เลื่อนอ่านอุทธรณ์”อภิชาต”นักวิชาการกฎหมายชูป้ายต้านคสช. หลังรัฐประหาร ศาลนัด 31 พ.ค.

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 มกราคม ที่ศาลแขวงปทุมวัน ถ.พระราม 4 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งที่ 3 คดี อ.363/2558 พนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการด้านกฎหมาย เป็นจำเลย ในความผิดฐาน ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยฝ่าฝืนประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 8 และ 11 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216, 368 วรรคแรก

จากกรณีเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 เวลากลางคืน จำเลยกับพวกอีก 500 คนที่หลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้มั่วสุมชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารของ คสช. โดยจำเลยกับพวกชูป้ายว่า “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน” บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และด่าทอ โห่ร้อง เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย บริเวณหอศิลปฯ

ซึ่งวันนี้ นายอภิชาต จำเลย เดินทางมาพร้อมนายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความและเพื่อนประมาณ 2-3 คน

แต่เมื่อถึงเวลาปรากฏว่า ศาลมีคำสั่งเลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปก่อน เป็นวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ เวลา 10.00 น.

โดยเมื่อเวลา 10.00 น.เศษ นายรัษฎา ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ เวลา 10.00 น. เนื่องจากคำพิพากษาชั้นศาลอุทธรณ์ยังไม่แล้วเสร็จ

ขณะที่นายอภิชาตกล่าวว่า ศาลอุทธรณ์ได้แจ้งเลื่อนอ่านคำพิพากษา เพราะคดีมีความซับซ้อน โดยคดีนี้อัยการโจทก์ ไม่ได้ยื่นคำร้องใดเพิ่มเติม ส่วนตัวมั่นใจในประเด็นข้อกฎหมายที่ยื่นต่อสู้ไป 6-7 ประเด็น รวมทั้งประเด็นข้อเท็จจริงด้วย ทั้งนี้ ไม่รู้สึกกดดัน เพราะต่อสู้ประเด็นตามกฎหมาย

Advertisment

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นห่วงผู้ชุมนุมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยซึ่งชุมนุมต่อต้าน คสช.ที่สกายวอล์ค บีทีเอส แยกประทุมวันล่าสุด โดยถูกแจ้งข้อหาขัดคำสั่งคสช.คล้ายกัน นายอภิชาตกล่าวว่า ก็เป็นฐานความผิดเดียวกัน คือ ขัดคำสั่ง คสช.3/2558 ซึ่งหากคดีของตนมีบรรทัดฐานว่ายกฟ้อง ก็อาจจะเป็นผลดีกับ 7 คนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้อง วันที่ 28 เมษายน 58 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ภายหลังการการยึดอำนาจปกครองจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้ววันที่ 22 พฤษภาคม 57 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตั้ง คสช. และประกาศ คสช.เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 57 เวลากลางคืน จำเลยกับพวกอีก 500 คนที่หลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้มั่วสุมชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารของ คสช. โดยจำเลยกับพวกชูป้ายว่า “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน” บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และด่าทอ โห่ร้อง เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย บริเวณหอศิลปฯ และยังปลุกระดมกลุ่มผู้ชุมนุม ให้ร่วมชุมนุมากขึ้นเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เหตุเกิดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถ.พระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม.

Advertisment

โดยครั้งแรกศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ให้ยกฟ้อง นายอภิชาติ เนื่องจากยังฟังไม่ได้ว่า กองบังคับการปราบปราม มีอำนาจหน้าที่การสอบสวนความผิดอาญาในท้องที่เขตปทุมวันในคดีนี้ และยังฟังไม่ได้ว่า พนักงานสอบสวน กก.1 ป. มีอำนาจหน้าที่สอบสวนความผิดตามข้อกล่าวหาในคดีนี้ กรณีจึงฟังไม่ได้ว่า มีการสอบสวนความผิดตามข้อกล่าวหาโดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่น

ต่อมาอัยการโจทก์ได้ยืนอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องอำนาจการสอบสวน กระทั่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วเห็นว่าพนักงานสอบสวนกองปราบปรามมีอำนาจสอบสวน จึงให้ย้อนสำนวนส่งกลับมาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่

ซึ่งศาลแขวงปทุมวัน ที่เป็นศาลชั้นต้น ก็ได้พิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ โดยเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2559 โดยศาลเห็นว่าการกระทำของนายอภิชาติ ฝ่าฝืนประกาศ คสช.เรื่องการห้ามชุมนุมและประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 จึงพิพากษาให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท แต่ศาลเห็นว่า จ.ส.อ.อภิชาติ ไม่เคยต้องโทษคดีอาญามาก่อนจึงให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 1 ปี

กระทั่งจำเลย ได้ยื่นอุทธรณ์สู้คดีอีกว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ส่วนอัยการโจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คดีแต่อย่างใด

 

ที่มา : มติชนออนไลน์