‘สมชัย’ชี้ปัญหาคำสั่งคสช.53/60 อาจต้องแก้รัฐธรรมนูญ ม.268 หวั่นพรรคฯจัดลต.ใน 150 วันไม่ทัน

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึงความกังวลใจต่อการบังคับใช้ตามคำสั่งคสช.ที่ 53 /2560 ที่ขยายเวลาการปฏิบัติตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ให้กับพรรคการเมืองว่าอาจจกระทบต่อการเลือกตั้งว่า หากสนช.ลงมติร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ตามกำหนดคือ วันที่ 25-26 มกราคมนี้ และส่งมายังกกต. กรธ. เพื่อขอความเห็นแล้วหากไม่มีหน่วยงานใดติดใจร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะนำไปสู่ขั้นตอนของการประกาศใช้ แต่ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นว่ามีประเด็นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญและมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ผ่าน จะใช้เวลาตามขั้นตอนประมาณ 1 เดือน ก่อนที่จะเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อทูลเกล้า โดยจะมีขั้นตอนของการทูลเกล้าก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมายประมาณ 3 เดือน ดังนั้นถ้าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ในช่วงต้นเดือนเมษายน และร่างพ.ร.ป.การได้มาซึ่งส.ว.มีผลบังคับใช้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ระยะเวลาการจัดการเลือกตั้ง 150 วันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 จะเริ่มนับทันที การเลือกตั้งส.ส.ก็น่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนคงไม่ไปไกลถึงเดือนพฤศจิกายน แต่เมื่อไปพิจารณาคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ที่ผ่อนปรนให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมีการผ่อนปรนให้ยาวไปถึงปลายเดือนกันยายน เป็นระยะเวลาที่ไม่สอดคล้องกับปฏิทินการเลือกตั้ง ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ เตรียมตัวไม่ทัน อาจไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ทางออกอยู่ที่ข้อ 8 ของคำสั่งคสช.ที่ 53 /2560 ที่กำหนดว่าหากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้แล้ว มีปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับคำสั่งคสช.ดังกล่าว ให้คสช.หารือร่วมกับกกต. กรธ. ประธานสนช. และพรรคการเมือง ในการประชุมร่วมดังกล่าวพรรคการเมืองอาจจะยืนยันว่า ดำเนินการตามคำสั่งคสช.53 /2560 ไม่ทัน และการแก้ไขอาจถึงขั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องกรอบการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันไม่ให้มีผลใช้บังคับ

“ผมจึงเห็นว่านี่เป็นจุดอ่อนที่ไม่สอดคล้องกับกรอบเวลา ความกังวลใจนี้อยากให้คนที่มีหน้าที่ไปหาทางแก้ จะแก้อย่างไรก็แล้วแต่อาจจะแก้โดยการแก้รัฐธรรมนูญ หรือเขียนขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งให้ยาวออกไป แทนที่จะบังคับใช้ในทันทีนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งได้ยินแนวทางนี้มาเหมือนกัน แต่ก็ต้องคิดว่าการเขียนลักษณะนี้จะกลายเป็นกฎหมายใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 268 ได้หรือไม่”นายสมชัย กล่าว

ที่มา มติชนออนไลน์