จาตุรนต์ : แคมเปญต้าน “บิ๊กตู่” ตั้งธง คสช.ทำลายล้างพรรค-ศัตรูการเมือง

จาตุรนต์ ฉาย​แสง

สัมภาษณ์พิเศษ

 

ณ วันนี้สถานีเลือกตั้งยังคงเลือนลางหลายลางบอกเหตุ บ่งบอกว่าจะมีอุบัติเหตุการเมืองที่ทำให้โรดแมป อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นผู้กุมอำนาจสูงสุด ต้องเลื่อนออกไป

โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว.ที่ยังชุลมุนกันอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ “จาตุรนต์ ฉายแสง” แกนนำพรรคเพื่อไทย เขาไม่เชื่อว่าเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2561 เผลอ ๆ 2562 ก็ยังไม่ชัดเจน อ่านเหตุผลในบรรทัดถัดไป

Q : การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด

ไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งมาตลอด การออกคำสั่งแก้ 53/2560 แก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ทำให้เกิดการเลือกตั้งไม่ทัน และ สนช.จะเขียน พ.ร.ป.เลือกตั้งให้มีผลใช้บังคับ 90 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็ยิ่งทำให้ชัดเจนมากขึ้นว่าเลือกตั้งจะไม่สามารถทำได้ในปี 2561 ส่วนปี 2562 จะมีหรือไม่ยังต้องดูต่อไปอีก

Q : เหตุผลเลือกตั้งปี 2562 ยังไม่แน่นอน

การเลือกตั้งถูกเลื่อนมาเรื่อยด้วยเหตุผล 2 อย่าง 1.คสช.ต้องการอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด ในฐานะที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เหนือองค์กรทั้งหลาย 2. คสช.ต้องการเวลาเตรียมการเพื่อให้แน่ใจว่าจะกลับมามีอำนาจได้อีกหลังการเลือกตั้ง แต่ คสช.ยังไม่มีความพร้อม และมั่นใจว่าเมื่อเลือกตั้งแล้วจะได้อยู่ในอำนาจต่อไป เพื่อจัดตั้งรัฐบาลคนนอกที่เป็นของ คสช.ได้ ถ้ายังไม่ชัดในเรื่องนี้ การเลือกตั้งก็ยังไม่อาจเกิดขึ้นได้

Q : อุปสรรคที่ คสช.ยังไม่พร้อม

ช่วงที่ผ่านมา คสช.เน้นการทำลายความเป็นไปได้ที่พรรคการเมืองจะจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้เกิดโอกาสที่คนนอกจะตั้งรัฐบาล เป้าหมายสำคัญที่สุดอยู่ที่พรรคเพื่อไทย แต่ต่อมา คสช.ทำลายพรรคการเมืองรวม ๆ ไปด้วย ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอไปพร้อมกัน

คสช.คิดและทำเหมือนทหารที่กำลังทำศึกสงคราม คือ เน้นการทำลายศัตรูก่อน แล้วก็ใช้กำลังของตนเองเข้าไปยึดพื้นที่ แต่ในทางการเมืองมันไม่ใช่ การทำลายพรรคการเมืองที่มีอยู่ แต่ขณะเดียวกัน คสช.ต้องมีพรรคการเมืองและ ส.ส.สนับสนุนจำนวนมากพอ เพราะถ้าจะตั้งรัฐบาลได้ขั้นต้นต้องการอย่างน้อย 126 เสียง เพื่อให้แน่ใจว่าพรรคการเมืองไม่สามารถตั้งรัฐบาลกันเองได้แล้ว และขั้นตอนต่อไปต้องได้เกิน 250 เสียง เพื่อให้ได้เป็นรัฐบาลที่ออกกฎหมายต่าง ๆ ได้ ในทางการเมือง การทำลายฝ่ายตรงข้ามอย่างเดียว โดยไม่สร้างฝ่ายของตนเองขึ้น หรือยังสร้างฝ่ายของตนเองขึ้นไม่ได้ ก็ไม่สามารถบรรลุจุดมุ่งหมาย

Q : มองสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์เดินสายเป็นการหาเสียงหรือไม่

เป็นการหาเสียงเตรียมหาคะแนนนิยม สร้างความชอบธรรมในการเป็นนายกฯคนนอกหลังการเลือกตั้ง ชัดเจนมากขึ้นเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ พยายามหลบเลี่ยงการโจมตีเรื่องรัฐบาลทหาร ด้วยการประกาศว่าตนเองเป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร เพื่อพยายามสร้างภาพว่าไม่ใช่หัวหน้ารัฐบาลทหาร

