ปฏิรูปอีกแล้ว

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลได้ประกาศจะปฏิรูปตำรวจ สืบเนื่องมาจากข่าวผู้ว่าราชการจังหวัดเมียวดี ได้ทำหนังสือมาถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนของเราว่า ขอให้ดูแลอย่าให้ตำรวจไทยเรียกเก็บเงินจากแรงงานจากประเทศพม่าที่ประสงค์จะกลับบ้าน เพราะเป็นที่รู้กันว่าแรงงานพม่านั้นไม่ว่าจะออกจากประเทศพม่าเข้ามาเมืองไทย หรือออกจากประเทศไทยจะกลับบ้าน ไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ก็ต้องจ่ายเงินค่า “ส่วย” ให้กับตำรวจ ที่มาตั้งด่านตรวจรถในเขตไทยทั้งนั้น

เรื่องการเก็บเบี้ยบ้ายรายทาง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจเทศกิจของ กทม. หรือตำรวจนครบาล หรือตำรวจภูธรและตำรวจทางหลวง ดูจะเป็นเรื่องปกติของประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยคิดเสียว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าออก หรือเป็นภาษีการค้าชายแดนเพิ่มเติมขึ้นจากค่าธรรมเนียมการอนุญาตต่าง ๆ หรือค่าธรรมเนียมการออกวีซ่าของกระทรวงการต่างประเทศ จนถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ส่วนเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี เป็นผู้กระทำการฉ้อราษฎร์บังหลวง

เป็นของธรรมดาที่ประชาชนคนเดินถนนโดยทั่วไปจะมองผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดี เป็นผู้ร้าย หรือ villain ไม่ใช่ขวัญใจ หรือ heartthrob ผู้นำของประเทศที่จะเป็นขวัญใจของประชาชน ต้องเป็นผู้นำของประเทศที่เสียชีวิตในขณะดำรงตำแหน่งผู้นำของประเทศอยู่ เช่น ประธานาธิบดีเคนเนดี หรือประธานาธิบดีรูสเวลต์ หรือแม้แต่ประธานาธิบดีลินคอล์น หรือนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี ก็อาจจะถือว่าเป็น “ขวัญใจ” ของประชาชนได้ แม้ว่าจะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีเพราะบารมีของบิดา เยาวหราล เนห์รู ก็ตาม ดังนั้นถ้าผู้นำคนไหนอยากเป็น “ขวัญใจ” ของประชาชนก็ต้องตายในตำแหน่งจึงจะได้เป็น ปกติแล้วผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจ มีบารมี ให้คุณให้โทษใครได้ ย่อมเป็น “ผู้ร้าย” ในสายตาของประชาชนและสื่อมวลชนเสมอ

รัฐบาลทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเข้าสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหารยึดอำนาจด้วยปากกระบอกปืน หรือเข้ามาสู่อำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยจะครึ่งใบหรือเต็มใบก็ตาม ก็จะต้องประกาศ “ปฏิรูป” ทั้งนั้น มีอยู่เพียง 2 ครั้งเท่านั้นที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลประกาศทำการปฏิวัติ คือการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎรที่มี พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้า และการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2509 โดยคณะปฏิวัติซึ่งมี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า แต่หลังจากนั้นคณะรัฐประหารจะใช้คำว่า “ปฏิรูป” การปกครองและการปฏิรูปอย่างอื่น ๆ เช่น การปฏิรูปกฎหมาย การปฏิรูปทัศนคติ เป็นต้น

ปฏิรูป แปลมาจากภาษาฝรั่งว่า “reform” เพื่อให้ต่างกับคำว่า ปฏิวัติ ซึ่งก็แปลมาจากคำว่า “revolution” คำว่า revolution มาจากคำว่า “ม้วนกลับ” volution แปลว่า “ม้วนเข้า” revolution จึงแปลว่า ม้วนกลับ หรือ “ม้วนออก” หมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ส่วนคำว่า “ปฏิรูป” หรือ “reform” แปลว่า การเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงรูปทรง เพราะ form แปลว่า รูปทรง หรือ “shape reform” หรือ “reshape” ก็ควรจะแปลว่า เปลี่ยนรูปทรง หรือเปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้น ไม่ถึงกับ “ม้วนกลับ” พลิกฟ้า พลิกแผ่นดิน

การทำรัฐประหารหลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงมักจะไม่ใช้คำว่า ปฏิวัติ แทนคำว่า รัฐประหาร หรือ coup d’etat อย่างที่ควรจะเป็น อาจจะเป็นเพราะฟังแล้วน่ากลัว และรู้สึกว่า “ป่าเถื่อน” ไม่เป็นที่ยอมรับของ “นานาอารยประเทศ” ทั้ง ๆ ที่ระดับการพัฒนาการเมืองของเราก็เป็นเช่นนั้น

เมื่อมีการทำรัฐประหารทุกครั้งก็จะมีสูตรสำเร็จ กล่าวคือ เหตุผลของการทำรัฐประหารจะมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรก จะมีอยู่ 3 ข้อหลัก ๆ คือ 1) รัฐบาลก่อนปล่อยให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 2) เป็นรัฐบาลที่มีการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงทุกระดับ และ 3) เป็นรัฐบาลที่บริหารราชการได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้

ส่วนที่ 2 ก็คือการให้ความหวังว่ารัฐบาลรัฐประหารจะปฏิรูปส่วนต่าง ๆ เช่น ปฏิรูปกฎหมาย ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูประบบการจ้างงาน ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปคริสตจักร ปฏิรูปภิกษุสงฆ์ รวมทั้งปฏิรูปตัวเอง เป็นต้น

มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศเราควรมีการปฏิรูปกองทัพให้เป็นกองทัพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เพราะบทบาทของผู้นำกองทัพตั้งแต่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลผิน ชุณหะวัณ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พล.อ.สุจินดา คราประยูร พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และผู้นำกองทัพที่ทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 การปฏิรูปเป็นคำที่ถูกนำมาใช้บางทีคำว่า ปฏิรูป ก็ใช้แทนคำว่า “ควบคุม” หรือ “แทรกแซง” ในกรณีของสื่อมวลชน ทุกครั้งที่มีการกล่าวว่า จะมีการปฏิรูปสื่อมวลชน ก็หมายความว่า สื่อมวลชนกำลังปฏิบัติตนไม่เป็นที่พอใจของผู้นำประเทศ เป็นการเตือนให้มีการเปลี่ยนตัวคนเขียนคอลัมน์ เปลี่ยนตัวผู้อ่านข่าว เปลี่ยนตัวผู้วิจารณ์ข่าว หากโทรศัพท์มาเตือนแล้ว ผู้อ่านข่าวหรือผู้วิจารณ์ข่าวคนนั้นยังคงไม่ปฏิบัติตามที่ได้เตือนไว้ ดังนั้นการปฏิรูปสื่อในกรณีนี้จึงเป็นเพียงการเปลี่ยนตัวผู้เขียน ผู้อ่านข่าว และผู้วิจารณ์ข่าว คำว่า ปฏิรูปสื่อ จึงเป็นคำที่น่ากลัวสำหรับผู้ที่ยังมีจิตวิญญาณเป็นสื่อมวลชนอยู่

ดังนั้น หน้าที่ของสื่อมวลชนที่มีจิตวิญญาณก็ต้องทำหน้าที่เป็น “หมาเฝ้าบ้าน” คอยระมัดระวังให้กับประชาชน คอยจับผิดผู้นำผู้บริหารประเทศแทนประชาชน ถ้าสื่อมวลชนใดเป็นผู้สื่อข่าวที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนรู้และแก้ตัวแทนรัฐบาล หรือปกปิดข่าวที่รัฐบาลไม่ต้องการให้ราษฎรรู้ เรียกสื่อเช่นนั้นว่า กระบอกเสียงของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเรามีอยู่แล้วหลาย ๆ ช่องทาง ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ เป็นของธรรมดา ไม่ใช่ของแปลกประหลาดอะไร ผู้สื่อข่าวก็ต้องมีอาชีพเหมือน ๆ กับอาชีพอื่น ๆ

ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร สิ่งแรกที่คณะรัฐประหารต้องทำก็คือเข้าควบคุมสื่อมวลชน เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งจะมีบทบัญญัติรับรองเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การแทรกแซงและการควบคุมจึงออกมาในรูปการปฏิรูปสื่อมวลชน เช่น การออกกฎหมายจัดตั้งสภาสื่อมวลชน โดยแต่งตั้งข้าราชการมาเป็นสมาชิกสภาดังกล่าว แทนการจัดตั้งโดยสื่อมวลชนกันเอง อย่างนี้ก็เป็นการปฏิรูปสื่อมวลชนชนิดหนึ่งการปฏิรูปการศึกษาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีการทำกันอยู่บ่อย ๆ เช่น การปฏิรูปการเรียนการสอน การหัดอ่านหัดเขียนภาษาไทย จากการให้สะกดพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ด้วยการออกเสียงโดยไม่ต้องคำนึงถึงความหมายของเสียงที่ออกมา ให้เคยชินกับอักษรสูง กลาง ต่ำ เพื่อว่าเมื่อเห็นการผสมพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ ก็ออกเสียงได้ทันที เพราะภาษาไทยมีอักษรครบถ้วนในการผสมกันเพื่อออกเสียง ไม่เหมือนภาษาที่ใช้อักษรโรมันในการเขียน หรือใช้อักษรที่พัฒนามาจากภาพเป็นคำ ๆ ในการเขียน การหัดอ่านหัดเขียนจึงไม่ควรจะเหมือนภาษาอื่นในยุโรป หรือภาษาเขียนที่มีรากฐานมาจากภาษาจีน การปฏิรูปจึงควรเป็นการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้ดีขึ้น กลับกลายเป็นว่าเมื่อมีการปฏิรูปการเรียน เขียน อ่าน ให้เป็นแบบฝรั่งผสมกับแบบจีน คือให้จำเป็นคำ ๆ โดยมีรูปภาพประกอบ ผ่านไป 10-15 ปี คนไทยอ่านหนังสือได้ช้าลง หรือบางคนที่อยู่ในชนบทไม่ค่อยได้อ่านหรือเขียนหนังสือก็เลยเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออกตามเดิม การปฏิรูปการอ่าน การเขียนภาษาไทย ให้เป็นแบบฝรั่ง อย่างที่กระทรวงศึกษาฯเคยปฏิรูป จึงไม่ควรเรียกว่าการปฏิรูป เพราะปฏิรูปแล้วเลวลง

เรื่องสุดท้ายที่สามารถพูดกันได้ตลอดกาลสำหรับประเทศไทย ก็คือ “ปฏิรูปการเมือง” ซึ่งก็พูดกันมาตั้งแต่การทำรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 20 กันยายน 2500 แม้ผู้ทำรัฐประหารจะเรียกตัวเองว่า หัวหน้าคณะปฏิวัติ และใช้เรียกการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ว่า “การพัฒนา” ซึ่งแปลว่า ทำให้ดีขึ้น แต่หลังจากนั้นก็ใช้คำว่า ปฏิรูป เพราะไม่แน่ใจว่าสิ่งที่จเปลี่ยนแปลงนั้นจะดีขึ้น หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงธรรมดาเท่านั้น

เมื่อได้ยินว่าจะมีการพัฒนากองทัพ ก็คงมุ่งไปในทางพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ ยุทธวิธี และความสามารถในการรบ คงไม่ได้มุ่งหวังว่าจะรวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดที่เป็นนามธรรม ที่จะพัฒนากองทัพให้เป็นกองทัพของประชาชน อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลที่มาจากประชาชน แทนการเข้ามายึดอำนาจจากประชาชนเข้ามาเป็นรัฐบาลเสียเอง

เมื่อได้ยินคำว่า ปฏิรูป ปฏิกิริยาตอบสนองต่อคำคำนี้จึงออกจะเป็นการรู้สึกเฉย ๆ ไม่มีอะไร หรือไม่ก็เป็นไปในทางลบด้วยซ้ำ เพราะส่วนใหญ่การปฏิรูปสมัยหลังเป็นการทำให้อยู่กับที่ ไม่ใช่การพัฒนา

ยิ่งฟัง ก็ยิ่งชินชา