พลิกไทม์ไลน์แคนดิเดตนายกฯ ก่อนเมษายน’66 เปิดตัวครบทุกคน

แคนดิเดตนายก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ฟื้นคืนชีพทางการเมือง หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ว่ายังไม่ครบ 8 ปี

โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าวาระดำรงตำแหน่งต้องเริ่มจากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ จึงเท่ากับว่า วาระของ พล.อ.ประยุทธ์ กว่าจะครบปาไป 6 เมษายน 2568

แต่ขณะนี้แม้ยังไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจลากรัฐนาวา จนครบเทอมอายุรัฐบาล 23 มีนาคม 2566 หรือตัดสินใจยุบสภาหลังการประชุมเอเปค ตามสัญญาณทางการเมืองก่อนหน้านี้

และยังไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะกำหนดชะตาชีวิตทางการเมืองอย่างไรต่อไป เมื่อสถานะนายกรัฐมนตรีเหลืออีก 2 ปี หากเป็นแคนดิเดตนายกฯ อาจเป็น “นายกฯคนละครึ่ง”

ทันใดนั้นลูกหาบในพรรคพลังประชารัฐ ก็ส่งเสียงเชียร์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งชิมลางเป็นนายกฯชั่วคราว 38 วัน ประดับในแคนดิเดตนายกฯ เคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เป็นเวลาเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาปฏิบัติหน้าที่นายกฯอีกครั้ง

วันที่ 4 ตุลาคม ผมจะลงพื้นที่ จ.ขอนแก่นและอุบลราชธานี เพื่อไปเยี่ยมและให้กำลังใจ ไม่ต้องมีป้าย ไม่ต้องเอาคนมาถือป้าย ไม่เอา เข้าใจใช่ไหม เพราะผมจะไปทำงาน และไม่สร้างภาระให้กับใครทั้งสิ้น ไม่ต้องเรื่องมากกับผม เพราะผมสมบูรณ์แข็งแรง ดูแลตัวเองได้ ขอให้ไปดูแลประชาชนที่เดือดร้อนดีกว่า ผมไม่เป็นภาระกับใคร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม หาก พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร ตัดสินใจเป็นแคนดิเดตนายกฯ “ลุงคู่” ประกบกับบุคคลที่จะเป็นแคนดิเดตจากพรรคอื่น ๆ

อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากไทยสร้างไทย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จากสร้างอนาคตไทย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากก้าวไกล แพทองธาร ชินวัตร จากเพื่อไทย หรืออาจจะเป็น กรณ์ จาติกวณิช จากชาติพัฒนากล้า

พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร ก็ต้องรีบตัดสินใจก่อนวันสมัครแคนดิเดตนายกฯ ก่อนเดือนเมษายน 2566 กรณีรัฐบาลครบเทอม

ทั้งนี้ เมื่อหากนำสถานการณ์การเมืองมาวางบน “ไทม์ไลน์” ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ตั้งตุ๊กตาวันหย่อนบัตรในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 กรณีรัฐบาลประยุทธ์ “อยู่ครบเทอม”

จะพบว่า วันที่ 3-7 เมษายน 2566 ซึ่ง กกต.กำหนดให้เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จะเป็นวันที่ได้เห็นชื่อ-เห็นหน้าแคนดิเดตนายกฯทุกพรรคการเมือง

เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 กำหนดว่า “ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคล ซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน 3 รายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ”

ซึ่งวันปิดรับสมัครรับเลือกตั้งตามตุ๊กตาของ กกต.คือวันที่ 7 เมษายน 2566

จากนั้น เมื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งระบบ ส.ส.ได้เบอร์ของตัวเองก็ลุยหาเสียงได้เต็มที่ ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งต่อไป หากปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นบัตร 2 ใบ

บัตรหนึ่ง ส.ส.เขต ต่างเขต-ต่างเบอร์ แต่ละเขตเลือกตั้งเบอร์ไม่ตรงกัน

บัตรสอง ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ที่เรียกว่า “บัตรพรรค” ก็จะเป็นอีกเบอร์หนึ่ง

จากนั้น 11 เมษายน 2566 กกต.จะประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง สถานที่เลือกตั้ง และเป็นวันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

14 เมษายน 2566 ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. คือการรับรองให้เป็นผู้สมัคร-คุณสมบัติครบถ้วน

6 เมษายน 2566 เป็นวันสุดท้ายส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน และสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง

26 เมษายน 2566 เป็นวันสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้งและสถานที่เลือกตั้ง รวมถึงวันสุดท้ายของการเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ

30 เมษายน 2566 กำหนดให้เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง และนอกเขตเลือกตั้ง รวมทั้งแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

1-6 พฤษภาคม 2566 เป็นระยะเวลาแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

1 พฤษภาคม 2566 เป็นวันสุดท้ายยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

3 พฤษภาคม 2566 เป็นวันสุดท้ายศาลฎีกาพิจารณาสิทธิสมัครกรณีผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัคร

6 พฤษภาคม 2566 เป็นวันสุดท้ายที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งยื่นคำร้องศาลฎีกา กรณีผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม

7 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการเลือกตั้งทั่วไป

8-14 พฤษภาคม 2566 เป็นวันแจ้งเหตุที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ โดยต้องแจ้งภายใน 7 วัน

จากนั้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 85 กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้งในกรณีที่เชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่ง กกต.ต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จ “โดยเร็ว” แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วัน

ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้ ส.ส.ได้มาประชุมเป็นครั้งแรก

แต่การเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ไม่ได้กำหนดวัน ว. เวลา น.


เพราะรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ออกแบบระบบการเมืองให้เป็น “รัฐบาลผสม” หลายพรรค ดังนั้น จึงต้องมีการต่อรองทางการเมือง ถึงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นนายกฯ รักษาการต่อไปอีก 3 เดือนเป็นอย่างน้อย ระหว่างมีการจัดตั้ง-จับขั้วรัฐบาล เพื่อเลือกนายกฯจากแคนดิเดตพรรคการเมือง มาเป็นนายกฯตัวจริง