เปิดประวัติหลวงปู่เอี่ยม วัดอรุณ เจ้าตำรับหนังสือมนต์พิธี มรณภาพอายุ 89 ปี

หลวงปู่เอี่ยม
ภาพจาก ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา

เปิดประวัติพระราชวัชรรังษี หรือ “หลวงปู่เอี่ยม วัดอรุณ” เจ้าตำรับหนังสือมนต์พิธี มรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 89 ปี พรรษา 70 

วันที่ 9 มิถุนายน 2566 เมื่อช่วงดึกของวันที่ผ่านมา (8 มิ.ย.) เพจเฟซบุ๊ก ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา และ วัดอรุณราชวราราม รายงานว่า เวลา 21.00 น. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลกรุงเทพ แจ้งว่า หลวงปู่พระราชวัชรรังษี (เอี่ยม สิริวณฺโณ) ได้หยุดหายใจและอาการทรุดลงตามลำดับ จนกระทั่งเวลา 22.15 น. หลวงปู่ไม่ตอบสนองอาการและได้มรณภาพด้วยอาการสงบ สิริอายุ 89 ปี พรรษา 70 น้อมถวายอาลัย และน้อมส่งหลวงปู่สู่พระนิพพาน

“ประชาชาติธุรกิจ” เปิดประวัติหลวงปู่เอี่ยม วัดอรุณ เจ้าตำรับหนังสือ “มนต์พิธี” ผู้รวบรวมบทสวดมนต์และพระมหาคาถาทั่วแผ่นดินสยามไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ สำหรับพระภิกษุ สามเณร ผู้เตรียมตัวบวช และพุทธศาสนิกชนทั่วไป

พระราชวัชรรังษี มีนามเดิมว่า “เอี่ยม สุภราช” เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 1 กันยายน 2476 ในครอบครัวที่ประกอบอาชีพทำนา ที่บ้านพังตรุ ตำบลพังตรุ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีบิดาชื่อ นายกรุย สุภราช และมารดาชื่อ นางแคล้ว สุภราช

หลวงปู่เอี่ยมเรียนที่โรงเรียนวัดพังตรุในช่วงปฐมวัย และจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เคยป่วยหนัก มารดาจึงบนให้หายป่วยด้วยการบวชเณร 7 วัน แต่ยังไม่ทันได้แก้บนมารดาก็เสียชีวิตไปเสียก่อน หลวงปู่เอี่ยมป่วยหนักอีกครั้ง ยายและน้าสาวที่ดูแลจึงบนว่าถ้าหายจะให้บวชเณรเป็นเวลา 14 วัน

จึงได้บรรพชาแก้บนเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2493 ที่วัดสาลวนาราม หรือวัดดอนตาเพชรในอำเภอพนมทวน โดยมีพระอุปัชฌาย์ คือ หลวงพ่อซ้ง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลพนมทวนขณะนั้น แต่เมื่อครบ 14 วันก็บวชต่อโดยไม่ขอสึก

จากนั้นหลวงปู่เอี่ยมได้อุปสมบท เมื่อวันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม 2496 ที่วัดเบญพาดในอำเภอพนมทวน โดยมี พระปลัดซ้ง วัดสาลวนาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเพิ่ม วัดดอนงิ้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เหลือ วัดสาลวนาราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลวงปู่เอี่ยม
ภาพจาก – ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา

หนังสือสวดมนต์เล่มเหลืองที่พุทธศาสนิกชนคุ้นเคย

จุดเริ่มต้อนของหนังสือ มนต์พิธี เกิดจาก พระเสวย พุทฺธเทโว ได้ชักชวนให้ หลวงปู่เอี่ยม แต่งหนังสือสวดมนต์ เมื่อปี 2513 โดยพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 1,000 เล่ม ถวายภิกษุภายในจังหวัดชลบุรี ต่อมาจึงเพิ่มการรวบรวมพระพุทธมนต์ พระคาถา และคำที่ใช้ในพิธีกรรม ในชื่อหนังสือ สวดมนต์และศาสนพิธี

หนังสือ สวดมนต์และศาสนพิธี เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ภิกษุและพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น มนต์พิธี เมื่อปี 2515 โดยมีพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) เป็นผู้เขียนคำนำ

จนกระทั่งปี 2560 สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ ได้ติดต่อเพื่อขอลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์หนังสือ มนต์พิธี และหนังสือที่แต่งโดยหลวงปู่เอี่ยม เพื่อเผยแพร่

โดยพระราชวัชรรังษี มีคำปรารถในหนังสือมนต์พิธีไว้ว่า “หนังสือเล่มนี้ รวบรวมบทสวดมนต์ พระมหาคาถา ทั่วแผ่นดินสยามที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับพระภิกษุ สามเณร ผู้เตรียมตัวบวช ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่สนใจในพระศาสนา เปรียบเสมือนเป็นมรดกทางธรรม เพื่อสืบทอดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาต่อไป”

ตำแหน่ง ฝ่ายปกครอง

  • พ.ศ. 2511 เป็น เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี
  • พ.ศ. 2520 เป็น เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี
  • พ.ศ. 2528 เป็น ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
  • พ.ศ. 2529 เป็น รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดประดู่ในทรงธรรม

สมณศักดิ์

  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2534 เป็น พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นโท ที่ พระครูอรุณธรรมรังษี
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2549 เป็น พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
  • 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวัชรรังษี พุทธมนต์พิธีธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง