ปรับ ครม. ยุบสภา ย้อนรอย 9 สมัย โค้งสุดท้ายรัฐบาลรักษาการ

ปรับครม.

วาระการปรับ ครม.ในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล และในช่วงรัฐบาลรักษาการ ในห้วง 9 สมัยที่ผ่านมา มียุคนายกรัฐมนตรี คนไหน ตัดสินใจอย่างไร เทียบกับยุคประยุทธ์ ที่ไม่ยอมปรับ ครม.ตามคำขอของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ก่อนอายุรัฐบาลเหลือไม่ถึง 6 เดือน

ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการว่างทั้งหมด 3 เก้าอี้ คือ  รมช.แรงงาน และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่อยู่ในโควตาพรรคพลังประชารัฐที่ว่างลง และเก้าอี้ที่ขาชำรุดอย่าง รมช.ศึกษาธิการ ที่อยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่

ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด หาก พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ปรับ ครม.ในช่วงปลายรัฐบาล เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1 ที่กลุ่มสี่กุมารลาออกจากรัฐมนตรีเพื่อไปก่อร่างขึ้นโครงพรรคพลังประชารัฐ

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมีเก้าอี้ว่างถึง 4 เก้าอี้ ได้แก่ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

หากย้อนกลับไปรัฐบาลตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 35 เป็นต้นมา นายกรัฐมนตรีแต่ละยุคมีเหตุผลในการปรับ ครม.แตกต่างกันไป ไล่ตั้งแต่รัฐบาลสมัยนายชวน หลีกภัย 1 และ “รัฐบาลชวน 2”

รัฐบาลชวน 1 สิ้นสุดลงเนื่องจาก “ยุบสภา” ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2538 และให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 โดยมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นใน ครม. โดยมีรัฐมนตรีขอลาออกจำนวน 11 ตำแหน่ง

ขณะที่รัฐบาลชวน 2 สิ้นสุดลง เนื่องจากยุบสภาเช่นเดียวกัน ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2543 และให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม 2544

แต่ระหว่างนั้น นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร ขอลาออกจากตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ นายสุชน ชามพูนท ขอลาออกจากรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย

นายอดิศัย โพธารามิก ขอลาออกจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ขอลาออกจาก รมว.ศึกษาธิการ

รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยุบสภาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2539 และมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539

นายบรรหารปรับ ครม. วันที่ 27 กันยายน 2539 แต่งตั้งรัฐมนตรี 7 ตำแหน่ง ประกอบด้วย 1.ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี เป็นรองนายกรัฐมนตรี 2.นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็น รมว.อุตสาหกรรม 3.พล.อ.วิโรจน์ แสงสนิท เป็น รมช.กลาโหม

4.นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ เป็น รมช.คลัง 5.ม.ร.ว.เทพ เทวกุล รมช.ต่างประเทศ 6.น.ส.สุคนธ์ กาญจนาลัย รมช.พาณิชย์ และ 7.นายอาษา เมฆสวรรค์ เป็น รมช.มหาดไทย

วันที่ 15 ตุลาคม 2539 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐมนตรีขอลาออก 1 ตำแหน่งคือ นายบดี จุณณานนท์ ขอลาออกจากตำแหน่ง รมช.คลัง

วันที่ 18 ตุลาคม 2539 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐมนตรีลาออก 1 ตำแหน่งคือ นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ขอลาออกจากตำแหน่ง รมช.คลัง

วันที่ 22 ตุลาคม 2539 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐมนตรีลาออก 1 ตำแหน่งคือ นายเสริมศักดิ์ การุญ ขอลาออกจากตำแหน่ง รมช.คลัง

สัญญาณก่อนนายบรรหารประกาศยุบสภา มีรัฐมนตรีขอลาออกถึง 5 ตำแหน่ง อาทิ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) ขอลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี นางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ ขอลาออกจากตำแหน่ง รมช.มหาดไทย

รัฐบาลบิ๊กจิ๋ว-พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี’40 อยู่ในวาระได้แค่ปีเดียว ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540

การปรับ ครม.หลังจาก พล.อ.ชวลิตประกาศ “ลอยตัวค่าบาท” เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 โดยเฉพาะ “รัฐมนตรีเศรษฐกิจ” หลายตำแหน่ง

วันที่ 15 สิงหาคม 2540 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร เป็นรองนายกรัฐมนตรี

วันที่ 24 ตุลาคม 2540 นายทนง พิทยะ ขอลาออกจากตำแหน่ง รมว.คลัง นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ขอลาออกจากตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ และแต่งตั้งนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็น รมว.คลัง นายสม จาตุศรีพิทักษ์ เป็น รมว.พาณิชย์

รัฐบาลทักษิณ 1 เป็นรัฐบาลที่อยู่ครบวาระ 4 ปี เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2548 และมีการปรับ ครม.ทุก 5-6 เดือน ปรับ ครม.ครั้งสุดท้ายก่อนครบวาระเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2547 อาทิ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ขอลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ ขอลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ขอลาออกจาก รมว.กลาโหม

วันที่ 6 ตุลาคม 2547 มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี และแต่งตั้งรัฐมนตรี อาทิ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พ้นจากรองนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล พ้นจาก รมช.พาณิชย์ เป็น รมว.อุตสาหกรรม นายสุธรรม แสงประทุม พ้นจาก รมช.ศึกษาธิการ เป็น รมช.มหาดไทย

ขณะที่รัฐบาลทักษิณ 2 อยู่ไม่ครบวาระ ถูกรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีเพียงนายวิษณุ เครืองาม ที่ขอลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ไปก่อนนั้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2549

จากนั้นรัฐบาลขิงแก่-พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 และรัฐบาลสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551

ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง-รักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ รัฐบาลขิงแก่ แต่งตั้ง-รัฐมนตรีขอลาออก อาทิ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 นายวัลลภ ไทยเหนือ ขอลาออกจาก รมช.สาธารณสุข

วันที่ 1 ตุลาคม 2550 นายอารีย์ วงศ์อารยะ ลาออกจาก รมว.มหาดไทย แต่งตั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าปฏิวัติ เป็นรองนายกรัฐมนตรี

วันที่ 2 ตุลาคม 2550 นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ลาออกจาก รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 3 ตุลาคม 2550 แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ เป็น รมว.มหาดไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง

รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช สิ้นสุดลงเพราะตุลาการภิวัตน์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 พิษจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า”

ก่อนที่นายสมัครจะถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ต้องรักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ มีการปรับ ครม.เพื่อแต่งตั้งรัฐมนตรีเพิ่ม-สลับเก้าอี้ 11 ตำแหน่ง อาทิ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เป็นรองนายกรัฐมนตรี

และ รมว.มหาดไทย นายมั่น พัธโนทัย เป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็น รมช.คลัง นายพิชัย นริพทะพันธ์ุ เป็น รมช.คลัง นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล พ้นจาก รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็น รมว.สาธารณสุข

รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงระยะสั้น (24 ก.ย.- 2ธ.ค. 51) ก่อนแต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551 นายสหัส บัณฑิตกุล ได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2551

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน สิ้นสุดรัฐบาลสมชายนั้น พล.อ.ชวลิตได้ลาออกจากตำแหน่ง จากพิษเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551

ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีแรงกระแทกจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่ขาดไม่ได้อย่างพรรคภูมิใจไทย


โดยเฉพาะพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐที่ พล.อ.ประวิตรกุมสภาพได้ทั้งหมด พลังประชารัฐจบที่ลุงป้อม-ครม.จบที่ลุงตู่ ประชาธิปัตย์คงต้องร้องเพลงรอต่อไป