เปิดประวัติ บิ๊กแป๊ะ จักรทิพย์ ชัยจินดา แคนดิเดต ผู้ว่า กทม.คนที่ 17

ศึกชิงเสาชิงช้า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง หลัง ทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่เพื่อไทย ไฟเขียวส่ง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค ลงชิงชัยสนามเลือกตั้งกทม.ใน รอบ 8 ปี (3 มี.ค.56)

บิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ.จักทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีชื่อโดดเด่น-ติดโผ ว่าที่ผู้ว่ากทม.คนที่ 17 ภายหลังมีชื่ออยู่ในบัญชี 2 พรรคการเมืองใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

“ประชาชาติธุรกิจ” เปิดประวัติ-พลิกโปรไฟล์ ผบ.ตร. คนที่ 11 นายตำรวจมือปราบ-ครบเครื่อง เป็น สายบุ๋น-นักสืบไข คดีฆาตกรรมยกครัว 8 ศพ ที่อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เพียง 5 วัน จนสามารถจับกุมคนร้ายได้เป็น นายตำรวจสายบู๊-ขาลุย ถึงลูกถึงคน ปิดคดีใหญ่-คดีสะเทือนขวัญ มาแล้วนับไม่ถ้วน อาทิ คดีจ่าสิบเอกคลั่ง กราดยิงผู้บริสุทธิ์ กลางห้างสรรพสินค้า เทอร์มินัล 21 โคราช และ คดีผอ.กอล์ฟ ควงปืนบุกร้านทอง-ฆ่าสาวร้านทองและเด็ก

ขณะเดียวกัน บิ๊กแป๊ะ เป็น นายตำรวจมือเจรจา สวมบทบาทสาลิกาลิ้นทอง คดีนักโทษแหกคุก ชาวเมียนมาจับผู้บัญชาการเรือนจำสมุทรสาครเป็นตัวประกัน เมื่อปี 2543

บิ๊กแป๊ะ ขณะดำรงตำแหน่ง รองผบ.ตร. เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนชุดคลี่คลาย คดีระเบิด บริเวณ แยกราชประสงค์ และ ท่าเรือสาทร เมื่อวันที่ 17 และ 18 สิงหาคม 2558

รวมถึงแกะรอย มือวางระเบิด หลายจุดในกรุงเทพมหานครหลายจุด ทั้งบริเวณหน้าสำนักสลากกินแบ่งรัฐบาล (เก่า) หน้าโรงละครแห่งชาติ และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

นอกจากนี้ยังเป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขสถานการณ์ในสภาวะวิกฤตระดับโลก-กู้ชีพ 13 ชีวิต ทีมหมูป่าอะคาเดมี ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า สุภาพบุรุษแก๊สน้ำตา หลังจากถอดเสื้อเข้ารักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บที่เป็นผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 7 ตุลาคม 2551

บิ๊กแป๊ะ ยังได้รับฉายาว่า แป๊ะ 8 กิโล เพราะพกพาอาวุธปืน พร้อมแม็กกาซีนและกระสุน อุปกรณ์ เช่น กุญแจมือ ไฟฉาย ติดตัวเสมอ ซึ่งรวมกันมีน้ำหนัก 8 กิโลกรัม อีกฉายา คือ น.1 อีซี่พาส เนื่องจากติดยศ พล.ต.ท. และเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลอย่างรวดเร็ว

ซุปเปอร์คอนเน็กชั่นบิ๊กป้อม-บิ๊กตู่

บิ๊กแป๊ะ จบหลักสูตร FBI National Academy,Quantico,VA,USA. หลักสูตรนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (วปม.4) รหัส 5624 ร่วมหลักสูตรกับ ว่าที่ ร.ต.ไชยยศ จิรเมธากร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (5631)

ซุปเปอร์คอนเน็กชั่น หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บยส.) รุ่นที่ 14 หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 13 และหลักสูตร โรงเรียนนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่น 41 กรมการปกครอง

จบจาก โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่นที่ 36 เทียบเท่ากับเตรียมทหาร รุ่นที่ 20 (ตท.20) รุ่นเดียวกับ บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก

