พ.ร.บ.โรคติดต่อใหม่คุมเหตุฉุกเฉิน ล็อกสเป็กกรรมการโควิด-ความมั่นคง

รอง

1 ตุลาคม 2565 จะเป็นวันสิ้นสุดการใช้กฎหมายพิเศษ-เริ่มต้นการใช้กฎหมายปกติ มีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี เป็นระเบิดพลีชีพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลดระดับเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็น-สภาความมั่นคงแห่งชาติ กลั่นกรองขั้นสุดท้าย

ปรับโครงสร้างจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) เป็นศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข

ปฏิเสธได้ยากว่า การประกาศขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปถึง 19 ครั้ง ถูกใช้ “คาบลูกคาบดอก” กับการปรามกลุ่มผู้ชุมนุมขั้วตรงข้ามรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า “คนทั่วไปไม่เดือดร้อน”

นับตั้งวันที่ 26 มีนาคม 2563 ศบค.ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้ว 19 ครั้ง กลายเป็นยาสามัญประจำทำเนียบรัฐบาล

หากผ่าโครงสร้าง ร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อแห่งชาติฉบับใหม่ ที่จะมาใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูก “ติดหนวด” ให้มีหน้าที่-อำนาจเข้มข้นมากขึ้น อาทิ ให้นายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของตน และให้รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและออกกฎกระทรวง

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รมว.สาธารณสุขเป็นรองประธาน และ (ถ้ามี) รมช.สาธารณสุขเป็นรองประธาน กรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงต่างประเทศ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ปลัดกระทรวงสาธาณสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมอนามัย อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และปลัดกรุงเทพมหานคร

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านสาธารณสุข การควบคุมโรค และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ ไม่เกิน 8 คน โดยในจำนวนนี้ต้องแต่งตั้งจากผู้แทนสภากาชาดไทย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษา และผู้ซึ่งทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่เป็นการแสวงหาผลกำไรและดำเนินกิจกรรมด้านการสาธารณสุข อย่างน้อยประเภทและหนึ่งคน

ทั้งนี้ ให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นกรรมการและเลขานุการ และมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการของกรมควบคุมโรคจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

กำหนดให้มีศูนย์ EOC ในแต่ละระดับ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดมีความเหมาะสม ทันสถานการณ์และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข “ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรหรือในบางเขตบางท้องที่ได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์” หมวด 16/1 มาตรา 44/2 ระบุ

อีกทั้งให้ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสามเดือนนับแต่วันประกาศ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศขยายระยะเวลาการใช้บังคับออกไปอีกเป็นคราว คราวละไม่เกินสามเดือน

เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขแล้ว ให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ อาทิ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง รมว.สาธารณสุข เป็นรองประธานกรรมการ คนที่สอง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นควรแต่งตั้งกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ไม่เกินสี่คนเป็นกรรมการ

มาตรา 44/4 คณะกรรมการยังมีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรการการจัดการเกี่ยวกับสถานที่ ทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ การชุมนุม หรือการทำกิจกรรม เป็นการชั่วคราว และในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะสั่งให้ประชาชนในทุกพื้นที่หรือบางพื้นที่งดประกอบกิจการบางชนิดที่อาจจะเป็นแหล่ง หรือก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง หรือห้ามให้อยู่ร่วมกันในที่ประชุมหรือชุมนุมเกินจำนวนที่กำหนด โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการประชุมหรือการชุมนุมไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้

แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษ หมวด 9 เช่น ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรีที่สั่งตามมาตรา 9/1 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ไม่ปฏิบัติตาม

ผู้ใดล่วงรู้ความลับหรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 10 หรือมาตรา 44/9 วรรคสามหรือวรรคสี่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือหนังสือเรียกที่ออกตามมาตรา 18 มาตรา 22 (6) มาตรา 28 (6) หรือมาตรา 45 (1) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

โครงสร้างกฎหมายโรคติดต่อฉบับใหม่ ไม่ต่างอะไรกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน