ดับฝันกกต. มติผู้ตรวจฯ ไม่ส่งความเห็นต่อศาลรธน. ปม “เซตซีโร่ กกต.”

มติผู้ตรวจการแผ่นดิน ยุติเรื่องไม่ส่งศาลรธน. ปม “เซตซีโร่ กกต.” ชี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วในคดีต่ออายุผู้ตรวจฯ

เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติยุติเรื่องกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ยื่นเรื่องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า มาตรา 70 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ที่บัญญัติว่าให้ประธานกกต. กกต.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง นับแต่วันที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 กรณีประธาน สนช. ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่า การที่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนดให้ผู้ตรวจฯชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งจนครบวาระขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า มาตรา 273 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฎิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องจัดทำขึ้นตามมาตรา 267 ใช้บังคับแล้ว การจะดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดนั้น ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญมอบให้ฝ่ายนิติบัญญติเป็นผู้มีหน้าที่พิจารณากำหนดการดำรงตำแหน่งต่อไปของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเรื่องระยะเวลาในการปฎิบัติหน้าที่ต่อไป หรือการพ้นจากตำแหน่ง รวมถึงเหตุยกเว้นคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ ซึ่งการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดนั้น อาจกำหนดได้หลายรูปแบบ เช่น ให้ดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบวาระ ตามรัฐธรรมนูญ 60 หรือ ให้เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไม่ให้ดำรงตำแหน่งต่อไป หรือให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด โดยการจะกำหนดให้ใช้รูปแบบใดนั้นจะต้องคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็น ความเหมาะสม ทั้งในเรื่ององค์ประกอบ หน้าที่ อำนาจของแต่ละองค์กร และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นการที่มาตรา 70 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. กำหนดให้ประธาน กกต. กกต. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน วันที่ พ.ร.ป.กกต.มีผลใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งนั้น จึงเป็นการกำหนดรูปแบบ 1 ใน 3 รูปแบบ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งได้รับมอบจากรัฐธรรมนูญให้พิจารณากำหนดใด้ โดยคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็น และความเหมาะสมขององค์กร ซึ่งเป็นตามเจตนารมของรัฐธรรมนูญแล้ว ส่วนที่นายสมชัย อ้างว่าขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะเป็นการมีผลย้อนหลังกระทบต่อสิทธิของ กกต. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน เห็นว่า การสมัครเข้าดำรงตำแหน่งของนายสมชัย และ กกต. อยู่บนพื้นฐานความสมัครใจ ไม่ใช่เป็นการเข้ามาประกอบอาชีพ เพื่อแสวงหาสิทธิประโยชน์ เหมือนการสมัครเข้าประกอบอาชีพอื่น ซึ่งผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งย่อมทราบดีตั้งแต่ต้นแล้ว การดำรงตำแหน่งของนายสมชัย และ กกต. จึงไม่ใช่สิทธิ์ดังที่อ้าง ทั้งการพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ก็ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการให้พ้นโดยผลของกฎหมาย จึงเห็นว่า มาตรา 70 ของ พ.ร.ป. กกต. ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญ จึงให้ยุติเรื่องและแจ้งผลวินิจฉัยให้นายสมชัยทราบ

เมื่อถามว่ามติของผู้ตรวจฯ จะถูกตำหนิหรือไม่ว่า เพราะผู้ตรวจฯ ได้ประโยชน์เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้อยู่ต่อ นายรักษเกชา กล่าวว่า ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะคนวินิจฉัยไม่ใช่ผู้ตรวจฯ แต่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยและวางบรรทัดฐานไว้ว่าการให้พ้นจากตำแหน่งทำได้ทั้ง 3 กรณี ซึ่งของ กกต. ก็เป็น 1 ใน 3 แนวทาง จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ตรวจจะไปมีมติให้เป็นอย่างอื่นได้ การวินิจฉัยของศาลมีผลผูกพันทุกองค์กร พิจารณาตามมติศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง

 

ที่มา : มติชนออนไลน์