“สมชัย” ล่อฟ้าเกมเสี่ยง คสช. ยื้อเลือกตั้ง สร้างความขัดแย้งรอบใหม่

สัมภาษณ์

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ….

ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ…. จะกลายเป็นประเด็นร้อนการเมืองอีกครั้ง

ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” กกต.ในช่วงโรดแมป คสช.กำลังโค้งอันตรายอีกครั้ง เขากังวลกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.จะเป็นชนวนคว่ำโรดแมป และลากการเลือกตั้งยาวไปอีก 6 เดือน

Q : การขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ป.ส.ส.ออกไป 90 วัน ในฐานะผู้ปฏิบัติมองเรื่องนี้อย่างไร

กกต.คงชอบ เพราะมีเวลาเตรียมการต่าง ๆ มากขึ้น ให้เวลาเรามากก็พอใจ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ใน 3 เดือนนี้ กกต.จะออกระเบียบต่าง ๆ ก่อนกฎหมายบังคับใช้ไม่ได้ การทดเวลาไป ทดเวลามาซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรมาก

Q : ไม่ได้ช่วย กกต. แต่ช่วยให้ คสช.มีเวลามากขึ้น

เคยเตือนว่าได้ไม่คุ้มเสีย การขยาย 3 เดือน 1.พรรคการเมืองมองว่าไม่ได้ช่วยอะไร 2.ประชาชนรู้สึกว่าเป็นลูกเล่นของรัฐบาลที่จะอยู่ในอำนาจนานต่อไป เกิดกระแสความไม่พอใจ การรู้สึกว่าเป็นผู้นำต้องรักษาสัจจะถูกทำลาย หลังจากนั้นคนด่าเป็นชุด ด่าต่อเนื่องยาวนานเพราะคะแนนนิยมของรัฐบาลดูเหมือนลดน้อยลง

Q : คิดว่าเหตุผลที่แท้จริงที่ขยายเวลาออกไป 90 วันคืออะไร

เป็นเรื่องของกุนซือที่ช่วยให้คำแนะนำรัฐบาลว่ามองเกมอย่างไร วิธีการมองเกมมองได้ 2 อย่าง 1.อยู่นานทำคะแนนได้มากขึ้น ทำผลงานได้มากขึ้น เป็นการมองโลกในแง่ดี แต่การมองเกมแบบ 2 อยู่ไปยิ่งคะแนนน้อยลง คนยิ่งด่ามากขึ้น โอกาสแพ้ในอนาคตมากขึ้น เพราะคนเบื่อ คนรู้สึกว่าเพียงพอแล้วคิดว่าเสนาธิการของรัฐบาลมองว่าอยู่นานแล้วได้ประโยชน์ แต่หลายฝ่ายบอกว่าอยู่นานยิ่งแย่ คะแนนน้อยลง แต่จะตีขึ้นได้ไหม งบประมาณที่ลงไป โครงการไทยนิยมจะทำให้เกิดกระแสตีกลับจริงหรือไม่ เป็นเรื่องต้องพิสูจน์ฝีมือแต่ถ้าเอาประสบการณ์การมองการบริหารราชการแผ่นดิน คิดว่า ปลายสมัยของทุกคน ราชการไม่กระตือรือร้นในการทำงาน ทำงานแบบขอไปที เหมือน กกต.ชุดนี้ ให้ทำงานต่อเนื่องจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่มา แต่ทุกคนรู้ว่า กกต.ชุดนี้ถูกเซ็ตซีโร่ ผมสั่งร้อย เจ้าหน้าที่ทำ 25 ทุกคนจะเพลย์เซฟ ประวิงเวลา รอ กกต.ชุดใหม่มา

