ไอติม พริษฐ์ ปาฐกถา 14 ตุลา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ป้องกันรัฐประหาร

ไอติม พริษฐ์ ชี้ 14 ตุลา คือ ชัยชนะที่เป็นภาพลวงตา ไม่สามารถขจัดกองทัพออกจากการเมือง ชู 4 เป้าหมาย สร้างประชาธิปไตย

วันที่ 14 ตุลาคม 2565 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล ปาฐกถาในงานรำลึก14 ตุลา 2516 ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิ 14 ตุลา ในหัวข้อ “14 ตุลา 16 ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์สังคมไทยได้แค่ไหน” ตอนหนึ่งว่า คนยุค 14 ตุลาคม 2516 เติบโตมากับระบอบเผด็จการทหารนานกว่า 10 ปี การเมืองมีเสถียรภาพ แต่ประชาชนไร้เสรีภาพ

ส่วนคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน แทบจะไม่ได้สัมผัสประชาธิปไตยเต็มใบ ต้องอาศัยอยู่ภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารและเปลี่ยนจากเผด็จการทหารที่ครองอำนาจด้วยกองกำลังมา เป็นเผด็จการอำพรางผ่านการเลือกตั้ง และควบคุมประเทศอย่างเบ็ดเสร็จผ่านกลไกสืบทอดอำนาจไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา 250 คน ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เมื่อมองในมิติเศรษฐกิจ คนรุ่นใหม่ยุค 14 ตุลา เติบโตในประเทศที่เศรษฐกิจก้าวหน้า GDP โตกว่า 8% ต่อปี ประเทศมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมหาศาล แต่คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน ต้องหางานในยุคเศรษฐกิจเติบโตแบบฝืดเคือง อีกทั้ง มีวิกฤติโรคระบาดรุนแรง

ใน มิติต่างประเทศ คนยุค 14 ตุลา โตมาท่ามกลางสงครามเย็น ทำให้หลายคนมีความเป็นชาตินิยมค่อนข้างสูง และมองต่างประเทศด้วยสายตาหวาดดระแวง ขณะที่คนรุ่นใหม่เติบโตมาในยุคโลกาภิวัตน์ มองประเทศพัฒนาแล้ว เป็นต้นแบบการพัฒนาที่ต้องการให้ประเทศไทยไปให้ถึง ปรารถนาเห็นการบริหารประเทศที่ยึดมาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับโดยต่างชาติและมีที่อยู่ในเวทีนานาชาติ

คนรุ่น 14 ตุลา อาจเห็นว่าการมีศูนย์รวมจิตใจที่ยึดเหนี่ยวผู้คนในชาติเข้าด้วยกันเป็นสิ่งจำเป็นท่ามกลางสงครามมหาอำนาจ แต่คนรุ่นใหม่อาจเห็นว่าการปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าดังนั้นการที่เราเติบโตในโลกที่ต่างกันจึงมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการกำหนดมุมมองที่มีต่อโลกหรือเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในมุมหนึ่ง 14 ตุลา ถูกมองโดยคนรุ่นก่อนว่าเป็นชัยชนะของคนรุ่นก่อน ว่าเป็นชัยชนะที่สำคัญของประชาชน สร้างคุณูปการทางการเมืองไทย และคนรุ่นถัดไป ในเมื่อ 14 ตุลา นับเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดการลุกฮือของประชาชน จบลงด้วยความสำเร็จในการปิดฉากรัฐบาลเผด็จการที่ครองอำนาจมากว่า 10 ปี

ในเมื่อ 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่สามารถหลอมรวมประชาชนหลากหลายกลุ่ม และวัย เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายที่มีร่วมกัน และ 14 ตุลาฯ ก็เป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ค่อนข้างมีความเป็นประชาธิปไตย หากเทียบกับหลายร่าง ณ เวลานั้น

“แต่ในอีกมุมหนึ่ง เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ถูกมองโดยคนรุ่นหลังว่าเป็นชัยชนะที่ลวงตา ไม่อาจนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ยังยืนได้ เพราะแม้ 14 ตุลา จะได้ขจัดระบอบ 3 ทรราชออกไป แต่ก็ยังไม่สามารถขจัดอิทธิพลของกองทัพที่เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง แม้ 14 ตุลา จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่กลับมีอายุแค่ 2 ปี แม้ 14 ตุลา จะทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนเบ่งบาน แต่ความรุนแรงจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็เปรียบเสมือนการล้างไพ่ประชาธิปไตยไทย ให้กลับไปสู่จุดเดิม หรือแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ 14 ตุลาฯ จึงเป็นทั้งเหตุการณ์ชัยชนะของคนรุ่นหนึ่ง แต่ก็เป็นชัยชนะที่ลวงตาของคนอีกรุ่น”

