ไอลอว์ เปิด 50 รายชื่อ ส.ว. ตั้งเครือญาติตัวเอง เป็นคณะทำงาน

iLaw เปิดชื่อ 50 ส.ว.ตั้งเครือญาติตัวเองเป็นคณะทำงาน

ไอลอว์ เปิด 50 รายชื่อ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตั้งเครือญาติตัวเอง เป็นคณะทำงาน

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี ว่า ในขณะที่รัฐสภากำลังพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี หรือมาตรา 272 ชวนย้อนดูความสัมพันธ์ทางสายเลือดที่นำมาสู่ผลประโยชน์ส่วนตนของเหล่า ส.ว.​ อีกครั้ง

ต้นทุนของการมีวุฒิสภาแต่งตั้งไม่ได้มีเพียงการต้องจ่ายค่าตอบแทนหลักแสนต่อเดือนให้กับสมาชิกทั้ง 250 คนเท่านั้น แต่งบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชนยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของ “คณะทำงาน” ของ ส.ว. แต่ละคนด้วย เมื่อได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ส.ว. แต่ละคนจะมีสิทธิในการแต่งตั้งคณะทำงานของตัวเองเข้ามาช่วยงานได้สูงสุดแปดคน โดยแต่ละคนก็จะได้รับค่าตอบแทนรายเดือนหลักหมื่นบาท ยังไม่นับรวมสวัสดิการอื่น ๆ อีกมากมาย

จากข้อมูลคณะทำงาน ส.ว. ทั้ง 250 คน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 พบว่า ส.ว. มีการแต่งตั้งเครือญาติของตัวเองเข้ามาเป็นคณะทำงานมากกว่าครึ่งร้อย ไม่ว่าจะผ่านการแต่งตั้งทางตรง คือแต่งตั้งให้ญาติเข้ามาเป็นคณะทำงานของตัวเอง หรือการนำญาติของตัวเองไป “ฝากเลี้ยง” กับ ส.ว. คนอื่น

รวมถึงยังพบคนในเครื่องแบบทั้งทหารและตำรวจอีกกว่าครึ่งพัน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับ คสช. และนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลอีกหลากหลายคน เรียกได้ว่าการแต่งตั้งคนใกล้ชิดเพื่อมารับค่าตอบแทนรายเดือนยังคงทำเป็น “อุตสาหกรรม” ขนาดใหญ่ไม่ต่างจากในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพียงแต่ซ่อนรูปอยู่ใน ส.ว.แต่งตั้ง ที่เครือญาติคนรู้จักยังได้ประโยชน์อย่างมหาศาลอยู่เช่นเดิม

คณะทำงาน ส.ว. มีได้สูงสุดแปดคน รับเงินเดือนหลักหมื่น

ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ส.ว. จะได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 71,230 บาท และได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท ซึ่งเป็นค่าตอบแทนจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ค่าตอบแทนนี้ยังไม่รวมส่วนที่เป็นเบี้ยประชุมในคณะกรรมาธิการ เบี้ยเลี้ยงในกรณีที่เดินทางไปนอกสถานที่ และสวัสดิการอื่น ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล นอกจากนี้ ส.ว. จะยังสามารถแต่งตั้งคณะทำงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้อีกสามตำแหน่งรวมทั้งหมดแปดคน

  1. ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว มีได้ 1 คน รับเงินเดือน 24,000 บาทต่อคน
  2. ผู้ชำนาญการประจำตัว มีได้ 2 คน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน
  3. ผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัว มีได้ 5 คน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน

ทั้งนี้ ส.ว. อาจจะแต่งตั้งให้ครบทุกตำแหน่งหรือไม่ครบทั้งแปดตำแหน่งก็ได้ ส่วนประธานและรองประธานวุฒิสภานั้นจะได้รับเงินประจำตำแหน่งเพิ่มขึ้นจาก ส.ว. ปกติเล็กน้อย และสามารถตั้งคณะทำงานการเมืองและข้าราชการฝ่ายการเมืองเพิ่มได้

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงเดือนพฤษภาคม 2565 หรือภายในระยะเวลาสามปีที่ ส.ว.แต่งตั้งทั้ง 250 คนเข้ารับตำแหน่งในวุฒิสภา มีการจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนให้กับ ส.ว. และคณะทำงานไปแล้วอย่างน้อย 2,230,569,000 บาท

เป็นลูกหลานก็ต้องช่วยกัน ส.ว. ตั้ง 50 เครือญาติตัวเองเป็นคณะทำงาน

ไอลอว์ได้ทำการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 เพื่อขอข้อมูลล่าสุดของรายชื่อผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัวของ ส.ว. ทุกคนจากสำนักเลขาธิการวุฒิสภา แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยสำนักเลขาธิการอ้างว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่ถูกเปิดเผยเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีข้อมูลล่าสุด แต่ไอลอว์ก็ได้รับเอกสารคณะทำงานของ ส.ว. ทั้ง 250 คน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 และพบสิ่งที่น่าสนใจหลายประการ

จากข้อมูลคณะทำงานของ ส.ว. ทั้ง 250 คน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 มีคณะทำงานของ ส.ว. ทั้งหมด 1,830 คน พบว่ามีจำนวน 50 คนที่เป็นญาติหรือมีนามสกุลเดียวกับ ส.ว. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ ขณะนั้น โดยมีทั้ง ส.ว. ที่แต่งตั้งญาติเป็นคณะทำงานของตัวเองโดยตรง และยังมีกรณีที่ “ฝากเลี้ยง” คือ ส.ว. คนอื่นแต่งตั้งญาติของ ส.ว. อีกคนเป็นคณะทำงานด้วย รายชื่อของ ส.ว. ที่แต่งตั้งญาติของตนเองและ ส.ว. คนอื่นเป็นคณะทำงานของตัวเองมีดังนี้

อ่านรายละเอียดทั้งหมด ที่นี่


อ่านข่าวเกี่ยวข้อง