โรคเลื่อน…”ภูมิธรรม” สรุปวิกฤต4ประการคสช.ก่อขึ้น ชี้เลื่อนเลือกตั้ง-ทุ่มงบ ชิงความได้เปรียบ

วันนี้ (21 มกราคม) นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่เฝ้าติดตามการทำงานของรัฐบาลและกลุ่มผู้มีอำนาจจาก คสช. เห็นว่ากลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบันกำลังสร้าง 4 วิกฤต ให้เกิดขึ้น คือ

​1. “วิกฤต ศรัทธาผู้นำ” จาก “โรคเลื่อน” ผู้นำที่พูดจาไร้หลักการ เลื่อนลอย เปลี่ยนแปลงตามอำเภอใจของตนตลอดเวลา เป็นการส่งสารต่อสาธารณะอย่างไร้ความรับผิดชอบ ยึดอำนาจและอารมณ์ตนเองเป็นใหญ่ ไม่มีหลักการเหตุผลรองรับ และขั้นร้ายแรงเวลานี้ คือการใช้กำลังขยายอำนาจ ควบคุมและคุกคามการแสดงออกตามสิทธิ เสรีภาพของประชาชน วิกฤตจากโรคเลื่อนจากโรดแมป ที่ประกาศต่อคนไทยและโลก ที่ผัดผ่อนตามอำเภอใจ จนบัดนี้เข้า 4 ปีแล้ว ยังไม่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนตามวลีที่บอกว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” นั้น กลับแสดงถึงการดิ้นรนที่จะขยายการสืบทอดอำนาจของตนออกไปอย่างไม่ละอาย วิกฤตดังกล่าวถือเป็นความล้มละลายของภาวะผู้นำ ในความน่าเชื่อถือ และยิ่งสะท้อนถึง ภาวะวิกฤตศรัทธา ที่จะเป็นประวัติศาสตร์ที่ดำมืดในชีวิตของคณะบุคคลชุดนี้เอง

2. “วิกฤตความโปร่งใส”…เป็นวิกฤติที่เกิดจากทีมงาน คนรอบข้างและเครือญาติสนิทของผู้นำ ​ความเสื่อมทรุดทางด้านความโปร่งใส ของคณะผู้มีอำนาจและเครือญาติ พวกพ้อง เป็นเรื่องที่สังคมได้รับรู้มาโดยตลอดตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจในระยะแรก จนขยายมากขึ้นในปัจจุบัน ข้อคลางแคลงใจกรณีอุทยานราชภักดิ์/โครงการรถเมล์เอ็นจีวี/โครงการที่เกี่ยวข้องกับ อผศ./เรื่องเรือเหาะ-เครื่องมือ GT 200 / การเอาที่ดินสาธารณะไปให้เอกชนเช่าหาประโยชน์/ การที่เครือญาตินายกฯใช้สถานที่ราชการไปจดทะเบียนบริษัทและประมูลงานของราชการที่บิดาของตนเป็นหัวหน้าหน่วยราชการนั้นๆ

หรือสุดท้ายที่กำลังเป็นข่าวฮือฮาดังระดับโลกคือเรื่อง “แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน” ที่มีมูลค่าหลายสิบล้านบาท เมื่อถูกสังคมตั้งคำถาม ก็ไม่สามารถให้เหตุผลที่ยืนยันความโปร่งใสของเจ้าของเรื่องได้ ยิ่งปกปิด ยิ่งไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ยิ่งสะท้อนวิกฤตความโปร่งใสและเรื่องราวต่าง ๆ นี้ จะกลายเป็นอาวุธทำร้ายศักดิ์ศรีของท่าน เครือญาติและทีมงานใกล้ชิดเอง การให้เหตุผลที่มักง่ายและขาดสามัญสำนึกเป็นลักษณะของผู้นำที่ดูถูกประชาชน ความโปร่งใสเป็นเหตุผลหลักที่นำคณะท่านเข้ามาบริหารจัดการประเทศ แต่ยิ่งนานไปยิ่งมีปรากฏการณ์ที่ขยาย “ความไม่โปร่งใส” ครึกโครมมากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา

​3. “ วิกฤตหลักการ”… ใช้ “หลักกู”แทน ปกครองโดย “อำเภอใจ” แทนหลัก “นิติธรรม” และเลือกใช้หลัก “กฏหมาย” แบบเลือกปฏิบัติ ​วิกฤตหลักการ เป็นการใช้อำนาจปกครองประเทศและผู้เห็นต่าง โดยอ้างหลักการและหลักกฏหมาย ซึ่งถูกสร้างขึ้นและนำมาใช้อย่างบิดเบือน เพื่อตอบสนองอำเภอใจของผู้นำ การใช้…”อภินิหารทางกฏหมาย” ซึ่งแท้ที่จริงคือการใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือ กำราบผู้ที่เป็นภัยต่ออำนาจของตน การใช้เล่ห์ เพทุบาย สมคบคิดกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกับกลุ่มผู้นำ เพื่อหาช่องทางสืบต่ออำนาจให้ยาวนานออกไป …ถือเป็นการบิดเบือนกฏหมายให้เป็นไปตามอำเภอใจของผู้นำ บิดเบือนหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ของพวกพ้องตนอย่างน่าละอาย