Q : คำว่านักการเมืองที่เคยเป็นทหารจึงมีความหมายทางการเมืองสูง

มีนัยทางการเมืองที่สำคัญคือ ใช้เป็นวาทกรรมที่หลบเลี่ยงการโจมตีความไม่พอใจหรือความรังเกียจรัฐบาลทหาร แต่ก็เป็นการเปิดเผยตัวว่าต้องการจะเป็นนายกฯคนนอก ทำให้เห็นชัดว่าสิ่งที่พยายามทำก็เพื่อเรื่องนี้ เช่น ทำให้การออกกฎหมายลูกมีผลล่าช้า ทำให้พรรคการเมืองยุ่งยาก ออกต่างจังหวัดหาเสียง เพื่อครองอำนาจต่อไปอีกยาวนาน

Q : การวางหมากด้านกฎหมายต่าง ๆ

จะทำให้บรรลุผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หรือทำให้ติดกับดักตัวเองกำลังเป็นบูมเมอแรงที่กลับมาหาตัวเอง เช่น การทำลายพรรคการเมืองต่าง ๆ ไปพร้อมกับทำลายระบบพรรคการเมือง ก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ หาพรรคการเมืองมาเป็นแนวร่วมยากขึ้น

Q : เมื่อ คสช.ทำลายพรรคการเมืองจนต่อกันไม่ติด หากจะสกัดนายกฯคนนอกจะทำด้วยวิธีไหน

อันดับแรกไม่สนับสนุน คสช. และคนนอกเป็นนายกฯ ถ้ามีพรรคการเมืองที่มี ส.ส.รวมกันเกิน 250 คน ยืนยันไม่ร่วมกับรัฐบาลคนนอก การตั้งรัฐบาลคนนอกของ คสช.ก็ไม่สามารถเป็นไปได้

เวลานี้ที่ คสช.ทำลายพรรคการเมืองต่าง ๆ ให้อ่อนแอ สิ่งที่ คสช.พยายามในขั้นต้น คือการหา ส.ส.ไปสนับสนุน คสช.จากพรรคการเมืองใหม่และเก่า ไม่น้อยกว่า 125 คน เมื่อได้อย่างนั้นแล้วก็จะปิดทางพรรคการเมืองในการตั้งรัฐบาล และ คสช.จะใช้อำนาจ คสช.และรัฐบาล บีบว่าถ้าพรรคการเมืองไม่ไปร่วม พรรคการเมืองก็จะตั้งรัฐบาลไม่ได้

และเมื่อตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็จะยุบสภา พรรคการเมือง นักการเมืองจำนวนหนึ่งก็อาจจะใช้เป็นข้ออ้างในการไปร่วมกับ คสช.เพื่อให้ คสช.มีเสียงเกิน 250 เสียง เพื่อปลดล็อกให้เลือกนายกฯคนนอกได้

Q : พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง หรือเป็นนายกฯนอกบัญชี

พล.อ.ประยุทธ์คงไม่เอาชื่อไปอยู่ในบัญชีพรรคการเมือง เพราะเสี่ยงที่จะอับอาย เพราะถ้าไปอยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ อาจจะพ่ายแพ้ยับเยิน และเป็นการสรุปว่า คนไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์คงรอก๊อกสอง เลือกนายกฯ นอกบัญชีนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอมากกว่า

Q : จะถึงก๊อกสองได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา พรรคการเมืองร่วมมือกันไม่ให้ไปถึงก๊อกสองได้ไหม

มีความเป็นไปได้ ถ้า ส.ส.เกิน 250 คนยืนยันไม่ไปร่วมเลือกนายกฯ คนนอกก็เกิดไม่ได้เหมือนกัน แต่ถ้า คสช.ได้เสียง ส.ส. 126 เสียงไปแล้ว ก็แสดงให้เห็นพรรคการเมืองตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็จะมาสู่การใช้อำนาจว่าจะยุบสภา

