ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน กฎหมายเลือกตั้ง สูตรหาร 100 ขัด รธน.หรือไม่วันนี้

ศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัย กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.สูตรหาร 100 หมอระวี ผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญ ยอมรับคำวินิจฉัย หากตีตกคำร้อง

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมปรึกษาคดีเพื่อที่จะมีมติกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 105 คน ขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 132 ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … (พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.) มาตรา 25 และมาตรา 26 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 และมาตรา 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวยื่นโดยกลุ่ม 105 ส.ส.พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็ก นำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่

โดยหัวใจของคำร้องที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น มีประเด็น อาทิ วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหลังเลือกตั้ง สูตรหาร 100 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ, ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ตราไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยใช้เทคนิคพิจารณาให้เวลาเกินกรอบ 180 วัน รวมถึง ใน 1 ปีหากมีการเลือกตั้งทั่วไป เพราะการทุจริตหรือเลือกตั้งไม่เที่ยงธรรม การห้ามนำคะแนนที่ได้จากเลือกตั้งซึ่งไม่สุจริตเที่ยงธรรมมารวมคำนวณ ซึ่งเขียนไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 94 ที่กำหนดให้ความเชื่อมโยงกับมาตรา 93 ไว้ และคาดว่าจะเกิดปัญหาในอนาคตได้

ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะผู้รวบรวมรายชื่อสมาชิก ส.ส.และส.ว.ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ได้ร้องไป 2 ประเด็น ไม่ใช่ประเด็นเดียวคือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 25 และมาตรา 26 ของร่างกฎหมายลูกฉบับดังกล่าว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และ 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

ซึ่งทางออกอาจจะวินิจฉัยว่า เห็นด้วยทั้ง 2 ประเด็น หรือไม่เห็นด้วยทั้ง 2 ประเด็น หรืออาจจะเห็นด้วยประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยสามารถเป็นไปได้ทุกทาง แต่ไม่ว่าจะออกมาอย่างไร จะถือเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทย

“ถ้าออกมาว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผมร้องไป ผมก็พร้อมยอมรับคำวินิจฉัยของศาล และถือว่าเป็นที่สิ้นสุด สงครามจบนับศพทหารได้ ถึงแม้ว่าจะมีช่องว่าง 5 วัน ก่อนนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ผมจะไม่ใช้สิทธิตรงนั้นแล้ว ส่วนฝั่งตรงกันข้ามที่เห็นด้วยกับระบบหารด้วย 100 หากคำวินิจฉัยของศาลออกมาไม่ตรงกับสิ่งที่พวกพ้องตัวเองคิด ก็ขอให้ยอมรับคำวินิจฉัยดังกล่าวเหมือนผมด้วย”

ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ตนไม่กังวล เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าหาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญ สภาก็พิจารณากันใหม่ แต่ถ้าไม่ทัน รัฐบาลก็ต้องตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การเลือกตั้ง ส.ส.มาเอง ซึ่งรัฐบาลก็ต้องออกที่เป็นประโยชน์ของตนเอง ซึ่งถือว่านิสัยไม่ดี ต้องออกให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน กติกาต้องเป็นธรรม ถ้าไม่เป็นธรรม บ้านเมืองก็ไม่สงบ