เปิดประวัติ ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อดีต อธิบดี DSI ผู้ถูกคำสั่งเด้งฟ้าผ่า เซ่นปมเจ้าหน้าที่ DSI พัวพันทุนจีนสีเทา
วันที่ 18 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามในคำสั่งลงวันที่ 18 ม.ค. 2566 เรื่อง มอบหมายให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ราชการและรักษาราชการแทน โดยให้ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
และให้ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และให้รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ทั้งนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” พาไปรู้จักกับอดีด อธิบดี DSI ให้มากขึ้น ดังนี้
ประวัติ ไตรยฤทธิ์ ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์
นาย ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อายุ 57 ปี ชื่อเล่น ต้น เป็นคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน จบปริญญาตรี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2532 ระดับการศึกษาสูงสุด ปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง รวมทั้งจบหลักสูตรนักบริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (ยธส.) รุ่นที่ 1 และจบหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นปี 2561
เส้นทางรับราชการ
เริ่มต้นรับราชการในตำแหน่ง นายแพทย์ 4 สำนักปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ 6 หัวหน้ากลุ่มงานการรักษาศูนย์มะเร็ง จ.สุราษฎร์ธานี ต่อมาปี 2549 โอนย้ายมาเป็นนายแพทย์ระดับ 8 สำนักนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และขึ้นเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมา
ในปี 2561 ยุค พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แต่งตั้งให้ ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ เป็นรองอธิบดี และรักษาราชการแทนตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ในปี 2563 ปลัดกระทรวงยุติธรรมเซ็นคำสั่งแต่งตั้งใหม่ เป็นรักษาราชการแทนอธิบดีกรมดีเอสไอ โดยสลับกันทำหน้าที่แทนรองอธิบดีทั้ง 4 คน จากเดิมที่มอบหมาย พ.ต.ท.กรวัชร์ รักษาการแทน ไพสิฐ วงศ์เมือง ที่มีอาการป่วย และถูกโยกไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ในปีเดียวกัน
ก่อนที่นายสัมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้เสนอ ครม. เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 และดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ก่อนที่จะถูกปลดฟ้าผ่าในเวลาต่อมา
เหตุจากนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ยื่นเรื่องให้กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ตรวจสอบตรวจสอบบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ซึ่งมีการแอบอ้างว่าได้รับการรับรองจากสถานกงสุลนาอูรู ประจำประเทศไทย
แต่ภายในบ้านหลังดังกล่าวมีคนจีนเข้าออกพลุกพล่าน และหลังเข้าตรวจค้นตามหมายค้นของศาลอาญากรุงเทพใต้ พบคนจีน 1 ราย พร้อมเงินสด 2,500,000 บาท จึงตรวจยึดส่งพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ ตรวจสอบ และในวันดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 10 นาย และเจ้าหน้าที่ DSI 3 นาย ร่วมกันเข้าค้นบ้านโดยตรวจพบบุคคลสัญชาติจีนในบ้าน 11 คน
รวมทั้งยังพบเงินสดภายในบ้านอีกกว่า 10 ล้านบาท แต่เจ้าหน้าที่กลับเรียกรับผลประโยชน์ 20 ล้านบาท เพื่อแลกกับการปล่อยตัวคนจีนทั้ง 11 คน และนำตัวหญิงชาวจีน ซึ่งเป็นคนดูแลบ้านพร้อมเงินสด 2,500,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวนเพื่อตรวจสอบ
ทาง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จึงสั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พบว่ามีเหตุการณ์ตามที่กล่าวเกิดขึ้นจริง จึงสืบสวนขยายผลจนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 ผู้อำนวยการส่วน และเจ้าหน้าที่ DSI รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 16 ราย