บิ๊กแป๊ะ เป็น เพื่อนร่วมรุ่น กับ บิ๊กปั๊ด พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. ว่าที่ ทายาทบิ๊กแป๊ะ และ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ – หวานใจ มาดามแป้ง แห่งอาณาเมืองไทยประกันชีวิต
บิ๊กแป๊ะ มีคอนเน็กชั่นกับ ตึกไทยคู่ฟ้า ผ่านตำแหน่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และโดยตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็น น้องรัก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีชื่อติดโผคณะรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ 1 ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ดร.จุ๋ม ชีวิตหลังบ้าน บิ๊กแป๊ะ

ครอบครัวชัยจินดา บิ๊กแป๊ะ สมรสกับ อาจารย์จุ๋ม-ดร.บุษบา ชัยจินดา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี บุตรสาว ดร.สุข พุคยาภรณ์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศรีปทุม มีบุตรชาย 2 คน นายชัยธัช และ ร.ต.อ.ชานันท์ สารวัตรกองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

บิ๊กแป๊ะ เริ่มปลูกต้นรัก-พบรักกับ ดร.จุ๋ม ระหว่างศึกษาต่อ ปริญญาโท มหาวิทยาลัยแคนตักกี้สเตท สหรัฐอเมริกา ดร.จุ๋ม บันทึกรักหลังบ้านไว้ใน นิตยสาร HELLO! บางช่วงบางตอนไว้ว่า

“ดิฉันไปเรียนปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์ (Public Affair) ที่ Kentucky State University ซึ่งท่านผบ.เรียนอยู่แล้ว เป็นรุ่นพี่เทอมนึง ท่านก็มาจีบ จะเรียกว่าจีบรึเปล่าก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้เข้ามาแบบจ๊ะจ๋านะคะ เขาจะพูดจากระโชกโฮกฮากตอนนั้นไม่ชอบหน้าเขามาก ๆ แต่เขาก็มาขอกินข้าวบ้านบ้าง เจอกันที่มหาวิทยาลัยบ้าง ให้เราช่วยทำการบ้านให้บ้าง เราก็ช่วยไม่มากหรอกเพราะเขามีฝรั่งช่วย ท่านผบ.เอาตัวรอดเก่ง มีสาวฝรั่งคอยช่วยเยอะแยะ”

“บ้านนี้ไม่ค่อยได้ทานข้าวที่บ้านพร้อมหน้ากันเพราะท่านผบ.ตร.เป็นตำรวจนักสืบไม่ได้ทำงานแบบ 8 โมงเช้ากลับบ้าน 5 โมงเย็น ก็เลยไม่มีเวลาแน่นอน ต่างคนต่างทานข้าว มีวันอาทิตย์วันเดียวที่จะได้ทานข้าวด้วยกัน ผบ.ไม่ค่อยคุยเรื่องงานเพราะท่านบอกว่าความลับของตำรวจที่มีโอกาสรั่วมากที่สุดก็คือรั่วจากเมียเพราะฉะนั้นเรื่องคดีต่าง ๆ เขาจะไม่บอก เขาเก็บความลับได้ดีมาก วันที่พม่าแหกคุกเขาก็เป็นคนขับรถเข้าไปแลกกับโจร โดยที่ดิฉันมาทราบข่าวพร้อมคนอื่นเมื่อเห็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เช้าวันรุ่งขึ้น”

“คณะดุสิต” คอนเนกชั่นพิเศษ

บิ๊กแป๊ะ เป็น นักกีฬารักบี้ ศิษย์เก่าวชิราวุธราชวิทยาลัย ร่วมสถาบันเดียวกันกับบุคคลที่มีชื่อเสียง-ผู้มีอำนาจในอดีต-ปัจจุบันมากมาย อาทิ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี นายสุเมธ ตันติเวชกุล พล.ต.อ.เภา สารสิน อดีตอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรองผบ.ตร. นายพระนาย สุวรรณรัฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย

