ครม.รับทราบ รัฐบาลจัดเก็บรายได้ปี’65 สูงกว่าเป้า 1.51 แสนล้าน กู้น้อยลง 4.74 หมื่นล้าน
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2565 ครอบคลุมระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 30 กันยายน 2565
รายงานฉบับนี้ กระทรวงการคลังได้ประมวลข้อมูลจากรายงานในระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (MIS: Financial Analytics) ในระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ (New GFMIS Thai) ที่หน่วยงานของรัฐบันทึกเข้ามาในระบบ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
-
- รายได้แผ่นดินที่หน่วยงานของรัฐจัดเก็บและนำเงินส่งคลัง ประมาณการ 2,400,000 ล้านบาท จัดเก็บจริง 2,551,223 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 151,223 ล้านบาท สาเหตุที่รายได้สูงกว่าประมาณการ เนื่องจากมีรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ และรัฐพาณิชย์เพิ่มขึ้น
- รายรับจากการกู้เงิน เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประมาณการ 700,000 ล้านบาท กู้จริง 652,553 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 47,447 ล้านบาท สาเหตุที่ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการปรับลดกรอบวงเงินกู้
- รายจ่ายตามงบประมาณ ประมาณการ 3,100,000 ล้านบาท จ่ายจริง 2,900,727 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,717 ล้านบาท (ยังไม่รวมเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี 190,556 ล้านบาท) สาเหตุที่รายจ่ายต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้หน่วยงานของรัฐใช้จ่ายเงินงบประมาณช้าไม่ทันตามระยะเวลาที่กำหนด
- รายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังจำนวน 33,655 ล้านบาท 5.ดุลการรับ-จ่ายเงิน ประกอบด้วย 1.รายรับทั้งสิ้นที่เกิดขึ้นจริง 3,203,775 ล้านบาท (รวมรายได้แผ่นดินที่ได้รับจริง 2,551,223 ล้านบาท และเงินกู้ฯ ที่รับจริง 652,553 ล้านบาท) 2.รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามประมาณ 3,148,060 ล้านบาท (รวมรายจ่ายงบประมาณตามงบประมาณ 2,900,727 ล้านบาท รายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีที่จ่ายจริง (ปี 2564) 213,678 ล้านบาท และรายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง 33,655 ล้านบาท) ทั้งนี้ รายรับสูงกว่ารายจ่าย 55,715 ล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานของรัฐจัดเก็บและนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสินค้าเข้า-ออก
น.ส.รัชดากล่าวว่า พร้อมกันนี้ ครม.ได้มีมติเห็นชอบหลักการและกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ซึ่งประกอบด้วย 6 ด้านคือ 1.ความมั่นคง 2.สร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.พัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.สร้างโอกาสความเสมอภาคทางสังคม 5.สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 6.ปรับสมดุลพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ส่วนโครงการที่หน่วยราชการเสนอเข้ามาในเบื้องต้นมีจำนวนประมาณ 1,026 โครงการ
น.ส.รัชดากล่าวว่า สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในระยะต่อไปนั้น ในช่วงเดือนธันวาคม 2565-มกราคม 2566 หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียดคำขอรับงบประมาณ ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2566 พิจารณารายละเอียดงบประมาณ ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2566 เปิดรับฟังความคิดเห็นช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2566 สภาพิจารณางบประมาณวาระที่ 1