ครม. รีวิวเบิกจ่ายงบฯปี’65-พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ 1.5 ล้านล้าน

ครม.รับทราบผลการเบิกจ่ายงบประมาณปี’65-พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ 1.5 ล้านล้านบาท รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบฯลงทุน ทอท.- องค์การเภสัชฯล่าช้า อ้าง โควิด-19

วันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและค่าใช้จ่ายภาครัฐ ครั้งที่ 2/2565

โดยภาพรวมของการเบิกจ่ายเงินประจำปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 มีการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 2,464,723 ล้านบาท จากแผนการใช้จ่ายรวม 4,060,682 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.70 มีรายละเอียด ดังนี้

งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,849,332 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 59.66 เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี วงเงิน 237,475 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 147,065 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61.93 เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจไม่รวมเงินงบประมาณ วงเงิน 309,091 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 133,534 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.20

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ส่วนโครงการภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท มีวงเงินตามแผนการใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 106,909 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 79,056 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 73.95

และโครงการภายใต้ พ.ร.ก. เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท มีแผนการจ่ายในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 307,207 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 255,736 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83.25

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2565 มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มูลค่าโครงการตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 103 โครงการ มูลค่าโครงการรวมทั้งหมด 2.51 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 83,508 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.36 ของแผนการใช้จ่ายเงินตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564-30 เมษายน 2565 ซึ่งผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน กระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายสูงสุด ได้แก่

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนกระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายต่ำสุด ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม

“ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า ประกอบด้วย ด้านการเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินโครงการ เช่น มีการปรับแบบรูปรายการ หรือแบบแปลนงานก่อสร้างให้สอดคล้องกับพื้นที่จริง ด้านการดำเนินงาน เช่น หน่วยรับงบประมาณต้องหารือกับหน่วยงานต้นสังกัด หรือทบทวนราคากลางเพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ

หรือกรณีมีผู้เสนอราคารายเดียว หรือไม่มีผู้เสนอราคา ทำให้ต้องยกเลิกการประกวดราคาและประกาศเชิญชวนใหม่ และด้านความล่าช้าของโครงการที่เกิดจากผู้รับจ้างสามารถขยายเวลาดำเนินการและการคิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ส่วนการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจนั้น ในปี 2565 รัฐวิสาหกิจมีกรอบลงทุน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565 จำนวน 338,126 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายสะสม 99,703 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100 ของแผนเบิกจ่ายสะสม หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของกรอบลงทุนทั้งปี สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาการเบิกจ่ายงบฯลงทุนล่าช้า ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นผลมาจากโควิด-19