​4. “วิกฤติผลงาน” เพื่อให้คนจนหมดทั้งประเทศ ​ผลงานที่ออกมาสู่สายตาสาธารณชน ที่รัฐบาลพยายามใช้ทุกช่องทางโฆษณาว่าประสบความสำเร็จน่าพึงพอใจ แต่มีนักวิชาการและสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อย ที่สะท้อนด้านที่เป็นความล้มเหลวของคณะผู้มีอำนาจ โดยวิจารณ์ว่า ผลงานที่ออกมาอำนวยความสุขและผลประโยชน์ให้แก่เครือข่ายของชนชั้นนำ บริษัทชั้นนำใหญ่ๆ / เครือญาติและพวกพ้องของกลุ่มผู้มีอำนาจมากกว่าเป็นประโยชน์ของประชาชน คนชั้นกลางและคนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ผลงานจากจากฝีมือของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล นำประชาชนไปสู่เส้นทางที่ กำลังจะยากจนหมดประเทศ มากกว่า​การโฆษณา ประชาสัมพันธ์เพื่อผลักดันโครงการประชารัฐ อย่างแข็งขัน ซึ่งแท้จริงแล้วคือโครงการที่อำนวยประโยชน์ให้แก่กลุ่มธุรกิจใหญ่และเครือข่ายชนชั้นนำที่ช่วยกันโอบอุ้มกลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบัน การใช้กลไกอำนาจรัฐและงบประมาณของรัฐ เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความนิยม เพื่อเอื้อประโยชน์โดยมุ่งหวังสร้างความนิยมเสมือนเป็นการใช้งบหลวงและกลไกรัฐมาหาเสียงล่วงหน้า การจัดตั้งกลุ่มพวกพ้องเพื่ออำนวยประโยชน์ในการสืบทอดอำนาจของฝ่ายตน เป็นการใช้ความได้เปรียบของกลไกต่างๆ เป็นบันไดเพื่อการสืบทอดอำนาจของคณะผู้บริหารปัจจุบัน และเรื่องราวทั้งหมดนี้อยู่ในสายตาและความทรงจำของประชาชนอย่างแน่นอน

​บทสรุป : วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 4 ประการ…. นำไปสู่ความเสื่อมถอยของกลุ่มอำนาจที่ไม่ได้มาจากความเห็นชอบของประชาชน และกำลังเป็นปัจจัยบ่อนเซาะอิทธิพลของพวกตนลงทุกขณะ ความรับรู้ของประชาชนกำลังรวมศูนย์เพื่อตั้งคำถามต่อการยึดอำนาจเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้องมากกว่า วันนี้นอกจากพวกท่าน พยายามปกป้องผลประโยชน์แห่งพวกพ้องตนด้วยการทำลายกลไกการตรวจสอบขององค์กรอิสระต่างๆที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ ด้วยการเลือก set zero บางองค์กร หรือต่ออายุกรรมการองค์กรอิสระในองค์กร ทั้งที่อาจจะมีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ให้ทำหน้าที่ต่อไปได้ทั้งๆที่ขัดรัฐธรรมนูญ

​ผมตั้งข้อสังเกตว่า การที่เกิด “โรคเลื่อน” มาโดยตลอดในการกำกับทิศทางให้ประเทศไม่สามารถก้าวเดินต่อไปได้ เป็นเพราะเหตุผล ดังนี้

1)รองบประมาณ …ที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลผลักดันงบจำนวนมหาศาล หวังให้เกิดผลสร้างความพึงพอใจกับประชาชน เพื่อจะเป็นฐานรองรับความนิยมของพวกตนในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

2)รอการแต่งตั้งโยกย้ายเรียบร้อย…ให้ได้คนของตนเพื่อไปสร้างความมั่นคงให้กับฐานอำนาจตน และใช้เป็นกลไกที่อำนวยประโยชน์ให้การสืบทอดอำนาจของตนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3)รอการแต่งตัวของพรรคใหม่ที่เป็นพรรคของตนหรือพรรคสำรอง ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนพวกตน ให้มีความพร้อมที่จะชิงความได้เปรียบพรรคเก่า

วิกฤตทั้งหลายทั้งมวล ทำให้สังคมเห็นเจตนาที่เปิดเผยชัดเจนขึ้น เรื่องความต้องการในการสืบทอดอำนาจ ของคณะผู้มีอำนาจในปัจจุบัน และที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงสถานะและบทบาทของกลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบันจาก “คนกลาง”ที่อ้างว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ประเทศ กลายเป็น “ผู้เล่นหลัก” ที่ต้องการเข้ามาสืบต่ออำนาจ โดยพยายามชิงความได้เปรียบ ทั้งงบประมาณหลวง/กลไกอำนาจรัฐทุกส่วน/กติกาและกฏหมายที่ใช้ควบคุมการเลือกตั้ง การใช้วาทกรรมเพื่อให้ความหมายและสร้างความชอบธรรมต่อระบบต่างๆที่ตนสร้างขึ้น รวมถึงชี้ให้สังคมเชื่อว่าความล้มเหลวและปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นล้วนเป็นปัญหาที่สื่อมวลชนและพรรคการเมืองต่าง ๆ กระทำไปเพื่อหวังโค่นล้มรัฐบาล หาได้เป็นความล้มเหลวจากการบริหารที่ผิดพลาดของตน

​สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถูกหรือผิด ทุกอย่างอยู่ในสายตาประชาชน วันนี้เราไม่อาจพึ่งพาการตรวจสอบใด ๆ ได้…. บทบาทและกระบวนการตรวจสอบจากกลไกของภาคประชาชน กำลังทำงานอย่างเข้มแข็งเพื่อแก้วิกฤตจากความคิด และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเอง

 


ที่มา มติชนออนไลน์