กกต.ตั้งหน่วยจับผิดโซเชียล รับมือกลโกงเลือกตั้ง ยุค 4.0

ทั้งการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งการเลือกตั้งระดับชาติจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557ตั้งแต่ 2557-2561 โลกเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่ง “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผู้ทำคลอดรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ชี้ว่า ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นโซเชียลมีเดียจะเป็นตัว “ชี้ขาด” สำคัญในการเลือกตั้ง กรธ.จึงเขียนกลไกควบคุมเรื่องโซเชียลมีเดียไว้ ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาตรา 72 ระบุว่า การหาเสียงเลือกตั้งจะกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด แต่ห้ามมิให้ผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งเพื่อประโยชน์หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดภายในสามวันก่อนวันเลือกตั้ง

ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการหารือกับพรรคการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

ในกรณีที่ความปรากฏต่อคณะกรรมการว่า ผู้ใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูลภายในเวลาที่คณะกรรมการกำหนดให้นำค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือก ตั้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรานี้ ไปรวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมืองด้วย

เมื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นปัจจัยหลักในการหาเสียงของนักเลือกตั้ง  “มีชัย” บอกว่า จากนี้ไปอยู่ที่ “ไหวพริบ” กกต.จะตามเล่ห์กลโซเชียลมีเดียหรือไม่

“บุญส่ง น้อยโสภณ” กกต.ด้านการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย จึงจับมือกับสำนักกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ซึ่งมี 23 หน่วยงานในกำกับ หนึ่งในนั้นคือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดย กกต.ขอเชื่อมโยงข้อมูลกับดีเอสไอ ซึ่ง “บุญส่ง” บอกว่า มีประโยชน์ต่อการงานสอบสวนของ กกต.เป็นอย่างยิ่ง เพราะเพียงแค่ใส่ข้อมูลเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ก็จะรู้ทันทีว่าเป้าหมายที่เป็นผู้ต้องสงสัยทุจริตเลือกตั้งนั้น มีรถกี่คัน บ้านกี่หลัง ไปต่างประเทศกี่ครั้ง ทำธุรกรรมการเงินอะไรบ้าง โดย กกต.จะส่งพนักงานสอบสวนของ กกต.ไปอบรมกับดีเอสไอ

นอกจากนี้ ตามร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ก็บัญญัติไว้ว่า การหาเสียงผ่านทางโซเชียลมีเดีย ต้อง “หยุดเคลื่อนไหว” ก่อนการเลือกตั้ง 3 วัน หาก กกต.ตรวจพบสามารถสั่งให้ลบออกได้ ซึ่ง กกต.ได้เตรียมเจ้าหน้าที่ไว้แล้ว

“เรื่องโซเชียลมีเดียไม่ได้ผิดเฉพาะ พ.ร.บ.เลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังรวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” บุญส่งกล่าว

แต่ยอมรับว่ายังมีช่องโหว่ หากผู้ปลุกปั่น ปลุกระดมผ่านโซเชียลมีฐานอยู่ในต่างประเทศ ก็อาจจะเอื้อมไปจัดการไม่ถึง