“บิ๊กตู่” สัญจรตีเมืองจันท์ เจาะฐานเสียงตะวันออกปั้นเมืองอีอีซี

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ (สัญจร) อย่างเป็นทางการที่จังหวัดจันทบุรี-ตราด ระหว่างวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมาของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รุกคืบทางการเมืองอย่างหนัก

จน “สาธิต ปิตุเตชะ” อดีต ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าพรรค รับผิดชอบพื้นที่ภาคกลาง “นั่งไม่ติด” ต้องตั้งโต๊ะแถลง “จับจอง” เป็นพื้นที่ “เครือข่าย” ของ ปชป.

โซนพื้นที่ภาคตะวันออก 8 จังหวัด มีประชากรรวมกันกว่า 4.95 ล้านคน เป็นพื้นที่-ความรับผิดชอบของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี “แม่ทัพเศรษฐกิจ” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-คสช. งานนี้จึง “ไม่ง่าย” สำหรับ ปชป.-พรรคเก่าแก่ ที่จะยึดพื้นที่ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ตั้งแต่ “สมคิด” เข้ามากุมบังเหียนเศรษฐกิจเต็มตัว “สมคิด” ได้ “ปักหมุด” โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ไว้อย่างถึงรากถึงโคน ประคบประหงม เป็น “ไข่แดงทางเศรษฐกิจ”-ระเบียงกรุงเทพฯ ด้วยกลยุทธ์ “โรดโชว์” ญี่ปุ่น จีน ยุโรป จนสามารถดึงดูดนักลงทุนยักษ์ใหญ่ทั่วโลก

ประกอบกับ “ทีมสมคิด” ที่มี “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี-ผู้จัดการแก้จนรัฐบาล “อุตตม สาวนายน” รมว.อุตสาหกรรม และ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พาณิชย์ แท็กทีมแก้ปัญหาคนรากหญ้า-เกษตรกรกันได้อย่างเข้าขา

การประชุม “ครม.สัญจร” จังหวัดจันทบุรี-ตราด ในครั้งนี้ จึงเป็นการติดตามโครงการขนาดใหญ่-โครงการตามนโยบายของรัฐบาลที่มีผลต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภาค-มีผลกระทบกับประชาชนในวงกว้าง รวมทั้งนำเสนอทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกและรับทราบผลการประชุม-ข้อเสนอของภาคเอกชนในพื้นที่

สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก ประกอบด้วย 1.พัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดีและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยการพัฒนาโครงข่ายความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งหลักให้เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเมืองในอนาคต ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 2 ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ท่าเรือสัตหีบ รถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองช่วงพัทยา-มาบตาพุด

ส่งเสริมการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในพื้นที่ EEC เช่น จัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ พัฒนากำลังคนรองรับ EECd EECi ชักชวนนักลงทุนที่มีศักยภาพ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลนานาชาติในจังหวัดชลบุรี-ระยอง ให้เป็นฐานการกระจายรายได้และการสร้างงานให้แก่ชุมชน พัฒนาให้เป็นเมืองหน้าอยู่ เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างสมดุล ได้แก่ ฉะเชิงเทรา : เมืองที่อยู่อาศัยชั้นดีที่ทันสมัย พัทยา : เมืองท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ อู่ตะเภา : ศูนย์ธุรกิจการบิน และ ระยอง : เมืองแห่งการศึกษาและวิทยาศาสตร์

2.พัฒนาภาคตะวันออกให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล และให้เป็น “ศูนย์ผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย” ส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ ได้แก่ สุกร-ไก่ ในจังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา ให้มีคุณภาพ-มาตรฐานความปลอดภัย พัฒนาพื้นที่ด้านประมง-เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

3.ปรับปรุงมาตรฐานสินค้าและธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว ฟื้นฟู-ปรับปรุงการพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงเกษตร เชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ฟื้นฟู-อนุรักษ์การท่องเที่ยวในจังหวัดปราจีนบุรี และสระแก้ว ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอารยธรรมขอม

4.พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนให้เป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดนอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ให้เป็นประตู-ศูนย์กลางทางการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน เชื่อมโยงกับประเทศกัมพูชา-เวียดนาม

พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดนหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าชายแดน-การท่องเที่ยว เชื่อมเกาะกง กัมพูชา

พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนบ้านแหลมและบ้านผักกาด อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ให้เป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนเชื่อมโยงพระตะบอง และไพลิน ของกัมพูชา

5.การแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและจัดระบบการบริหารจัดการมลพิษให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในจันทบุรีและตราด

เร่งบูรณะฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้เกิดความสมดุลต่อระบบนิเวศ ฟื้นฟูป่าชายเลนและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจันทบุรี-ฉะเชิงเทรา ดำเนินการตามมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศอย่างเคร่งครัดในพื้นที่ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

เพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน ได้แก่ แม่น้ำระยองตอนบน-ตอนล่าง และแม่น้ำพังราดตอนบน

