จิรายุ ยื่น 5 ข้อ ชัชชาติ แก้รถติดคลองสามวา อย่าสนใจแต่ กทม.ชั้นใน

จิรายุ ยื่น 5 ข้อ ชัชชาติ

จิรายุ ควง ชัชชาติ ลงพื้นที่คลองสามวา ย้ำชานเมือง ไม่ใช่ชนบท อย่าสนใจแต่ กทม.ชั้นใน ยื่น 5 ข้อเร่งแก้ปัญหารถติด

วันที่ 6 สิงหาคม 2565 ที่เขตคลองสามวา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย น.ส.นฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก.กทม. เขตคลองสามวา พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตคลองสามวา

ทั้งนี้ นายจิรายุกล่าวว่า เป็นนิมิตหมายอันดีที่ผู้ว่าฯกทม. นายชัชชาติลงมาดูปัญหาของประชาชนในเขตคลองสามวา ซึ่งวันนี้ประชากรในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ พุ่งสูงขึ้น โดยพื้นที่เขตคลองสามวา ตั้งแต่ถนนรามอินนทรา, คู้บอน, หทัยราษฎร์, นิมิตใหม่, เลียบคลองสอง, ประชาร่วมใจ และถนนปัญญารามอินทรา มีประชาชนอยู่อาศัยกว่า 250,000 คน ไม่นับรวมประชากรแฝงอีกหลายหมื่นคน และมีหมู่บ้านจัดสรรขึ้นเป็นจำนวนมาก

โดยทางกายภาพของพื้นที่กลับไม่มีบริการสาธารณะ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ใช้รถยนต์ส่วนตัว ทำให้ในแต่ละวันมีการจราจรติดขัดอย่างหนัก ยิ่งในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนจะมีปัญหาอย่างมาก เนื่องจากในพื้นเขตคลองสามวามีแยกใหญ่กว่า 5 แห่ง แต่ไม่มีสะพานลอยข้ามแยกแม้แต่จุดเดียว

นายจิรายุกล่าวว่า ตนได้อภิปรายในรัฐสภาตั้งแต่ปี 2562 มาจนถึงปัจจุบันมากกว่า 5 ครั้ง เรียกร้องให้กทม.ดำเนินการแก้ไข แต่ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ อาจเป็นเพราะส.ก.ก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช. เลยไม่ค่อยใกล้ชิดกับประชาชน แถมผู้ว่าฯกทม.ก็มาจาก ม.44 ของคสช. กทม.เลยเสียโอกาสไปกว่า 5 ปี ขณะที่กรุงเทพฯชั้นในที่มีประชากรน้อยแค่หลักหมื่นกลับได้รับการแก้ไขปัญหา ทั้งทำอุโมงค์ข้ามแยก สะพานข้ามแยก ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อคนกรุงเทพฯคลองสามวากว่า 3 แสนคนที่เสียภาษีให้รัฐบาลและ กทม.เหมือนกัน

วันนี้ตนและส.ก. จึงเชิญนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. มาดูในจุดที่มีปัญหาอย่างหนัก ที่แยกพระยาสุเรนทร์ตัดถนนปัญญาและถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง ซึ่งเพราะเป็น 5 แยก วันนี้ตนจึงขอให้คุณชัชชาติในฐานะผู้ว่าฯกทม. ได้โปรดให้ความสำคัญกับชานเมืองด้วยการพิจารณาจัดทำสะพานข้ามแยก ซึ่งจะลดการติดขัดได้มาก ซึ่งในพื้นที่เขตคลองสามวามีทั้งหมด 4 จุดใหญ่ที่จำเป็นต้องดำเนินการ ซึ่งอาจทยอยทำในแต่ละปีงบประมาณได้ ซึ่งคนที่นี้เรียกร้องมาตลอดว่า ชานเมืองไม่ใช่ชนบท สิทธิประโยชน์ต้องเท่าเทียม

น.ส.นฤนันมนต์กล่าวว่า ในพื้นที่มีสภาพปัญหาที่หมักหมมมานาน ทั้งในหลักการจัดสรรงบประมาณที่กลับใช้วิธีหารเท่ากันทุกเขต 50 เขต ทั้ง ๆ ที่เขตชั้นในมีพื้นที่เล็กประชากรน้อยแค่ 3-4 หมื่น แต่กลับได้งบประมาณใกล้เคียงกับเขตที่มีประชากรกว่า 2.5 แสน ที่ผ่านมาก็เลยเห็นกทม.ชั้นในเดี๋ยวเปลี่ยนต้นไม้เกาะกลาง เดี๋ยวเปลี่ยนพื้นทางเท้าเป็นประจำ

นอกจากนี้ การออกแบบถนน การวางแผนแก้ไขปัญหาเพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น ก็ทำอย่างไม่เป็นรูปธรรม โดยตนขอเสนอให้ผู้ว่าราชการได้พิจารณาดังนี้ ถนนหทัยราษฎร์มีเพียง 2 เลน การจราจรหนาแน่น แต่กลับมีเกาะกลางถนนใหญ่เกินความจำเป็น

ทำให้รถจอดข้างทางเพียง 1 คันก็จะเสียเลนในการสัญจรไป-มา โดยมีข้อเสนอแนะให้ลดขนาดเกาะกลางถนนและเพิ่มเลนถนน อีกทั้งจัดทำสะพานข้ามแยกบริเวณแยกหทัยมิตร เนื่องจากสี่แยกเป็นมุมทแยงทำให้รถติดขัดสะสม ก็จะลดปริมาณการติดขัดจาก 6 แยกจะเหลือเพียง 3 แยกเท่านั้น

2.บริเวณห้าแยกลำกะโหลก ซึ่งผู้ว่าราชการเคยมาดูสภาพการจราจร เนื่องจากมีหมู่บ้านภายในซอยเป็นจำนวนมาก ทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก โดยมีข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไข : จัดทำสะพานเหล็กข้ามแยกบนถนนพระยาสุเรนทร์ข้ามแยกลำกะโหลกเพื่อจะลดการจราจรจากห้าแยกเหลือเพียงสามแยกได้

3.ขยายถนนพระยาสุเรนทร์ช่วงแยกตัดคู้บอนมุ่งหน้าวัดพระยาสุเรนทร์ ซึ่งเป็นเลนสวนมาตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการขยายถนน ทั้ง ๆ ที่เป็นทางระบายรถไปเชื่อมต่อกับวงแหวนกาญจนาภิเษก ซึ่งสามารถไปขึ้นทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ได้

4.บริเวณถนนนิมิตใหม่ รถจำนวนมากจากลำลูกกา มุ่งหน้ามีนบุรี บริเวณสามแยกนิมิตใหม่ตัดหทัยมิตรและสามแยกถนนสุดใจ ซึ่งเป็นสี่แยกที่มีความทแยง ทำให้รถติดสะสม หากมีสะพานข้ามทางแยกดังกล่าวก็จะทำให้การจราจรคล่องตัวในทุกช่วงเวลา ซึ่งทั้งหมดนี้ตนและส.ส.พื้นที่ จะนำเสนอในที่ประชุมรัฐสภา และสภากทม. อีกครั้งเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในยุคผู้ว่าฯชัชชาติผู้ว่าฯของประชาชนคนกรุงเทพฯ ต่อไป