พระราชทานอภัยโทษ เนื่องใน 28 ก.ค. และ 12 ส.ค. ปล่อยตัว-ลดโทษ

ราชกิจจานุเบกษาฯ-ประกาศราชกิจจาฯ

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ 28 กรกฎาคม, 12 สิงหาคม 2565 ประกาศเกณฑ์ปล่อยตัว-ลดโทษผู้ต้องหาชั้นดีถึงดีเยี่ยม-คดียาเสพติดและทุจริต นักโทษประหารได้รับโทษแล้ว 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 8 ปี ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต อายุ 70 ปีขึ้นไป ลดโทษเป็นพิเศษ 1 ใน 5

วันที่ 12 สิงหาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ. 2565

ใจความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยทรงมีพระราชดำริเห็นว่า ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

มาตรา 6 กำหนด ผู้ต้องโทษ ดังต่อไปนี้ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป ได้แก่ 1.ผู้ต้องกักขัง ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด และยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ และ 2.ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ

มาตรา 7 ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลง 1 ใน 3 เว้นแต่ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติเป็นผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 8 เช่น เป็นคนพิการตาบอดทั้งสองข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้งสองข้าง เป็นคนเจ็บด้วยโรคอัมพาต โรคสมองเสื่อม โรคจิต โรคมะเร็งระยะสุดท้าย โรคเอดส์

มาตรา 8 นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป 1.ผู้ต้องโทษจำคุก ไม่ว่าในกรณีความผิดเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และ 1.ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา 9 นักโทษเด็ดขาดซึ่งมิได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปตามมาตรา 8 ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เช่น 1.ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุก 50 ปีแล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้ ชั้นเยี่ยม 1 ใน 4 ชั้นดีมาก 1 ใน 5 ชั้นดี 1 ใน 6

2.ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาด

3.ผู้ต้องโทษจำคุกเพราะความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ไม่ว่าจะมีความผิดร่วมด้วยหรือไม่ ให้ลดโทษจากกำหนดโทษลง 2 ใน 3 เฉพาะความผิดโดยประมาท

มาตรา 10 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังนี้

1.ผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุก 50 ปีแล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้น ชั้นเยี่ยม 1 ใน 5 ชั้นดีมาก 1 ใน 6 ชั้นดี 1 ใน 7

2.ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมาย

มาตรา 11 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกไม่เกิน 8 ปี ในความผิดฐานผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากกำหนดโทษตามลำดับชั้น ดังต่อไปนี้ ชั้นเยี่ยม 1 ใน 6 ชั้นดีมาก 1 ใน 7 ชั้นดี 1 ใน 8

มาตรา 12 นักโทษเด็ดขาดต้องโทษคดียาเสพติดตามคำพิพากษาจำคุกเกิน 8 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ 1.ผู้ต้องโทษตลอดชีวิต ให้เปลี่ยนเป็นกำหนดโทษจำคุก 50 ปีแล้วให้ลดโทษตามลำดับชั้น ชั้นเยี่ยม 1 ใน 7 ชั้นดีมาก 1 ใน 8 ชั้นดี 1 ใน 9 และ 2.ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ถึงตลอดชีวิต ให้ลดโทษตามลำดับชั้น

มาตรา 13 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษในความผิดตามมาตรา 147-มาตรา 166 และมาตรา 200-มาตรา 205 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ความผิดกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ

มาตรา 14 นักโทษเด็ดขาดซึ่งมิได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว และเป็นคนที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นพิเศษอีก 1 ใน 5

มาตรา 15 นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมซึ่งเป็นผู้กระทำผิดซ้ำให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจากกำหนดโทษลง 1 ใน 8

มาตรา 16 ภายใต้บังคับมาตรา 18 นักโทษเด็ดขาดดังต่อไปนี้ ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้

(1) นักโทษเด็ดขาดซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษประหารชีวิตที่เคยได้รับพระราชทาน
อภัยโทษแล้ว และได้รับโทษจำคุกมาแล้วยังไม่เกินสิบห้าปี และมิใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม

(2) ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินแปดปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ภายหลังวันที่
พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ใช้บังคับ ในความผิดฐานผลิต นำเข้า หรือส่งออก หรือผลิต นำเข้า หรือส่งออก
เพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือประมวลกฎหมายยาเสพติด

(3) ผู้กระทำความผิดซ้ำและมิใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม

(4) นักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ชั้นต้องปรับปรุง หรือชั้นต้องปรับปรุงมาก

มาตรา 17 นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นพิเศษอีก 1 ปี

มาตรา 18 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษประหารชีวิตให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต สำหรับที่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้วและได้รับโทษจำคุกมาแล้วเกิน 50 ปี และเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ 1 ใน 8 กรณีเคยได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตให้เปลี่ยนเป็นจำคุก 50 ปีแล้วลดโทษลง 1 ใน 8


ทั้งนี้ มาตรา 5 กำหนดว่า มาตรา 6 และมาตรา 18 นักโทษเด็ดขาดซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ไม่ว่ากรณีความผิดเดียวหรือหลายคดี จะต้องได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุด หรือไม่น้อยกว่า 8 ปี แล้วแต่ระยะเวลาใดเป็นคุณมากกว่ากัน กรณีต้องโทษจำคุกหลายคดีให้ถือเอากำหนดโทษในคดีที่มีโทษสูงที่สุดเป็นเกณฑ์