ประชาธิปัตย์ นราพัฒน์ สู้กระแสทักษิณ ปักหมุดเลือกตั้งภาคเหนือ

นราพัฒน์ แก้วทอง

พรรคประชาธิปัตย์ก้าวเข้าสู่ปีที่ 77 ฝ่ามรสุมมาแล้ว 7 ทศวรรษ ขึ้นสูงจุดสูงสุด-ลงสู่จุดต่ำสุด เปลี่ยนหัวหน้าพรรค 8 คน ถือธงเลือกตั้ง 19 ครั้ง เป็นพรรครัฐบาล 7 ครั้ง พรรคฝ่ายค้าน 11 ครั้ง บอยคอตเลือกตั้ง 3 ครั้ง เป็นพรรคต่ำร้อย 13 ครั้ง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นราพัฒน์ แก้วทอง” กรรมการบริหารพรรค-ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประชาธิปัตย์ ในวันที่ปี่กลองการเลือกตั้งดังกระหึ่ม

“นราพัฒน์” รองหัวหน้าพรรค คุมภาคเหนือ ตัดสินใจยื่นใบลาออกจาก ส.ส.ล่วงหน้า-หลังจากลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2566 และกลับไปรับตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งเต็มตัว ฮึดสู้กระแสทักษิณ-เพื่อไทย

ทิ้งเก้าอี้ ส.ส. คัมแบ็กผู้ช่วย รมต.

หลังจากลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะมีโครงการอะไรลงไปขับเคลื่อนในพื้นที่บ้าง ส่วนใหญ่ที่เคยได้รับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรค ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นโครงการ Yong Smart Farmer เกษตรแปลงใหญ่ ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร เช่น ปุ๋ยและปัจจัยการปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะการทำให้ภาคเหนือเป็นศูนย์รวมการกระจายสินค้าร่วมกับกระทรวาพาณิชย์เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องปุ๋ยที่ทำค้างไว้ (โพแทช)

“ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีไม่มีอำนาจหน้าที่อะไร ยกเว้นที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรี เพราะฉะนั้น รัฐมนตรีมอบอะไรเราก็ทำในเรื่องนั้น ทำตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย”

ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ต้องอาศัยฐานมวลชนและฐานสมาชิก วันนี้ในหมวกรองหัวหน้าพรรคพยายามพบประชาชนทุกเขตเลือกตั้ง เชิญชวนประชาชนมาเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ส่งเสริมในการตั้งศูนย์รับเรื่องราว รวบรวมปัญหาและความต้องการในพื้นที่ให้กับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

ประชาธิปัตย์ขับเคลื่อน 3 กลไก หนึ่ง กลไกสภา ผ่าน ส.ส.ของพรรค สอง กลไกผู้บริหาร ที่เป็นรัฐมนตรีของพรรค สาม กลไกสาขาและสมาชิกพรรค ตัวแทนเขตประจำหน่วยเลือกตั้ง เพื่อเชื่อมโยงกับประชาชน ตั้งเป้าหมายให้ประชาธิปัตย์กลับมามีสมาชิกพรรคมากที่สุด เหมือนในอดีต โดยส่งเสริมให้แต่ละเขตมีสมาชิกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5,000-10,000 คน

ตีฐาน พท. ขอ 10 ที่นั่งภาคเหนือ 

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ภาคเหนือได้ ส.ส.มา 1 คน จากจังหวัดตาก การเลือกตั้งครั้งหน้าตั้งเป้าว่าจะได้ ส.ส.เดิมกลับคืนมา 10 กว่าคน ให้เท่ากับการเลือกตั้งในปี 2550 ประมาณ 15 เก้าอี้ ซึ่งนายไพฑูรย์ แก้วทอง (บิดา) เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คุมภาคเหนือ นอกจากนี้จะขยายฐานใหม่ พื้นที่ใหม่ เน้นภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย

