พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 8 ปี ลุ้นรอดคดีที่ 5 ในศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องเผชิญชะตากรรมในศาลรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่ 5

สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องการครบ 8 ปี ถูกตีความได้หลายแบบ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ชี้ชะตา อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกนำไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมาแล้ว 4 ครั้งก่อนหน้านี้

คดีแรก ถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ตามรัฐธรรมนูญ

ครั้งที่ 1 เมื่อ 27 สิงหาคม 2562 ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติให้ส่งเรื่องที่นายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน มีผู้ร้องว่า นายกฯ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 นั้น เป็นการเข้าข่ายการขัดรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่

12 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ “ไม่รับคำร้อง”

คดีที่ 2 ตำแหน่งอดีต คสช. “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”

ครั้งที่ 2 เมื่อ 28 มิถุนายน 2562 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมกันเข้าชื่อ 101 คน ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าเข้าข่ายเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่ง

18 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ถือว่าเป็น
“เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”

คดีที่ 3 บ้านพักหลวงผลประโยชน์ทับซ้อน

ครั้งที่ 3 เมื่อ 9 มีนาคม 2563 “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ กรณีอาศัยบ้านพักหลวง

2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปี

คดีที่ 4 ใช้อำนาจขยายสัมปทานรถไฟฟ้า

ครั้งที่ 4 เมื่อ 8 เมษายน 2564 ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรค และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

โดยคำร้องดังกล่าวมีการเข้าชื่อกันของ ส.ส.จำนวน 75 คน นายประเสริฐกล่าวว่า มีข้อมูลเพียงพอที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

เพื่อขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ ม.170 (5) ประกอบมาตรา 184 (2) และมาตรา 186 หรือไม่ สืบเนื่องจากภายหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกคำสั่งมาตรา 44 เพื่อขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เอกชนออกไปอีก 40 ปีนั้น ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง หรือไม่

1 กรกฎาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง

คดีที่ 5 ลุ้นผ่านวาระ นายกฯ8ปี

และครั้งที่ 5 คือ ครั้งล่าสุด ที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องลุ้นกันตัวโก่ง จากปมนั่งเก้าอี้นายกฯครบ 8 ปี ทั้งนี้ ตามคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยของพรรคฝ่ายค้าน พิเศษกว่าคำร้องของ “ศรีสุวรรณ” โดยฝ่ายค้านต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “หยุดปฏิบัติหน้าที่” ของ พล.อ.ประยุทธ์ไปด้วย

คำร้องของ ส.ส. ฝ่ายค้านส่งถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ให้ตีความตามมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยฝ่ายค้านเห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 นับจากวันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2557 หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

นอกจากนี้ ฝ่ายค้านยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พล.อ. ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในการใช้อำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน

มีการคาดการณ์จาก “กูรูกฎหมาย” ฝ่ายค้านว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่น่าจะ “ตัดสิน” ช้า เหมือนหลาย ๆ กรณีที่ผ่านมา อย่างเร็วอาจใช้เวลา 2 สัปดาห์ก็เห็นหน้า-เห็นหลังกันแล้ว