การประชุม “ครม.สัญจร” ในครั้งนี้ จึงถือว่า “ทีมสมคิด” ตีโจทย์แตก-โกยแต้มทางการเมืองให้กับ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้เป็นกอบเป็นกำ สลับกับฉาก “คนใกล้ชิด” พ่นพิษฉุดรัฐบาล “ขาลง”


ปักหมุด “มหานครผลไม้” ปลูกแบบอินทรีย์หนีราคาตก

“ครม.สัญจร” โซนภาคตะวันออก ของ “บิ๊กตู่-ทีมสมคิด” 1 ใน “แคมเปญ” ระดับ “แกรนด์” ที่ถูกชูขึ้น “ตีคู่” โครงการ EEC คือ การผลักดันให้ภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี ให้เป็นมหาอำนาจ-เมืองแห่งมหานครผลไม้เมืองร้อนของเอเชีย

“อุดม วรัญญูรัฐ” ประธานแปลงใหญ่ทุเรียน วิสาหกิจชุมชนชาวสวนทุเรียนเมืองจันท์ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี กล่าวถึงช่องทาง-โอกาสทางธุรกิจในการผลักดันภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรีให้เป็นเมืองมหานครผลไม้ของรัฐบาล ระหว่างมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ พาลงพื้นที่-รับฟังข้อมูลจากเกษตรกรตัวจริง-เสียงจริงว่า มีความเป็นไปได้

เนื่องจากจังหวัดจันทบุรีมีศักยภาพสูงและเป็นที่ยอมรับของตลาด โดยเฉพาะสภาพภูมิประเทศ ถึงแม้ว่าจันทบุรีจะไม่ใช่พื้นที่ปลูกผลผลิตที่เป็นถิ่นกำเนิด อาทิ ลำไย กล้วยไข่ มังคุด ทุเรียน แต่ผลผลิตที่ออกมาก็มีคุณภาพและรสชาติตรงตามความต้องการของตลาด จึงสมควรที่จะให้จันทบุรีเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) หรือเป็นแหล่งที่จะผลิตผลไม้ได้หลากหลาย

“จุดแข็งของจังหวัดจันทบุรี คือ สถาบันทางการเงินที่เป็นแหล่งสนับสนุนเงินทุน เห็นศักยภาพของจันทบุรีว่ามีความพร้อม เช่น ความได้เปรียบสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นตัวแปรกำหนดปริมาณและคุณภาพของผลผลิตมากกว่าภูมิภาคอื่น เป็นพื้นที่ความเสี่ยงน้อยทำให้ธนาคารหรือนายทุนกล้าที่จะลงทุน”

ทว่าปัญหาเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ หากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการปลูกผลผลิตจำนวนมาก จะทำให้กลับไปสู่วงจรเดิม คือ ผลผลิตที่ออกมา “ล้นตลาด-ราคาตก” หรือไม่ นายอุดมกล่าวว่า ต้องทำให้ผู้บริโภคยอมรับในคุณภาพรสชาติ

ขณะนี้เกษตรกรกำลังปรับตัวตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งต้องการให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบที่เป็นสากลมากขึ้น เช่น การห้ามใช้ยาฆ่าแมลงบางชนิด และส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ เพราะในอนาคตเทรนด์ของผลผลิตผลไม้โลกจะไปในทิศทางนั้น อย่างไรก็ตาม “ประธานวิสาหกิจชุมชน” แนะนำว่า รัฐบาลต้องเตรียมตลาดไว้รองรับผลผลิตตามนโยบายเกษตรอินทรีย์ที่จะออกมาให้ชัดเจน

“ทิศทางของรัฐบาลนี้กำลังลงมาส่งเสริมผลผลิตมากขึ้น แต่เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนขั้วทางการเมือง นโยบายที่ทำไว้เดิมก็เปลี่ยนแปลงไป พอเปลี่ยนรัฐมนตรี เปลี่ยนผู้นำ นโยบายก็เปลี่ยนตามไปด้วย แล้วเมื่อไรจะถึงจุดหมายปลายทาง ทุกเรื่อง เพราะรัฐบาลไม่ได้สานต่อ ถึงแม้จะเป็นนโยบายที่ดี แต่คนที่เข้ามาใหม่ก็ต้องการสร้างผลงานใหม่ แล้วผลงานหรือนโยบายเดิมไม่มีใครสานต่อ”

สิ่งที่นายอุดมยึดถือเป็นแนวทางตลอดกว่า 30 ปี คือ เกษตรกรต้องพึ่งพาตัวเอง-ช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นมาไม่ได้คาดหวังงบประมาณจากภาครัฐ แต่ต้องการให้รัฐบาลเป็น “พี่เลี้ยง” ในสิ่งที่เป็นอุปสรรค-เกินความสามารถในการแก้ปัญหา

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Prachachat ได้แล้วทั้งระบบ iOS และแอนดรอยด์