จุดเกิดเหตุ 180 วัน ก่อนเลือกตั้ง ข้อห้ามนักการเมือง แจกของ-แจกเงิน

พาน รธน.

Red zone 180 นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง ถ้าหากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ครบเทอมอายุสภาผู้แทนราษฎร 4 ปี มีข้อปฏิบัติที่ทำให้ “นักการเมือง” ใช้ชีวิตการเมืองไม่เป็น “ปกติสุข” จนไม่กล้าขยับเขยื้อน ทำกิจกรรมทางการเมือง

จุดเริ่มต้นของเรื่องมีอยู่ว่า ช่วง red zone 180 วัน ก่อนวันครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดว่า

ไม่ให้ผู้สมัคร หรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด

เพื่อจูงใจให้คนลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส. เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2565 จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ยังกำหนดเรื่องการคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ให้คำนวณค่าใช้จ่ายไปตั้งแต่ 180 วัน ก่อนที่ กกต.จะมีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง จนถึงวันเลือกตั้ง

ซึ่ง กกต.เคยกำหนดว่า ส.ส.เขตใช้งบฯหาเสียงได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท/คน ส่วนพรรคการเมืองใช้งบฯหาเสียงได้ไม่เกิน 35 ล้านบาท/พรรค

กกต.จึงออกกฎเหล็กต้องห้ามภายใต้ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) 2565 และที่ไม่ใช่กฎหมายอีก 1 ฉบับ ทว่า กกต.เรียกว่า “แนวทาง” คือ

“การปฏิบัติและข้อควรระวังในช่วงระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของผู้สมัครและพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหน่วยงานของรัฐ” ให้นักการเมืองปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

โดยแยกเป็น แนวทางปฏิบัติของผู้สมัคร และพรรคการเมือง

1.สามารถไปร่วมงานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ และมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ไม่มีการให้เงิน ทรัพย์สินต่าง ๆ เว้นแต่เจ้าภาพเตรียมสิ่งของตามพิธีการไว้ให้มอบในงาน เช่น ผ้าบังสุกุล ปัจจัย ทั้งนี้ ผู้สมัคร-พรรคการเมือง ต้องไม่มอบเงิน หรือทรัพย์สินของตนเอง

2.สามารถจัดงานศพ งานบวช งานแต่งงานได้ แต่พึงหลีกเลี่ยงจัดงานที่เป็นงานใหญ่-คนจำนวนมาก เพราะอาจเป็นเหตุถูกร้องเรื่องการจัดเลี้ยง-มหรสพได้

3.ห้ามเกณฑ์คนมาช่วยหาเสียง โดยได้รับค่าตอบแทน หรือประโยชน์ตอบแทน

4.สามารถเข้าไปหาเสียงในโรงเรียน สถานที่ราชการได้ แต่ต้องขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ก่อน

5.ไม่สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย โรคระบาด

6.สามารถปิดป้ายหาเสียงได้ โดยมีวิธีการ ขนาด จำนวน สถานที่ ตามที่เคยทำในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

แนวทางปฏิบัติ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่าง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการการเมือง

1.สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในตำแหน่ง เช่น ออกรายการวิทยุ เป็นประธานเปิดงานพิธีต่าง ๆ ลงตรวจงานในพื้นที่ พบประชาชนในพื้นที่ หรือลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน แต่ห้ามมิให้กระทำใด ๆ ที่อาศัยตำแหน่งหน้าที่นั้นหาเสียงให้ตนเอง หรือผู้อื่น หรือพรรคการเมือง

2.ในเวลานอกราชการ สามารถหาเสียงให้ตนเอง ผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองได้ แต่ต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยชอบ หรือกระทำการใด ๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

3.สามารถไปร่วมประเพณีต่าง ๆ ได้ แต่ต้องไม่ให้เงินหรือทรัพย์สินต่าง ๆ ของตนเอง ในกรณีที่ฝ่ายเจ้าภาพจัดเตรียมสิ่งของตามพิธีการไว้ให้มอบในงาน เช่น ผ้าบังสุกุล หรือระบุชื่อไว้-เป็นประธานในงานกฐิน โดยไม่ได้มอบเงินหรือทรัพย์สินของตนเอง สามารถทำได้ แต่เจ้าภาพห้ามประกาศชื่อ หรือประกาศชื่อพรรคการเมือง ในลักษณะช่วยหาเสียงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนไปค้น พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ต้นกำเนิด “กฎเหล็ก” พบว่า เรื่อง red zone 180 วัน ถูกเขียนขึ้นมาตั้งแต่ร่างเบื้องต้น โดยฝีมือของ กกต. ที่ส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไปยำใหญ่

ย้อนไปใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. 2550 ซึ่งใช้เป็น กติกาเลือกตั้งทั้ง 23 ธันวาคม 2550 และ 3 กรกฎาคม 2554 ก็ไม่ปรากฏ red zone 180 วัน

ย้อนหลังไปถึง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. 2541 ที่ออกตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไม่พบ red zone เช่นกัน

ส.ส.-นักการเมือง พรรคฝ่ายค้าน พรรคตั้งใหม่ พรรคร่วมรัฐบาลแต่ไม่ใช่พรรคที่อยู่ในกลางศูนย์อำนาจ จึงร้องโวยวายกันระงม