรานี้ ทั้ง ๆ ที่มีประชากรถึง 1,350-1,450 คนตามทะเบียนราษฎร ที่อยู่นอกทะเบียนราษฎรอีกเท่าไหร่ เพราะหลบหนีนโยบายมีลูกคนเดียวของท่าน เติ้ง เสี่ยว ผิง ถ้าจีนเลือกประเทศไทยเป็นที่ผลิตสินค้าจีนส่งกลับไปจีน ส่งออกไปอเมริกาและยุโรป บริษัทของจีนก็จะได้เป็นบริษัทที่ถ่วงดุลกับบริษัทญี่ปุ่น ต่อไปเราจะเห็นรถยนต์ยี่ห้ออื่นผลิตในไทยวิ่งแข่งกับรถยนต์ญี่ปุ่นผลิตในไทย แต่ราคารถยนต์จีนถูกกว่ารถยนต์ญี่ปุ่น คุณภาพอาจจะด้อยกว่า แต่เป็นการสร้างทางเลือกให้คนไทยมากขึ้น รวมทั้งทำให้ประเทศไทยมีสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกมากขึ้น China Inc. ในช่วงระยะเริ่มต้นไทยอาจจะได้ประโยชน์น้อย แต่ระยะยาวน่าจะได้ประโยชน์เช่นเดียวกับที่เราเคยต่อว่าญี่ปุ่นว่าเป็น Japan Inc.

การที่บริษัทอาลีบาบาของ แจ็ก หม่า หรือบริษัทอเมซอนที่เริ่มต้นจากการขายหนังสือออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต ไม่ผ่านห้างสรรพสินค้าหรือคนกลาง ทำให้ต้นทุนถูกลง โดยเลือกสินค้าที่คุณภาพดี ราคายุติธรรม เป็นการเปิดเวทีการค้าใหม่ ทำให้การแข่งขันทำได้อย่างกว้างขวาง เศรษฐกิจทุนนิยมนั้น “การแข่งขัน” มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้การจัดสรรทรัพยากร เช่น ทุน แรงงานและเทคโนโลยี เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จะทำให้ต้นทุนการผลิตอยู่ที่จุดต่ำสุด เช่น ค่าจ้างแรงงาน อัตราดอกเบี้ย ในขณะเดียวกันผลตอบแทนต่อปัจจัยการผลิต เช่น เงินปันผล และผู้ประกอบการก็สามารถจ่ายค่าลิขสิทธิ์และนิมิตสิทธิ์ ซึ่งได้รับการคุ้มครองอยู่ระยะหนึ่ง เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและนักประดิษฐ์มีแรงจูงใจที่จะผลิตผลงานที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จให้ได้ดำเนินการต่อไป

ประเทศที่ยอมแพ้ต่อการแข่งขันอย่างสหรัฐอเมริกา โดยการประกาศนโยบาย “ถอยหลังเข้าคลอง” หันหลังให้ “ตลาดเสรี” ซึ่งสหรัฐเคยเป็นคนผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ เปิดตลาดของตนโดยเฉพาะญี่ปุ่นกับจีน ประเทศไทยก็เคยถูกสหรัฐอเมริกาบังคับให้เราเปิดตลาดผลไม้ หวังจะขายองุ่น ส้ม พีช แอปเปิล แอปปิคอต ให้กับไทย แต่กลายเป็นว่าจีนและออสเตรเลียได้ประโยชน์ เพราะระยะทางใกล้กว่าและมีราคาถูกกว่า ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ ตู้เย็น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องคอมพิวเตอร์ ก็สู้เกาหลี ไต้หวัน และจีนไม่ได้

เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่ มีจำนวนแรงงานมากแต่ไม่เหลือเฟืออีกแล้ว เพราะค่าแรงงานที่แท้จริงของจีนถีบตัวสูงขึ้น จีนจึงต้องพัฒนาอุตสาหกรรมสำหรับตลาดบน และโยกย้ายอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานออกนอกประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย เวียดนาม พม่า บังกลาเทศ และประเทศในแอฟริกา ประเทศที่มีทักษะแรงงานพอจะฝึกฝนได้ง่าย

ปัญหาก๊าซเรือนกระจก อันเป็นปัญหาโลกร้อนที่นักวิทยาศาสตร์ยุโรปและอเมริกาเรียกร้อง ต้องการให้มีมาตรการลดการใช้พลังงานปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ที่เรียกว่าพลังฟอสซิลที่ผลิตก๊าซคาร์บอน อันเป็นก๊าซที่ทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจก ทำให้โลกร้อนขึ้น จีนยินดียอมรับมติของชาวโลก ไปดำเนินการหามาตรการลดก๊าซเรือนกระจกโดยการปรับปรุงอุตสาหกรรมของตน แต่อเมริกากล่าวหน้าตาเฉยอย่างไม่รับผิดชอบว่าจะไม่ทำ จนนักอุตสาหกรรมชั้นนำของอเมริกาละอายใจประกาศว่าจะทำกันเอง แม้รัฐบาลของตนจะไม่สนใจทำก็ตาม เป็นการตบหน้าประธานาธิบดีทรัมป์อย่างแรง แต่เจ้าตัวก็คงไม่รู้สึก

