“ยิ่งลักษณ์” ส่งทนายยื่นศาลปกครองขอทุเลางดหรือชะลอขายบ้านทอดตลาด จนกว่าศาลตัดสิน

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายนพดล หลาวทอง ทนายความ เป็นตัวแทนเดินทางมายื่นคำร้องทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของนายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 4 คน ที่สั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท จากกรณีขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ กระทำการโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และทำให้ทางราชการเสียหาย โดยขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้กรมบังคับคดีงดหรือชะลอการขายทอดตลาดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

นายนพดลกล่าวว่า ที่มายื่นคำร้องใหม่ครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าการยึดทรัพย์บังคับคดีจะต้องเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำพิพากษา แต่กรณีนี้ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลใดให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชดใช้ คำสั่งที่ให้ชดใช้เป็นเพียงคำสั่งทางปกครองที่เกิดขึ้นในสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ และมีความไม่ชอบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการสอบสวน การสอบสวนหาความรับผิด ที่มุ่งแต่หาความเสียหายโดยไม่คำนึงถึงเนื้อหา การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งกรมบังคับคดีขึ้นมาเพื่อบังคับแทนหน่วยงานปกติ และยังให้ความคุ้มครองโดยไม่ต้องรับผิดทางอาญา อีกทั้งโครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ครม. ที่ต้องเป็นผู้รับผิดหากเห็นว่าการดำเนินการต่างๆ เป็นไปด้วยความไม่ถูกต้อง ต้องเป็นอำนาจตรวจสอบของรัฐสภา โดย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางการปกครองบังคับไว้ชัดเจนว่าไม่ให้นำเรื่องคำสั่งทางปกครองหรือกระบวนการทางปกครองมาใช้บังคับกับกรณีนี้

นายนพดลกล่าวต่อว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการสาธารณะที่ไม่อาจจะมาคิดเรื่องผลกำไรขาดทุน ในส่วนการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า การทุจริตที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสวมสิทธิ การโกงความชื้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในขั้นตอนปฏิบัติ ไม่ได้เกิดขึ้นในขั้นตอนของนโยบายที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กำกับดูแล จึงเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดในทางละเมิด ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาของศาลในกรณีให้อดีตนายกรัฐมนตรีรับผิดทางละเมิดยังไม่มี และคำสั่งทางปกครองที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่น่าจะมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมายึดทรัพย์บังคับคดีในระหว่างที่ยังมีการพิจารณาคดี เพราะจะทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับความเสียหาย ยากต่อการเยียวยาในภายหลัง จึงต้องมายื่นคำร้องต่อศาลปกครองอีกครั้ง

“ตอนนี้กรมบังคับคดีมีการยึดทรัพย์อายัดบัญชีเงินฝากของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทั้งหมดแล้ว ทั้งที่ทรัพย์บางส่วนเกิดจากการทำมาหาได้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นน้ำพักน้ำแรงก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บ้านพักอาศัยในปัจจุบัน สามีและบุตรพร้อมบริวารยังอาศัยอยู่ เหมือนเอาคนไปประหารก่อนมีคำพิพากษา หากภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่าไม่ผิด จะมีการชดใช้ความเสียหายนี้อย่างไร เพราะไม่ได้เสียหายเฉพาะทรัพย์สิน แต่ยังเสียหายไปถึงเกียรติยศศักดิ์ศรีชื่อเสียงวงศ์ตระกูล” ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวและว่า ส่วนของคดีหลักยังอยู่ในขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลปกครอง ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานอีกเท่าใด” นายนพดลกล่าว