Q : พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจยุบสภา

ใช่ ใช้อำนาจนายกฯ รักษาการ… รวมทั้งใช้อำนาจ คสช.ก็ได้

Q : พรรคเพื่อไทยควรเปิดแคมเปญให้ร่วมกันสกัดนายกฯคนนอกหรือไม่

คงยังไม่จำเป็น และคงไม่เกิดขึ้น แต่การที่ต่างฝ่ายต่างยืนยันว่าจะไม่สนับสนุนคนนอกเป็นนายกฯ เป็นสิ่งที่ดี และพรรคเพื่อไทยก็อยากเห็นสิ่งนั้น ทางที่จะป้องกันได้มาก ๆ ก็คือ พรรคการเมืองหลาย ๆ พรรคไม่สนับสนุนคนนอกเป็นนายกฯ ไม่ต้องมานั่งจับมือให้คนดูก็ได้

Q : นักวิชาการวิเคราะห์ว่า ถ้าจะกันนายกฯคนนอก เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ต้องช่วยกันสกัดเท่านั้น

การจะไม่ให้คนนอกเป็นนายกฯ ต้องการเสียง 250 เสียง บางทีพรรคใหญ่อาจไม่ต้องไปทางเดียวกัน แต่ถ้ามีพรรคอื่นสนับสนุนก็สามารถป้องกันนายกฯคนนอกเป็นนายกฯได้

แต่ประเด็นสำคัญทางการเมืองขณะนี้จะสนับสนุนคนนอกเป็นนายกฯหรือไม่… ไม่ต้องรอให้ไปถึงหาเสียงเลือกตั้งหรือหลังเลือกตั้ง ควรจะพูดก่อน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ของระบอบประชาธิปไตย ว่า พรรคการเมืองจะยอมให้ คสช.ตั้งรัฐบาลคนนอกและอยู่ในอำนาจต่อไป 10 ปี 20 ปีหรือไม่ ถ้าเกิดขึ้น พรรคการเมืองหรือผู้ที่ต้องการประชาธิปไตย ต้องช่วยกันทำให้เห็นว่า รัฐบาล คสช.หลังการเลือกตั้ง ทำให้ประเทศเสียหาย

คิดว่าสุดท้ายอาจหนีไม่พ้นสภาพนี้ สภาพที่ คสช.สามารถตั้งรัฐบาลคนนอกได้แล้วไปพิสูจน์กันว่ารัฐบาลแบบนั้น ภายใต้ระบบที่สร้างขึ้นนี้ ทำให้ชาติบ้านเมืองเสียหาย

Q : พรรคเพื่อไทยจะใช้แคมเปญป้องกันนายกฯคนนอกหาเสียงหรือไม่

ยังไม่ได้พูดกันในเรื่องเหล่านี้ แต่เข้าใจว่าจะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง จะเป็นประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่ ๆ แต่เรื่องสำคัญไม่แพ้กันคือ จะต้องนำเสนอนโยบายที่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศแข่งกัน

Q : เปิดแคมเปญเช่นนี้คิดว่าจะถูกสกัดหรือไม่

เชื่อว่ามี เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เป็นการเลือกตั้งในขณะที่มีคณะรัฐประหารที่มีอำนาจเหนือกฎหมายและเหนืออำนาจอธิปไตยทั้งปวงกำกับอยู่ การจะวิพากษ์วิจารณ์ คสช.ทั้งในอดีตและปัจจุบันก็อาจทำให้จำกัดมาก

Q : พรรคเพื่อไทยมีความพร้อมในการสู้ศึกเลือกตั้งมากแค่ไหน

ยังทำได้น้อยทั้งผู้สมัครและนโยบาย เมื่อพบประชาชน พบกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ไม่ได้ ก็ไม่สามารถนั่งเทียนอยู่ในห้องแอร์แล้วจะเขียนนโยบายที่ดีได้ แต่เน้นสิ่งที่เป็นจุดแข็งของตัวเองสามารถทำนโยบายได้ดีและนำไปสู่การปฏิบัติได้ตรงกับความต้องการของประชาชน กับเป็นพรรคที่ชัดเจนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

Q : แต่การไม่มีหัวหน้าพรรคที่ชัดเจนจะเป็นอุปสรรคหรือไม่

เป็นปัญหาอยู่บ้างก็ต้องแก้ด้วยวิธีการทำงานเป็นทีมมากขึ้น หวังว่าต่อไปจะมีกระบวนการทำงานที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งสอดคล้องกับกฎกติกาใหม่ ๆ และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่อยากเห็นพรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตยและเป็นสถาบันการเมืองที่เป็นของประชาชน