ถ้าความรู้สึกรับผิดชอบต่อชาวโลกของอเมริกาลดลงไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันจีนประกาศรับผิดชอบ แม้ว่าตนจะเป็นผู้ปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากเป็นที่ 2 ของโลกรองจากอเมริกา จีนก็จะได้ใจจากคนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยด้วย กลายเป็นว่าจีนคือผู้นำในเรื่องโลกาภิวัตน์ อเมริกาโดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเป็นตัวปัญหา เป็นตัวขวางโลกาภิวัตน์

ทุกวันนี้เราจึงเห็นคนไทยนิยมจีนมากขึ้น แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศแรกที่ประกาศรับรองรัฐบาลเผด็จการทหารของไทยอย่างไม่เคอะเขิน ความรู้สึกไม่ดีของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำปฏิวัติรัฐประหารของกองทัพต่อจีนจึงไม่ค่อยมี เมื่อรัฐบาลทหารเอาใจประเทศจีน จะสัมปทานรถไฟความเร็วสูงให้กับจีน โดยไม่ต้องมีการประมูล ก็ไม่มีเสียงคัดค้าน ทั้ง ๆ ที่การไม่มีประมูลจะทำให้เราไม่รู้มูลค่าที่แท้จริงของโครงการ โอกาสที่จะถูกเอาเปรียบย่อมจะมีสูง เพราะไม่ใช่โครงการช่วยเหลือแต่เป็นธุรกิจ ซึ่งต่างกับกรณีของลาวที่จีนต้องจ่ายไปก่อนแล้วจีนต้องมาลงทุนเพื่อหารายได้ไปจ่ายให้โครงการเอาเอง เพราะลาวไม่มีเงินพอที่จะจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยในระยะยาว จนเกือบเหมือนได้เปล่า เพราะลาวไม่มีสินค้าอะไรจะขนส่งทางรางกลับไปจีนหรือส่งมาไทย ในที่สุดอาจจะเป็นการช่วยเหลือให้เปล่าก็ได้ คงต้องจ่ายค่าเวนคืนที่ดินให้ประชาชนแทนรัฐบาลลาวด้วยก็ได้ เพราะรัฐบาลลาวมีงบประมาณรายได้และมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่เป็นเงินตราต่างประเทศจำกัด ไอเอ็มเอฟคงไม่ยอมให้ผูกมัดทางการเงินกับต่างประเทศโดยการลงทุนสูงเกินไปก็ได้ คงต้องดูกันต่อไป

แต่อย่างไรก็ตามจีนคงต้องพยายามก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในไทยให้ได้ เพื่อเชื่อมต่อกับรางรถไฟจีนที่เริ่มก่อสร้างเข้ามาในลาวแล้ว ส่วนรายละเอียดเงื่อนไขกับจีนไม่มีใครทราบ เพราะลาวก็มีที่ปรึกษาคอยดูให้อยู่ทุกโครงการที่เข้าไปในลาว ไม่ว่าจะเป็นของจีน ของไทย ของญี่ปุ่น ของเวียดนาม หรือของประเทศอื่น ๆ

ถ้าเป็นกรณีอย่างนี้จริง ๆ จีนก็กำลังเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต่อจากอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น เพิ่มการแข่งขันในตลาดประเทศไทย ในตลาดต่างประเทศ และน่าจะเป็นการลดการผูกขาดของบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทของไทย เพราะการผูกขาดไม่ทำให้อุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพ ไม่ตื่นตัว ไม่มีพลวัตในการเปลี่ยนแปลง

การเข้ามาของจีนเพื่อเอาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตจึงควรได้รับการสนับสนุน เมื่ออาลีบาบาเลือกมาเลเซียเป็นศูนย์กลางของบริษัทในภูมิภาคนี้ ไม่เลือกเรา จึงต้องสำรวจตรวจดูว่าเรามีข้อด้อยอะไร ทำไมอาลีบาบาจึงไม่เลือกประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่ความรู้สึกต่อต้านคนจีนของคนมลายูยังคงมีอยู่ คนจีนในมลายูไม่ถูกกลืนเข้าไปในสังคมมลายูเหมือนประเทศไทย คนจีนในมลายูยังใช้ชื่อจีน ไม่เปลี่ยนนามสกุล ยังแต่งงานกันเอง ยังพูดจีน แม้จะฟังภาษามลายูที่เป็นภาษาราชการก็ตาม

แต่ถ้าเป็นไปตามการคาดการณ์ของหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับนั้นว่า Chinese is coming ก็น่าจะเป็นข่าวดี สำหรับประเทศไทย

ไม่มีอะไรน่ากลัว จีนเลิกเป็นคอมมิวนิสต์ นานแล้ว