“ยิ่งลักษณ์” เดิมพันยึดทรัพย์ สังเวย “จำนำข้าว” 3.5 หมื่นล้าน

25 ส.ค. 2560 คือวันชี้ชะตาอนาคตของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 จากคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ความเสียหาย 5 แสนล้านบาท เพราะหากศาลพิพากษาว่าผิดจริง โทษจากละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

“ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

แต่ยังมีคดีที่ “ยิ่งลักษณ์” ยังต้องระทึกอีกเฮือก หากยังจำกันได้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังหาผู้ชดใช้ความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวนับแสนล้านบาท

และ “จำเลย” ที่ต้องชดใช้ทางแพ่งคือ “ยิ่งลักษณ์” ที่เชื่อมไปถึงความผิดทางคดีอาญากรณีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต รวมถึงคดี “จีทูจี” ของ “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีต รมว.พาณิชย์ และ “ภูมิ สาระผล” อดีต รมช.พาณิชย์ กับพวก โดยให้ใช้กฎหมายความรับผิดทางละเมิด พ.ศ. 2539

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2559 มอบอำนาจให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์จากความเสียหายการทุจริตซื้อข้าว ตามที่ “คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง” มีนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธาน ได้เคาะตัวเลขให้ “ยิ่งลักษณ์” ชดใช้เงิน 35,717 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 ก.ย.59

ต่อมา 19 ต.ค. 59 น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ร้องศาลปกครองสั่งเพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลังที่เรียกให้ชดใช้เงินดังกล่าว และทุเลาการบังคับคดีไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

ทว่าเรื่องก็เงียบหายไปจนใกล้ถึงการไต่สวนคดีอาญา 3 นัดสุดท้าย “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายกฎหมายรัฐบาล ระบุเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2560 ว่า “เข้าใจว่า เวลานี้ยังไม่ถูกเบรกจากศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว ทำให้กรมบังคับคดีเดินหน้าไปได้ แต่ยังไม่มีอะไรที่จะไปยึด เพราะไม่เจอว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีอะไร”

คำกล่าวของ “วิษณุ” ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอันมากว่าเหตุใดถึงหาทรัพย์สินไม่เจอ หรือเป็นแค่คำตอบที่เลี่ยงการปะทะทางการเมือง ในช่วงโค้งสุดท้ายที่คดีจำนำข้าวในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะตัดสิน

แต่แล้ววันที่ 24 ก.ค. สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ก็ยื่น 12 บัญชีเงินฝากยิ่งลักษณ์ให้ “กรมบังคับคดี” เดินหน้ายึดทรัพย์ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี พร้อมจะดำเนินการ

ย้อนไปเมื่อ 26 มิถุนายน 2559 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 1 ปีต่อ ป.ป.ช. รวมทรัพย์สิน 612,379,231.93 บาท รวมหนี้สิน 33,070,803 บาท โดยกู้จากทักษิณ ชินวัตร รวมมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 579,308,428.93 บาท สำหรับรายการทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.อาทิ เงินสด ผู้ยื่น 14,298,120 บาท คู่สมรส (ไม่ได้จดทะเบียน) 4,000,000 บาท เงินฝาก 16 บัญชี ผู้ยื่น 24,908,420.28 บาท

คู่สมรส 5,847,160.87 บาท บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 138,381.66 บาท ยานพาหนะ ผู้ยื่น 21,990,000 บาท สิทธิและสัมปทาน ผู้ยื่น 569,189.32 บาท คู่สมรส 1,707,734.39 บาท บุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ 1,397,413.52 บาท ทรัพย์สินอื่น ๆ ผู้ยื่น 45,690,000 บาท

รายการที่ดิน จำนวน 14 แปลง รายการโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 33 รายการ รวมจำนวนเงิน 162,368,182.40 บาท

“ยิ่งลักษณ์” จึงเผชิญเคราะห์กรรมทั้งติดคุก และ ยึดทรัพย์