ไทยร่วมประชุมแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 6 ประเทศ GMS ครั้งที่ 25

ไทยร่วมประชุมแผนเศรษฐกิจที่ลาว
ภาพจาก pixabay

ไทยร่วมประชุมรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 6 ประเทศ GMS ครั้งที่ 25 สปป.ลาวเป็นเจ้าภาพ ขับเคลื่อนการลงทุน-เศรษฐกิจดิจิทัล-ยุทธศาสตร์ความเท่าเทียมทางเพศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบเอกสาร 5 ฉบับ ที่จะมีการรับรองในการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Subregion economic cooperation program : GMS)

ครั้งที่ 25 ในวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ณ เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภายใต้หัวข้อ “การเร่งรัดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพื่อต่อยอด 30 ปี แห่งความสำเร็จของแผนงาน GMS ไปสู่การพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน” ซึ่งสาระสำคัญของเอกสารทั้ง 5 ฉบับมีดังนี้

ฉบับแรก ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 25 เป็นการรับทราบการดำเนินงาน อาทิ

1.ความก้าวหน้าสำคัญในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ เช่น

  1. ด้านคมนาคม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม
  2. ด้านพลังงาน การสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานผ่านการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด
  3. ด้านการเกษตร การส่งเสริมการทำเกษตรที่ยั่งยืน
  4. ด้านสิ่งแวดล้อม การลงทุนในสาขาสิ่งแวดล้อมเพื่อผลักดันการพลิกฟื้นเศรษฐกิจสีเขียว

2.รับทราบและให้การรับรองแผนและการดำเนินงานที่มีความก้าวหน้าในประเด็นเชิงบูรณาการ เช่น การจัดตั้งเครือข่ายองค์ความรู้ของอนุภูมิภาค GMS ความร่วมมือด้านดิจิทัลและการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล และ

3.เน้นย้ำการดำเนินตามกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS พ.ศ. 2573 พร้อมทั้งกำหนดให้มีกลไกติดตามและประเมินผล และเร่งสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนา

ฉบับที่สอง ยุทธศาสตร์ความเท่าเทียมทางเพศ GMS เน้นย้ำการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ผ่านการสร้างโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในโครงการรายสาขาต่าง ๆ ภายใต้แผนงาน GMS ให้มากยิ่งขึ้น และเป็นการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 5 โดยระบุประเด็นเชิงบูรณาการ

เช่น การประสานเศรษฐกิจมหภาค การเคลื่อนย้ายแรงงานและการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างปลอดภัย การศึกษาและทักษะ เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

ฉบับที่สาม กรอบการประเมินผลลัพธ์สำหรับกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS พ.ศ. 2573 จัดทำขึ้นเพื่อเป็นกรอบในการติดตามและประเมินผลในการบรรลุวิสัยทัศน์ GMS 2030 คือ “อนุภูมิภาคที่มีการบูรณาการ มั่งคั่ง ยั่งยืน และครอบคลุมมากขึ้น” โดยได้กำหนดตัวชี้วัดใน 3 ระดับคือ

ระดับที่ 1 ความก้าวหน้าในการบรรลุวิสัยทัศน์ที่ได้กำหนดไว้ โดยให้ความสำคัญกับการประเมินผลการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในภาพรวม ระดับที่ 2 ประเมินผลระดับโครงการภายใต้สามเสาหลักของวิสัยทัศน์แผนงาน GMS พ.ศ. 2573 (การเชื่อมต่อ (connectivity) ความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) และชุมชน (community)) และระดับที่ 3 ประเมินปัจจัยนำเข้าในมิติด้านงบประมาณการสนับสนุนองค์ความรู้และกลไกเชิงสถาบัน

ฉบับที่สี่ ข้อริเริ่มความร่วมมือเศรษฐกิจดิจิทัล GMS จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้า เร่งการเชื่อมต่อด้านดิจิทัล ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล และเร่งการพัฒนาระบบการเงินดิจิทัล โดยมีแนวทางการดำเนินการคือ การจัดทำโครงการวิจัยเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาเศษฐกิจดิจิทัลใน GMS เพื่อศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน แสวงหาโอกาสและความท้าทายของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลใน GMS

และฉบับที่ห้า กรอบการลงทุนของภูมิภาคฉบับใหม่ พ.ศ. 2568 (RIF 2025) มุ่งพัฒนาเกณฑ์ของกรอบการลงทุนอนุภูมิภาคฉบับใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการคัดเลือกโครงการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง มีแหล่งเงินทุนที่ชัดเจน ทั้งนี้ โครงการมูลค่าลงทุนสูงของไทยที่ได้เริ่มดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา และเข้าสู่กลไกงบประมาณแล้ว ได้แก่ โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ในประเทศ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ


นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศในครั้งนี้คือ

  1. นำเสนอบทบาทการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของไทยใน GMS
  2. หารือแนวทางการฟื้นฟู GMS ภายหลังโควิด-19
  3. สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ EEC และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