“ตอนนี้เรามีผู้สมัครที่ขยันขันแข็งมากในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย ทำงานพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าเชียงใหม่จะตีไข่แตก อาจจะได้ 1-2 เขต ตั้งเป้าหมายว่า จะปักธงได้ที่เชียงใหม่ 2-3 เขต ถึงแม้ว่าจะมีกระแสแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยบ้าง แต่การทำพื้นที่ใกล้ชิดประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ วันนี้ผู้สมัครที่วางตัวไว้ในเชียงใหม่ประมาณ 3-4 เขต ขยันมาก ลงพื้นที่ทุกวัน เจอชาวบ้านทุกวันและขอเปิดรับสมัครเป็นสมาชิกมีกระแสตอบรับเข้ามาทุกวัน ยังเชื่อว่า ด้วยความขยัน ถึงลูกถึงคน ประชาธิปัตย์ไม่แพ้ใคร”

เปิดตัวหน้าใหม่ ชนกระแสทักษิณ 

หลังจากเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาคเหนือตอนล่างที่พิษณุโลกแล้ว เร็ว ๆ นี้จะเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาคเหนือตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ส่งครบ 11 เขต พื้นฐานผสมผสาน มีทั้งอดีตผู้สมัครของพรรค ผู้สมัครหน้าใหม่-คนรุ่นใหม่-คนหนุ่มไฟแรง นายนิคม เชาว์กิตติโสภณ โยกมาจากลำปาง เป็น อดีต ส.ว. อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย และเคยเป็นรองนายก อบจ.เชียงใหม่

ทุกมุม ทุกเวทีมีโอกาส ทุกช่อง ทุกทางเปลี่ยนแปลงได้ วันนี้ประชาชนรับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ผลักดันเรื่องการส่งออก ประกันรายได้ ตอบโจทย์เกษตรกร ขณะเดียวกันต้องใช้คนในพื้นที่ ต้องลงไปจี้ ต้องลงไปติดตาม ต้องลงไปประกบ ต้องลงไปใกล้ชิด ต้องลงไปชี้แจง ถ้ามีทั้ง Air War Ground War ทำให้มีโอกาสช่วงชิงพื้นที่ได้

เฟ้นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

กำลังหาตัว เปิดตัวขุนพลที่เหมาะสมจะมาขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ เข้ามาเป็นแม่ทัพเคลื่อนในเรื่องเศรษฐกิจ แต่จะเป็นใครขออุบไว้ก่อน กำลังเฟ้น กำลังทาบทาม กำลังเจรจา ส่วนนายศุภชัย พานิชภักดิ์ ถ้ายังสนใจก็มีโอกาส เพราะเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ การันตีได้ในฝีไม้ลายมือ

“ท่านหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคคงมีชื่ออยู่ในใจ แต่หลายครั้งที่เราเชิญคนเหล่านี้มา ต้องยอมรับว่า ท่านไม่ใช่นักการเมือง กลัวการเมือง การเมืองมีทั้งของจริง ของปลอม เฟกนิวส์ ป้ายสี ทำให้หลายคนที่เก่ง ๆ อยากเข้ามาช่วยประเทศผ่านพรรคการเมืองกลัว ๆ กล้า ๆ กันเยอะ ไม่มีใครอยากมาเล่นการเมือง ไม่อยากเปลืองตัว เป็นคำพูดของขุนพลเศรษฐกิจหลายท่าน ประเทศไทยมีมือเศรษฐกิจเยอะ แต่ส่วนใหญ่ไม่กล้าลงมาเล่นการเมือง”

คุณสมบัติพื้นฐานอย่างน้อย ๆ ได้ใกล้ชิดอยู่กับพรรคการเมืองมาบ้าง อยากเชิญชวนอย่าไปกลัวการเมือง ถ้าเราบริสุทธิ์ใจ ทำเพื่อบ้านเมือง ทำเพื่อประเทศ จะมีข้อครหาไม่ดีบ้าง เราก็ต้องทำใจยอมรับ แต่ถ้าเรามั่นใจว่าเราบริสุทธิ์ เรามาทำงานเพื่อประเทศชาติจริง ๆ ผมคิดว่า อยู่ได้ ทำได้ และกาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ อย่างน้อยทองแท้ย่อมไม่แพ้ไฟ

