กมธ.กม.ส.ส.ยัน ขยายเวลาบังคับใช้กม.ไม่ได้รับไฟเขียวจากใคร แจงคนนอนหลับทับสิทธิ์อดรับราชการรัฐสภา-ขรก.การเมือง กำหนดค่าใช้จ่ายหาเสียงเท่ากันทุกพรรค พร้อมขยายเวลาหย่อนบัตรตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 มกราคม ที่รัฐสภา นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า เหตุผลที่คณะกรรมาธิการฯ แก้ไขระยะเวลาของการบังคับใช้กฎหมายเมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 53/2560 ออกมา ดังนั้น ถ้าให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ทันทีจะทำให้ต้องเริ่มนับ 150 วันไปสู่การเลือกตั้งทันที ซึ่งถ้ายังไม่ได้เปิดกติกาให้พรรคการเมืองได้ดำเนินการก็จะเป็นผลเสียต่อพรรคการเมือง โดยเฉพาะหาเรื่องการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเรื่องเวลาในการทำไพรมารีโหวต ที่ผ่านมาเคยมีกฎหมายที่ไม่ได้มีผลบังคับใช้ทันทีที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา แต่กำหนดระยะเวลาให้มีผลบังคับใช้ภายหลัง เช่น พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ที่กำหนดว่า เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 240 วัน เป็นต้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลเคยประกาศใช้พระราชกำหนดเพื่อแก้ไขจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันทีที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการได้ แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยืนยันกับคณะรัฐมนตรีแล้วว่าพร้อมดำเนินการทันทีก็ตาม จึงมีการใช้มาตรา 44 ขยายเวลาของการให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ออกไป ทั้งนี้ การดำเนินการของกรรมาธิการฯ เป็นไปด้วยเหตุผล ไม่ใช่เรื่องไปรับอะไรมา ยืนยันว่าไม่มีไฟเขียวอะไรจากคสช. ส่วนประเด็นทางการเมืองนั้นคงต้องไปถามกับคนที่รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม
นายทวีศักดิ์กล่าวต่อว่า นอกจากสาระสำคัญในมาตรา 2 ที่กรรมาธิการฯ แก้ไขแล้ว ยังมีสาระสำคัญในมาตราอื่นๆ ที่ กรรมาธิการฯ ปรับปรุงแก้ไขจากร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ด้วย อาทิ มาตรา 15 กรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ให้สามารถจัดการเลือกตั้งภายในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงคะแนน 2 ใน 3 ของที่มีอยู่ทั้งหมด หรือตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปจากจำนวน 7 คน กำหนดให้มีวันเลือกตั้งใหม่ จากเดิมที่ กรธ.เสนอมาให้ใช้เสียงกกต. 2 ใน 3 เท่านั้น และ มาตรา 35 การเพิ่มการถูกจำกัดสิทธิแก่ผู้ ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง กรธ.เสนอว่าไม่ให้มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ส. การตัดสิทธิ์การลงสมัครส.ส. และสภาท้องถิ่น การตัดสิทธิ์ลงสมัครกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนั้น เพิ่มเป็นการตัดสิทธิ์การสมัครเข้ารับราชการ พนักงาน ลูกจ้างสังกัดรัฐสภา การตัดสิทธิ์การได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง การตัดสิทธิ์การได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้บริหาร ผู้ช่วย และที่ปรึกษาผู้บริหารท้ องถิ่น โดยมีกำหนดการตัดสิทธิ์เป็นเวลา 2 ปี
นายทวีศักดิ์กล่าวอีกว่า มาตรา 46 และมาตรา 59 การแก้ไขไม่ให้คืนเงินค่าสมัครส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อจำนวน 10,000 บาท แก่ผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 5 ของผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนน ซึ่งเดิมกรธ.เสนอให้คืนเงินค่าสมัครแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเกินร้อยละ 5 เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในขั้นตอนธุรการ และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมี การคืนเงินค่าสมัคร สำหรับมาตรา 64 การกำหนดค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งของส.ส.และพรรคการเมือง ให้กกต.หารือกับพรรคการเมืองเพื่อกำหนดค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับความจำเป็นและสภาวะเศรษฐกิจทุก 4 ปี โดยกำหนดให้ค่าใช้จ่ายการหาเสียงของพรรคการเมืองและผู้สมัครส.ส.เขตต้องใช้เท่ากันทุกพรรค จากเดิมที่ไม่ได้กำหนด มาตรา 72 การหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ให้ยุติในเวลา 18.00 น. ก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน เหมือนการหาเสียงด้วยวิธีอื่นๆ จากเดิมที่กำหนดให้ยุติหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนวันเลือกตั้ง 3 วัน
นายทวีศักดิ์กล่าวด้วยว่า ส่วนมาตรา 74 การกำหนดให้การสำรวจความเห็นประชาชนโดยมีเจตนาไม่สุจริตอันมีลักษณะชี้นำต่อการตัดสินใจลงคะแนนของประชาชนไม่สามารถทำได้ เพื่อเพิ่มการคุ้มครองแก่สำนักโพลต่างๆ ให้ สามารถทำโพลสำรวจความเห็นประชาชนได้ มาตรา 75 ให้จัดแสดงมหรสพ งานรื่นเริง ระหว่างการหาเสียงได้ มาตรา 77 การห้ามผู้สมัครจัดยานพาหนะขนคนไปลงคะแนนและนำกลับจากสถานที่เลือกตั้งเพื่อการออกเสียงลงคะแนนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มาตรา 82 ให้กกต.สนับสนุนการโฆษณาหาเสี ยงแก่ผู้สมัครและพรรคการเมือง โดยอาจจัดเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศ (ดีเบต) ของพรรคการเมือง จากเดิมที่เสนอให้สนับสนุนการหาเสียงแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว มาตรา 87 การขยายเวลาการลงคะแนนเลือกตั้งเป็น 07.00-17.00 น. จากเดิมเวลา 08.00-16.00 น. และมาตรา 129 การคิดคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่กรรมาธิการฯ คงไว้ตามหลักการเดิมที่ กรธ.เสนอมา เพียงแต่เพิ่มเติมข้อความให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการตีความการคิดคะแนนได้หลายวิธี
ที่มา : มติชนออนไลน์