คสช.ปิดล็อก “เงินกู้ประชานิยม” เพิ่มกฎเหล็กงบประมาณการเมือง

หนึ่งในชนวนที่พาพรรคเพื่อไทย ประสบอุบัติเหตุการเมือง ก่อนถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะปฏิบัติการ “เข้าควบคุมอำนาจ” 22 พฤษภาคม 2557 นอกเหนือจาก ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการคมนาคม ขนส่งของประเทศ พ.ศ. …เพื่อกำเนิดโครงการเมกะโปรเจ็กต์ มูลค่า 2 ล้านล้าน

ทว่าถูกศาลรัฐธรรมนูญ “ตีตก”

ครั้น คสช.ยึดอำนาจ ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 35 (7) (8) จึงกำหนด “กฎเหล็ก” ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าจะต้องมีกลไกป้องกันการบริหารประเทศที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง และต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า

ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” และคณะ เขียนกลไกป้องกันการใช้จ่ายเงินภาษีประชาชนให้คุ้มค่า ทุกบาท ทุกสตางค์ ถึงขั้นกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อาทิ มาตรา 62 ว่า “รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และจัดระบบภาษี ให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม”

จึงต้องมี “กฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ” เพื่อบังคับให้การบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ในมาตรา 164 (2) ดังนั้น องคาพยพของ พล.อ.ประยุทธ์ ในแม่น้ำ 5 สาย จึงช่วยกันเข็น ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. … จนผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเมื่อ 18 ม.ค. 2561 ด้วยมติเสียงข้างมาก 158 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 9

“คำนูณ สิทธิสมาน” หนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วินัย การเงินการคลังของรัฐ อธิบายว่า เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญไว้สูงเทียบเท่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่กำหนดไว้ตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ 2550 แต่ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลก็ไม่เคยออกกฎหมายดังกล่าว ทั้งขั้ว ประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย

เมื่อเปิดกฎหมายฉบับนี้ บัญญัติให้มีคณะกรรมการที่คุมวินัยการเงินการคลังของรัฐ ไว้ในมาตรา 10 คือให้มี “คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ”

มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่ อาทิ กำหนดวินัยการเงินการคลังเพิ่มเติมจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย-จัดทำและทบทวนแผนการคลังระยะปานกลาง-กำหนดสัดส่วน งบประมาณรายจ่ายงบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

มาตรา 37 วรรคสอง ระบุว่า การก่อหนี้ผูกพันและการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่หรือการดำเนินงานต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส คุ้มค่าและประหยัด โดยพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่ได้รับ ผลสัมฤทธิ์ และประสิทธิภาพของหน่วยงานของรัฐ

มาตรา 53 ที่บัญญัติเรื่องการ “กู้เงินนอกงบประมาณ” แก้ปัญหาที่รัฐบาลเลือกตั้ง “กู้เงิน” ไปใช้ในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ในอดีต โดยระบุว่า

“การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหา “วิกฤต” ของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน พร้อมกับ ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน-ระยะเวลาในการกู้เงิน-แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้


“ศิริพล ยอดเมืองเจริญ” รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ได้ปิดจุดที่เป็นปัญหาในอดีตไว้พอสมควร ที่ในอดีตจะมีการขอกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการที่ใช้เงินหลายล้านบาท ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงมีกรอบว่า การจะตรากฎหมายขอกู้เงินได้ต่อเมื่อเกิดวิกฤตที่มีความต่อเนื่องจริง ๆ เท่านั้น ที่ไม่ใช่วิกฤตปกติ เช่น น้ำท่วม ภัยพิบัติที่ไม่ได้คาดการณ์กฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ทำให้โครงการประชานิยมในอดีต “เกิดยากแสนยาก”