ล็อกเป้าโหวตเตอร์ เกษตรกร  

พี่น้องเกษตรกร (คือโหวตเตอร์) เพราะเราทำงานให้กับพี่น้องเกษตรกรเป็นหลัก โดยเฉพาะประกันรายได้ การดูแลพืชผลทางการเกษตร ถึงแม้ราคาพืชผลทางการเกษตรจะไม่เปรี้ยงปร้าง แต่อย่างน้อยก็ไม่เดือดร้อนมากนัก จะเห็นว่า รัฐบาลนี้ไม่มีม็อบเกษตรกรเลย สำหรับคนรุ่นกลาง ๆ ไม่ชอบความขัดแย้ง วันนี้ประชาธิปัตย์ยังเป็นทางออก โดยเฉพาะภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจขณะนี้และในอนาคต

“วิกฤตเศรษฐกิจ 2 ครั้งที่ผ่านมา วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 พรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทและประชาชนเรียกร้องให้เข้ามาเป็นรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหา เพราะฉะนั้น เที่ยวต่อไปที่จะถึงโอกาสที่เราจะต้องเปิดตัวช่วยกษตรกรแล้ว คงต้องเปิดตัวในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เราเชื่อว่า สิ่งที่เราทำไว้ในอดีตพี่น้องอาจจะมามองมาที่ประชาธิปัตย์ อยากให้เราแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ”

สู้กันทุกพรรค เพราะคิดว่ามีดี เพื่อไทยถือว่าเป็นฐานที่มั่นเดิม ก้าวไกลก็ถือว่าเป็นพรรคเกิดใหม่ ขายความใหม่ ขายความเป็นที่พึ่งของคนรุ่นใหม่ พลังประชารัฐขายลุงตู่ ท้ายที่สุด ผมเชื่อว่า จบที่การสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ใครสามารถสื่อสารถึงประชาชนได้มากที่สุด คนนั้นก็มีโอกาส ถ้าสื่อสารกันไม่ได้มากเพียงพอ ปัจจัยที่จะทำให้เปลี่ยนแปลง คือ เรื่องของเงิน ถ้าคนรู้ คนเข้าใจ เงินก็ไม่ตอบโจทย์

นโยบายไม่ลด แลก แจก แถม

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจต้องวางในเรื่องความมั่นคงและยั่งยืน ฐานข้อมูล (big data) จะเป็นข้อมูลสำคัญในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศต่อไป ทิศทางของประเทศต้องชัดเจน ประเทศไทยมีจุดแข็ง คือ การส่งออกและการท่องเที่ยว

“แนวทางของประชาธิปัตย์ คือ นโยบายที่เป็นไปได้และยั่งยืน จะไม่มีลด แลก แจก แถม เกทับกัน ลองไปเช็กดูสิครับ มีใครทำได้ตามที่หาเสียงไว้ได้บ้าง จะให้หมื่นห้า สองหมื่น สามหมื่น จะให้ผู้สูงอายุ 3 พัน 5 พัน ถามจริง ๆ ว่า ถึงเวลาแล้วทำได้ไหม ติดเรื่องระบบงบประมาณ กลายเป็นไปหลอกหาเสียงไว้ พอถึงเวลาก็ติดโน่น ติดนี่”