นายอำนวย วีรวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร พ.อ.วินทัย สุวารี โฆษกกองทัพบก นายบรรยง พงษ์พานิช

วีรกรรมวัยขาสั้น ของ แป๊ะ ชื่อที่ เพื่อนร่วมรุ่นบันทึกไว้ใน หนังสือรุ่น 51 หน้า 49 จนติดปากใน คณะดุสิต
ชื่อเรียกกันติดปากกันทั่วไปว่า “แป๊ะ” “แป๊ะ” เป็นหัวหน้าคนหนึ่งในดุสิตซึ่งมีบุคลิกที่ทำให้น้อง ๆ ต้องทูลกายถวายใจให้

แป๊ะเป็นคนที่พิถีพิถัน ในเรื่องการแต่งกายมาก จากหัวจรดเท้า แป๊ะมักจะเรี่ยมเร้เรไรเสมอ เรื่องพูดคุยกลับตรงกันข้าม แป๊ะได้รับฉายาว่า เป็นบุคคลที่ซี้ซั๊วที่สุด ไม่ว่าใครจะบอกว่ารู้จักสุภาพสตรีคนไหน แป๊ะก็จะพูดทันทีว่า “อ้อ ! คนนั้นใช่มะ อั้วรู้จัก” แป๊ะยังมีหน้าที่คุมสัญญาณจราจรยามค่ำคืนที่คณะอีกด้วย

แป๊ะยังมีความสามารถพิเศษอีกอย่างคือ เสียค่านม 170 แต่กิน 340 แป๊ะเป็นที่รักของเพื่อน ๆ เพราะแป๊ะมักมีอารมณ์ตลก ๆ ร่าเริงและรักเพื่อน ๆ ปัจจุบันแป๊ะได้พบกับความสมหวัง คือ มี น.ร.ต.อยู่หน้าชื่อ

เส้นทางสีกากี

เส้นทางสีกากีของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ จากน.ร.ต.รุ่นที่ 36 สู่ เบอร์ 1 ปทุมวัน เริ่มเข้ารับราชการตำรวจเมื่อ พ.ศ.2533 นายเวรผู้บังคับการประจำกรมตำรวจ สำนักงานกำลังพล

ขยับเป็นสารวัตรแผนกสายตรวจรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กองกำกับการสายตรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2535

และสารวัตรแผนกตรวจพิสูจน์ กองกำกับการสุนัขตำรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2537 ก่อนจะเติบโตในสายมือปราบ-มือพระกาฬ เรื่อยมา ดังนี้

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 รองผู้กำกับการ 1 กองปราบปราม

วันที่ 16 ตุลาคม 2538 รองผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม
วันที่ 25 ตุลาคม 2539 นายเวรอธิบดีกรมตำรวจ (พล.ต.อ.พจน์ บุญยะจินดา)

วันที่ 28 มกราคม 2540 ผู้กำกับการกองวิชาการ (ฝ่ายกฎหมาย)

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 ผู้กำกับการอำนวยการ กองงบประมาณ

วันที่ 1 พฤษภาคม 2542 ผู้กำกับการชุดตรวจงานป้องกันปราบปราม ส่วนตรวจราชการ 3 สำนักงานจเรตำรวจ

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสงคราม
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2544 รองผู้บังคับการกองตำรวจน้ำ

วันที่ 18 ธันวาคม 2546 รองผู้บังคับการกองปราบปราม

วันที่ 1 ตุลาคม 2548 ผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานแห่งชาติ (ผบก.ตม.ทอช.)

วันที่ 11 พฤษภาคม 2550 ผู้บังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ

วันที่ 1 ตุลาคม 2551 รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 รักษาการ ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ประสานงานสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงหมาดไทย)

วันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ประสานงานสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย)

วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

พ.ศ.2554 ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 (ผบช.ภ.9)

พ.ศ.2555 ผู้ช่วย ผบ.ตร.

พ.ศ.2557 ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ รรท.ผบช.น.

พ.ศ.2557 รอง ผบ.ตร.

วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ผบ.ตร. จนถึง 30 กันยายน 2563 (เกษียณอายุราชการ)