นายนพดลกล่าวอีกว่า การยื่นคำร้องขอฉบับใหม่นี้ เป็นการใช้สิทธิตามปกติซึ่งกฎหมายให้สิทธิไว้ เพราะคดีที่กระทรวงการคลังได้ออกคำสั่งที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 สั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในโครงการรับจำนำข้าวเป็นเงินจำนวนมากถึง 3.5 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นการออกคำสั่งเรียกให้รับผิดโดยยังไม่ได้ผ่านกระบวนการพิสูจน์ความผิดโดยศาล แต่เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายรัฐ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังได้ใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ให้กรมบังคับคดีเข้าดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเรื่องที่ผิดปกติ เพราะในคดีอื่นๆ เมื่อฝ่ายบริหารใช้อำนาจรัฐออกคำสั่งเรียกให้ชดใช้แล้ว จะมีการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ทุกฝ่ายจะรอผลแห่งคำพิพากษา เมื่อเป็นที่ยุติอย่างไรจึงจะดำเนินการต่อไป เช่น ศาลพิพากษาให้ต้องรับผิด ก็จะมีการยึดอายัดทรัพย์สินนำไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินที่ได้มาชดใช้ต่อไป แต่คดีนี้กลับเลือกปฏิบัติ โดยมีการกระทำการยึดเงินสดและอายัดทรัพย์สินไปก่อนที่จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงได้ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์กับพวกต่อศาลปกครอง เป็นคดีนี้ ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงได้ใช้สิทธิตามกฎหมาย ยื่นคำร้องขอต่อศาลปกครองให้คุ้มครองเป็นการชั่วคราว ด้วยการเพิกถอนการยึดอายัดทรัพย์สินไปโดยกรมบังคับคดีมีถึง 37 รายการ โดยอาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ดังกล่าว ต่อมาศาลสั่งยกคำร้อง

นายนพดลกล่าวด้วยว่า การยื่นคำร้องใหม่ครั้งนี้ ได้แสดงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ศาลเห็นว่า กรณีได้เข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ประการ ตามข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 แล้ว ที่ศาลจะสั่งทุเลาการบังคับฯ คือการคุ้มครองแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นการชั่วคราว เงื่อนไขดังกล่าวคือ ประการแรก คำสั่งทางปกครอง ที่เรียกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ความเสียหายนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาแล้วว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้กระทำผิดในส่วนของการดำเนินนโยบายจำนำข้าว เพราะได้ใช้ความระมัดระวังและมีมาตรการป้องกันอย่างดีแล้ว แต่เป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ โดยคำสั่งที่เรียกให้ชดใช้ในคดีนี้นั้นอ้างความบกพร่องให้รับผิดในเรื่องจำนำข้าวเพียงอย่างเดียว ทำให้การคิดคำนวณค่าเสียหายที่เรียกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ เป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายนพดลกล่าวอีกว่า ประการที่ 2 หากให้คำสั่งทางปกครองมีผลบังคับต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงจนยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง เพราะขณะนี้กรมบังคับคดีกำลังเตรียมการขายทอดตลาดกับทรัพย์สินที่ได้ยึดอายัดไป โดยเฉพาะบ้านพักอาศัยพร้อมที่ดินซึ่งมีบุตรและสามีกับเครือญาติพักอาศัยอยู่ หากขายทอดตลาดไปแล้ว ภายหลังศาลพิพากษาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้กระทำผิด ก็ไม่อาจเรียกคืนบ้านพักพร้อมที่ดินซึ่งขายทอดตลาดไปแล้วได้ อันเป็นความเสียหายทั้งต่อตัวทรัพย์สินและความเสียหายทางจิตใจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ บุตร สามี และผู้คนในครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ทำมาหากินมาโดยสุจริตตลอดชั่วอายุ โดยเฉพาะเป็นบ้านเกิดของบุตร ที่เจริญเติบโตมาจากบ้านหลังที่แม่กับพ่อได้ช่วยกันสร้างขึ้นมาจนปัจจุบัน

นายนพดลกล่าวด้วยว่า และประการสุดท้าย การที่ศาลจะได้สั่งให้งดหรือชะลอการขายทอดตลาดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไว้ก่อน จนกว่าจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำผิดจริงหรือไม่นั้น จะไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะแต่อย่างใด ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความเมตตาจากศาลปกครอง ที่จะให้การคุ้มครองเป็นการชั่วคราวด้วยการให้งดหรือชะลอการขายทอดตลาดไว้ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดชี้ถูกชี้ผิดว่าเป็นอย่างไร เหมือนเช่นบุคคลอื่นๆ ที่ได้รับการคุ้มครองจากศาล อันเป็นบทบัญญัติที่กฎหมายให้การคุ้มครองตลอดมา กรณีนี้มีการปฏิบัติผิดแผกแตกต่างจากคดีอื่นโดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้กรมบังคับคดียึดอายัดเงินสดและทรัพย์สินต่างๆ ไปแล้วโดยไม่ชอบทั้งสิ้น

 

ที่มา : มติชนออนไลน์