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ดังนั้น ยุคปัจจุบันที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประชาธิปไตยไทย ท่ามกลางการปะทะกันอย่างรุนแรง ระหว่างระบบที่ล้าหลังกับสังคมที่ก้าวหน้า ดังนั้นการถอดบทเรียน 14 ตุลา ไม่ใช่การพยายามชี้แนะให้เดินตามสูตร แต่ต้องเข้าใจความต่างกัน และร่วมกันขับเคลื่อน 4 เป้าหมายดังนี้

1.เป้าหมายร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีเนื้อหาป้องกันการทำรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญได้อย่างง่ายดาย

2.เป้าหมายสร้างประชาธิปไตยที่ไปไกลกว่าตัวผู้นำ คือต้องขึ้นสู่อำนาจด้วยกลไกประชาธิปไตย และปฏิบัติหน้าที่โดยมีค่านิยมประชาธิปไตยกำกับรื้อระบอบประยุทธ์หรือสกัดกั้นการรักษาอำนาจของตัวแทนชุดความคิดแบบอำนาจนิยมอื่น ๆ ที่อาจจะแทรกแซงแทรกซึมอยู่ในคณะรัฐมนตรี ในสภา สถาบันทางการเมือง ระบบราชการ หรือสถานศึกษา

3.เป้าหมายปฏิรูปกองทัพให้เป็นของประชาชน โดยกองทัพต้องแยกขาดจากการเมือง และอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน กองทัพต้องโปร่งใส หยุดอ้างความมั่นคงเพื่อปกปิดการตรวจสอบงบลับ กองทัพต้องถูกประชาชนตรวจสอบได้อย่างเข้มข้นผ่านการสร้างกลไกผู้ตรวจการกองทัพตัวแทนพลเรือนที่เป็นอิสระจากกองทัพ ลดขนาดกองทัพที่เกินความจำเป็น ลดจำนวนนายพลที่เฟ้อ ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร

4.เป้าหมายทลายการผูกขาดและระบอบอุปถัมภ์ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ซึ่งน่าสนใจว่าตั้งแต่ปี 2557 มีนายพลนั่งเป็นบอร์ดหน่วยงานต่างๆ มากกว่า 18%

ภารกิจทั้ง 4 ภารกิจนี้เป็นภารกิจสำคัญที่คนสองรุ่นมีร่วมกัน และเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยพลังของทุกรุ่นในการขับเคลื่อนให้สำเร็จ แต่นอกจากการสานต่อภารกิจที่มีร่วมกัน เรายังจำเป็นต้องทำให้ประเทศไทยคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกของคนทุกรุ่น เพื่อเป็นสังคมที่ปลอดภัยสำหรับทุกชุดความคิดที่แตกต่างกัน และโอบรับทุกความฝันที่หลากหลาย ซึ่งจะเป็นหนทางเดียวในการปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์สังคมไทยได้อย่างแท้จริง

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า คนรุ่น 14 ตุลา ตนต้องขอขอบคุณและแสดงความนับถือจากใจสำหรับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกล้าหาญในยุคสมัยของท่าน แต่ขออนุญาตฝากถึงทุกท่านเพิ่มเติมว่า


“คนรุ่นใหม่ตอนนี้กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในยุคสมัยของเขาเช่นกัน จะด้วยวิธีการ แนวคิดที่ท่านเห็นด้วยหรือไม่ แต่หวังว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาจะทำให้ท่านเข้าใจและเห็นใจว่าความฝันของคนรุ่นนี้ก็ไม่ต่างจากคนรุ่นท่านไปมากนักและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกท่านจะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยกันประคับประคองสังคมไทยไม่ให้หวนซ้ำกับสู่ความรุนแรงแบบที่ท่านเคยประสบมาเพราะ ประชาธิปไตยเป็นการเดินทางที่ไม่มีวันจบสิ้นและไม่สามารถเดินได้ตามลำพังแต่ประชาชนทุกคนทุกรุ่นต้องก้าวไปด้วยกัน” นายพริษฐ์ กล่าว