“เราพูดไม่ได้ ประชาธิปัตย์เป็นพรรคใหญ่ เป็นสถาบันทางการเมือง โกหกตัวเลขไปแล้ว เสนอตัวเลขไปแล้ว ไปไม่ถึง เรารู้สึกผิด โดนตีกลับ เพราะเราคือ สัจจัง เว อมตะวาจา ทำให้เราติดชะงักตรงนี้อยู่เหมือนกัน เพราะเราไม่กล้าโฆษณาเกินจริง เป็นข้อจำกัดให้เราไม่สามารถออกนโยบายหวือหวาเหมือนพรรคอื่นได้ ขณะที่พรรคอื่นอาจจะพูดได้เต็มปากเต็มคำ”

นโยบายประชาธิปัตย์ผูกพันและมั่นคงอยู่กับประเทศ เช่น เรื่องการศึกษา เรียนฟรี นมโรงเรียนก็ยังอยู่ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ก็ยังอยู่กับประเทศจนถึงทุกวันนี้ เรื่องสาธารณสุข ยกระดับอนามัยขึ้นมาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อสม.มีค่าตอบแทนก็ยังอยู่ มีคนมาต่อยอด เกทับด้วยซ้ำไป เบี้ยผู้สูงอายุก็เป็นนโยบายประชาธิปัตย์ การกระจายอำนาจเราเป็นคนริเริ่ม

“การสื่อสารไม่หวือหวาเหมือนการโฆษณาลด แลก แจก แถม เขาก็เลือก โอกาสที่เราจะชนะการเลือกตั้งก็น้อยลง เป็นปัญหาของประชาธิปไตย ของเราไปพูดคนเข้าใจ แต่เรื่องมาร์เก็ตติ้งเราไม่สามารถอิมแพ็กต์ได้ แต่ที่เราทำคือ ความถูกต้อง ความยั่งยืน เป็นนโยบายของประเทศ ไม่ใช่นโยบายของพรรคการเมือง วันนี้การบ้านหนักของพรรคคือ การสื่อสารสิ่งเหล่านี้ให้กับประชาชน”

ปชป.เลือดไหล หนีระบบอาวุโส 

เรียกว่าเลือดไหลคงไม่ใช่ หลายคนมีเป้าหมายในชีวิต เมื่อการเมืองเปลี่ยน เมื่อรัฐธรรมนูญเปลี่ยน เขาก็อยากพัฒนา อยากโตขึ้น อยากใหญ่ขึ้น อยากมีตำแหน่งมากขึ้น เขาก็ต้องมองตัวเองว่า ถ้าอยู่ตรงนี้ประชาธิปัตย์คนเยอะ มีระบบอาวุโส มีหลายเรื่องที่ต้องต่อแถว ต้องเดิน เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดรัฐธรรมนูญแบบนี้ (เลือกตั้งใบเดียว ระบบจัดสรรปันส่วนผสม) พรรคเล็ก ๆ เต็มไปหมด ได้ร่วมรัฐบาล มีตำแหน่งรัฐมนตรี ทำไมต้องรอคิวประชาธิปัตย์ และวันนี้ปัจจัยสำคัญ คือ ทุน ประชาธิปัตย์ทุนน้อย อยู่แล้วใครจะดูแล แล้วจะอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร

“คำว่าเลือดไหล คือ เป็นการตัดสินใจของตัวบุคคลที่จะต้องเติบโตและก้าวหน้าทางการเมือง โดยเขามองว่า จากสถานการณ์ ไม่เหมือนในอดีตขายแบรนด์ ประชาธิปัตย์โด่งดัง ภาคใต้ คนใช้ประชาธิปัตย์เป็นแบรนด์ในการทำ ส.ส. แต่วันนี้มีพรรคมากขึ้น มีรักสงบจบที่ลุงตู่ มีกลุ่มทุนมหาศาล มีกระแสแลนด์สไลด์ เขาก็ตัดสินใจเดินไปตามกระแส โดยที่ตัวเขาจะได้เดินไปสู่ฝั่งฝันที่ต้องการ ไม่ใช่เลือดไหล แต่เป็นสิทธิของเขา แต่ประชาธิปัตย์ก็ยังอยู่ ยังมีรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะประชาธิปัตย์เหมือนโรงเรียน”