“เพื่อไทย” ปิดท้ายครัว ระดมคนในบ้านต้านซื้อหัว-ย้ายพรรค

ยิ่งใกล้วันปลดล็อกให้กลุ่มคนที่คิดจะ “ตั้งพรรคการเมือง” ลงรับเลือกตั้งครั้งใหม่ ได้ขยับเขยื้อน ในวันที่ 1 มีนาคม 2561 ตามประกาศหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560

ก็ยิ่งปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง

อย่างน้อยก็กลุ่ม “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ที่เริ่มเสาะหาสมาชิกพรรค และเตรียมการตั้ง “พรรคประชาชนปฏิรูป”

อย่างน้อย “สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์” นักการเมืองอาวุโส พร้อมผองเพื่อนอดีตนักการเมือง ชื่อชั้นระดับอดีตรัฐมนตรี ก็ประกาศตั้ง “พรรคพลังพลเมือง”

ยังไม่นับ “พรรคพลังชาติไทย” ที่มี “พล.ต.ทรงกลด ทิพยรัตน์” เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งถูกมองว่าเตรียมเป็นพรรค “นอมินี” ของ คสช. แม้ภายหลังกระแสจะเงียบลง หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. บอกว่า จะสั่งสอบ เพราะไปแอบอ้างชื่อ

แต่คนในแวดวงการเมืองก็เดาทางได้ไม่ยากว่า หนทางที่ คสช.จะต่อท่ออำนาจ และกลับมาเป็นรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง หนทางหนึ่ง คือการตั้งพรรคทหาร

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวการตั้งพรรคการเมือง มาพร้อมคู่กับข่าวการดูดอดีต ส.ส. โดยเฉพาะข่าวการดูดอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย

ตามที่ ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค วิเคราะห์ว่า เป้าหมายของ คสช. คือ ต้องได้ ส.ส.เกินครึ่งของสภา คือ 250 เสียง เพราะการได้เป็นนายกฯคนนอกเพียงอย่างเดียว คสช.ไม่สามารถบริหารได้ตลอดรอดฝั่ง จะบริหารลำบาก ดังนั้นนอกจากนายกฯคนนอก ซึ่งมีหลักประกันด้วย ส.ว. 250 คน ยังต้องได้ความนิยมจากสภาผู้แทนฯ ได้เกิน 250 เสียง ถึงจะบริหารประเทศได้

จนทำให้อดีต ส.ส.อีสานกว่า 40 ชีวิต นำโดย ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย นัดรวมตัวจัดอีเวนต์ประกาศเจตนารมณ์ว่า จะร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับพรรค ไม่ย้ายหนีไปไหน ภายหลังจากอวยพรปีใหม่แกนนำพรรค เมื่อ 10 มกราคมที่ผ่านมา

เบื้องหลังการรวมตัวของกลุ่ม ส.ส.อีสานกว่า 40 ชีวิต ไม่ได้รวมตัวเพื่อประกาศเจตนารมณ์แล้วจากไปเฉย ๆ

หากยังจับกลุ่มกันอย่างหลวม ๆ โดยมี “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” เป็นแกนหลักในการประสาน-สายสืบส่งข่าวอดีต ส.ส.อีสาน หากมีใครถูกดูด หรือขยับเตรียมโยกย้ายพรรค

อย่างไรก็ตาม สมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี-นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่อยู่ในโซนภาคอีสาน รวมถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต รมช.สาธารณสุข ในฐานะอดีต ส.ส.น่าน พื้นที่ภาคเหนือ บอกไปในทำนองเดียวกันว่า ส.ส.พื้นที่อีสาน-เหนือ ไม่น่าห่วงเท่าพื้นที่ภาคกลาง เพราะเป็นพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทย

เพราะขณะที่ภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หลากหลาย มีหลายพรรคการเมืองเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งเค้กไม่ว่า ชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ และบางเขตเลือกตั้ง แต้มชนะ-แพ้ ห่างกันไม่กี่พันคะแนน

นพ.ชลน่านกล่าวถึงสถานการณ์ดูด ส.ส.ภาคเหนือว่า เราก็เกรง ๆ เช่นกัน น้ำหยดลงหินทุกวัน หินยังกร่อน เหมือนการจีบสาวเช่นกัน แรก ๆ ก็ไม่ ต่อไปก็ไม่แน่ อาจมีการโน้มน้าวจนปฏิเสธไม่ไหว หากเสนอผลตอบแทนที่ดี ก็อาจมีผล ทำให้อดีต ส.ส.เปลี่ยนใจได้

เพราะถ้าได้ผลตอบแทนที่ดี หากออกจากพรรคเพื่อไทยแล้วไปลงสมัครในนามพรรคนอมินีทหาร ถ้าไม่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ก็ไม่เป็นไร คุ้มที่จะเสี่ยง

สมคิดกล่าวถึงภาคอีสานว่า หลังจากที่อดีต ส.ส.อีสาน แสดงเจตนารมณ์ไปข่าวการดูด ส.ส.เหนือและอีสานก็เงียบลงไป ทุกอย่างเป็นปกติ แต่เชื่อว่าสถานการณ์ในภาคอีสานไม่น่ากังวล เพราะทุกฝ่ายมีบทเรียนอยู่แล้วว่า หากออกจากพรรคเพื่อไทยก็มีสิทธิ์สอบตกได้

นพ.เชิดชัยกล่าวว่า โลโก้พรรคเพื่อไทยในอีสาน คือ เป็นพรรคที่ช่วยเรื่องปัญหาปากท้องของประชาชนได้ ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน แต่รัฐบาล คสช.อยู่มา 4 ปี แม้มีสารพัดโครงการ แต่ชาวบ้านกลับไม่มีเงินในกระเป๋า ดังนั้นถ้าจะย้ายออกจากพรรคไป ส.ส.ก็ต้องคิดหนัก


ดังนั้น พื้นที่เฝ้าระวังของพรรคเพื่อไทย จึงอยู่ที่ภาคกลาง มากกว่าอีสาน-เหนือ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นหลัก