กมธ.พากันหลบ ไม่พร้อมชี้แจงเหตุเลื่อนเลือกตั้ง 90 วัน บอก “บางอย่างพูดออกไปไม่ได้”

กมธ.ส.ส. ดาหน้าหลบ ไม่พร้อมแจงสาเหตุเลื่อนเลือกตั้ง 90 วัน “กิตติศักดิ์” ชี้ เหตุผลบางอย่างก็พูดทั้งหมดไม่ได้ ยัน ยื้อเวลาไปสนช.ก็ไม่ได้ประโยชน์

เมื่อวันที่ 21 มกราคม นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ขณะนี้พรรคการเมืองต่างออกมาระบุว่า การที่คณะกรรมาธิการฯ ยืดเวลาเลือกตั้งไป 90 วันนั้น เป็นเพราะได้รับคำสั่งมาจากผู้มีอำนาจ ตนขอเรียนว่า นักการเมืองเขามีสิทธิ์ที่จะคิดเช่นนั้น และคณะกรรมาธิการฯ ก็ไม่สามารถไปห้ามความคิดของพรรคการเมืองได้

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯทำหน้าที่พิจารณากฎหมายเราจะรู้และทราบข้อเท็จจริงอย่างดีที่สุดว่า การกำหนดวันเวลา หรือ การเขียนกฎหมายดังกล่าว มีความจำเป็น หรือ เหตุผลอะไร จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด แต่อาจจะมีข้อห่วงกังวลอยู่บ้างเกี่ยวกับเรื่องของข้อกฎหมายที่อาจจะไปขัด หรือลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น

“เหตุผลบางอย่างที่มีความจำเป็นก็ไม่สามารถพูดออกไปได้ทั้งหมด แต่อยากให้ทราบว่าที่บอกว่า การกำหนด 90 วันนั้น เพราะ สนช.คิดจะยืดอายุการทำงานของตัวเอง ไปอีก 2-3 เดือน ผมอยากบอกตามตรงว่า การทำงานสนช. แค่ยืดเวลาไปซัก 2-3 เดือน ก็ไม่มีผลประโยชน์อะไรต่อพวกเราเลย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทำเพื่อยืดเวลาตัวเอง” นายกิตติศักดิ์ กล่าว

ด้าน นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เรื่องที่นักการเมืองกล่าวอ้างนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของตนที่จะต้องชี้แจงข้อเท็จจริง เพราะตนทำหน้าที่โฆษกคณะกรรมาธิการฯมีหน้าที่ชี้แจงเพียงมติในที่ประชุมเท่านั้น และในวันที่ 22 มกราคมนี้เวลา 10.00 น. จะมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับพ.ร.ป.ส.ส.ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการโทรศัพท์สอบถามคณะกรรมาธิการฯ อาทิ นายวิทยา ผิวผ่อง ประธานคณะกรรมาธิการฯ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ รองประธานคณะกรรมการฯ พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร คณะกรรมาธิการ แต่ก็ไม่มีท่านใดพร้อมที่จะชี้แจงประเด็นดังกล่าว แม้กระทั่งนายชาญวิทย์ วสยางกูร คณะกรรมาธิการฯ ยังระบุว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมาทตนได้ลาการประชุม จึงเพิ่งทราบมติคณะกรรมการธิการฯ ในการกำหนด เรื่องวันเลือกตั้ง 90 วันจากสื่อมวลชน จึงไม่สามารถมาให้ข้อเท็จจริงใดๆได้

 


ที่มา มติชนออนไลน์