เช่นเดียวกัน สิ่งที่รัฐบาลคิดว่าจะทุ่มเททรัพยากร กำลังคนลงไป เขาก็รู้ว่าคุณไม่อยู่ จะกลับมาหรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าอ่านสถานการณ์ผิด เดินหมากพลาดเพียงแค่ครั้งเดียวมันแพ้ทั้งกระดาน แต่ขณะนี้คิดว่าเป็นปัญหา กลายเป็นว่าทุกอย่างที่วางไว้ในอดีตถึงเวลาต้องหาทางแก้ใหม่ นับครั้งไม่ถ้วน

Q : อะไรที่คิดว่าเสนาธิการอ่านเกมไม่ขาด

เช่น สังคม สื่อมวลชน ตั้งข้อสังเกตว่าการออกกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมาย ส.ส. เป็นไปเพื่อลดอิทธิพลของพรรคใหญ่ แต่พอถึงวันนี้ กลายเป็นทุกอย่างที่ทำพรรคใหญ่ได้เปรียบหมด

จะตั้งสาขาพรรค จะมีทุนประเดิม จะใช้โมเดลชูวิทย์ ไม่ต้องส่ง ส.ส.เขต และได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมันไม่มี เพาะถ้าไม่ส่ง ส.ส.เขตจะเอาคะแนนที่ไหนมานับเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และการส่ง ส.ส.เขต ใครส่งมากกว่าคนนั้นก็ได้เปรียบมากกว่า พรรคใหญ่ส่งได้มากกว่า พรรคเล็กจะส่งได้กี่เขต ระหว่างส่งผู้สมัคร 350 เขต กับส่ง 20 เขต พรรคเล็กจะเอาอะไรมาสู้พรรคใหญ่กระบวนการคิด ชอบเอาสถิติในอดีตมาจำลองสถานการณ์ ว่าพรรคไหนจะได้เพิ่ม พรรคไหนจะน้อยลง โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาเอาข้อมูลจาก กกต.ไป ขอประสานอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อเอาเข้าสูตรดู ถ้าผู้เลือกตั้งแบบนี้ พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.เท่านี้ พอออกแบบใหม่พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.น้อยลง พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคกลางได้คะแนนเพิ่มขึ้น แต่กระบวนการคิดแบบนี้ไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง บริบทต่างกัน ตอนนี้บัตรเลือกตั้งสองใบเหลือใบเดียว

ทุกเขตต้องพยายามส่งคนที่คิดว่าจะได้คะแนนเสียงสูงสุด ไม่ได้ที่ 1 ก็ต้องเอาที่ 2 เพื่อสะสมคะแนนทั้งประเทศ พรรคใหญ่ทุกพรรคจะส่งครบ 350 เขต และจะส่งตัวดีที่คิดว่าแม้ไม่ชนะก็ต้องได้ที่ 2 ที่ 3 ดังนั้น สูตรการคำนวณจำลองสถานการณ์ ถึงเวลาไม่ใช่…

ก็ต้องรอดูว่าจริงหรือไม่จริง จึงคิดว่าคนที่เป็นเสนาธิการอ่านเกมไม่ออก และไม่ขาด ท้ายสุดจะกลายเป็นคาดผลอีกอย่าง ได้อีกอย่าง

Q : ไม่คิดว่า คสช.ร่างกติกาใหม่ มีกลไกอำนาจรัฐ และกำลังจะมี กกต.ชุดใหม่ จะทำให้ได้เปรียบ

ไม่คาดการณ์ แต่สิ่งที่ คสช.คิด ถ้าคิดดีไม่ต้องแก้เกมตลอดเวลา แต่ตอนนี้เปลี่ยนกติกาอยู่เรื่อย ๆ แปลว่าไม่นิ่ง กรณีมหรสพ พอ กกต.ชี้ประเด็นไปว่า พรรคใหญ่มีความได้เปรียบในแง่ที่มีเครือข่าย มีบริษัทศิลปินด้วยซ้ำ ตอนนี้เกิดความรู้สึกเสียดายว่าโหวตผิด จะขอกลับไปเป็นแบบเดิม จะขอกลับกลับอย่างไร กลับไม่ได้ เพราะจะเอาประเด็นขัดกับรัฐธรรมนูญตรงไหน ขัดเจตนาตรงไหน ยังหาไม่เจอ

Q : แต่การจัดมหรสพในช่วงหาเสียงเลือกตั้งพรรคการเมืองเห็นแย้ง

ปัญหาคือเมื่อวงเงินค่าใช้จ่ายเลือกตั้งจำกัด 1.5 ล้านบาท แต่พรรคจะต้องมีความเท่าเทียมการใช้จ่ายเงิน เพียงแต่มหรสพมีมุมว่าค่าใช้จ่ายที่แท้คือเท่าไหร่ ราคากลางมีหรือไม่…คำตอบคือไม่มี

จึงเป็นช่องว่าพรรคอาจมีคอนเน็กชั่น หรือผู้สมัครมีเพื่อนเป็นดารา ก็สามารถได้ต้นทุนที่ต่ำกว่า หรืออาจมีการจ่ายหลังฉาก กกต.ตรวจสอบยาก และการจัดมหรสพ ลดความเข้มข้น และเนื้อหาสาระของการหาเสียง อาจช่วยจูงใจให้คนมาดูแต่ไม่ได้ทำให้ความสนใจในเนื้อหาสาระที่เป็นการเลือกตั้งคุณภาพเกิดขึ้น ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งเปลี่ยนโฉมไป

Q : ทำไมถึงทำให้โฉมหน้าการเลือกตั้งเปลี่ยนไป

ทำให้คนที่เก่ง ฉลาด รู้จักเอาเปรียบ มีทุนมากกว่าได้เปรียบได้ ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นธรรม และกลายเป็นเอาสิ่งที่เป็นความบันเทิงมาเป็นด้านหลักของการเลือกตั้ง

Q : อาจารย์ตั้งใจพลิกหาใช่หรือไม่

ผมดูแล้ว พลิกไม่มีหรอกครับ จะเอาตรงไหน ข้าง ๆ คู ๆ พอไปได้ อาจก่อให้เกิดความไม่เที่ยงธรรม ก็เขียนออกมาดีแล้วนี่ ต้องมีการกำหนดราคากลาง ถ้าทำไม่ได้ กกต.แย่เอง เพราะไม่สามารถกำกับควบคุมก็ออกไปทางด้านนั้น

Q : ยืมมือ กกต.ทำความเห็นแย้งเพื่อไปออกแบบกันใหม่ให้ถูกตีตก เพื่อทอดเวลาการเลือกตั้งออกไป

ไม่ทราบ แต่จุดยืน กกต.ตอนนี้เอาถ้ามีประเด็นขัดกับรัฐธรรมนูญจริงเราก็ไม่ลังเลใจที่จะส่ง ไม่อยากให้กฎหมายที่ไม่มีคุณภาพออกสู่สังคม

Q : กฎหมาย ส.ส. ส.ว.ซึ่งมีความสำคัญต่อโรดแมป มีทางเป็นไปได้ไหมที่จะเกิดอุบัติเหตุ

พ.ร.ป.ส.ส.ไหลลื่นไปแล้ว 1.คิดว่า คสช.ได้สิ่งที่ต้องการคือได้ขยายเวลาบังคับใช้ 90 วันแล้ว 2.ประเด็นปลีกย่อยทั้งหลาย ยังมองไม่เห็นว่าขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย คงไม่มีประเด็นที่โหวตกัน 2 ใน 3 เพื่อล้มกฎหมาย เพื่อยืดการเลือกตั้งออกไปแต่ตัว พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ ส่วนของ กกต.ไม่แย้ง

แต่ฝั่ง กรธ.แสดงท่าทีว่าการไม่ให้เลือกไขว้จะทำให้ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ถ้า กรธ.หาเรื่องหยิบยกมาเป็นความเห็นแย้ง ก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ละครหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ อาจจะตกลงกันไม่ได้ ต้องโหวตกันในสภา จะล้มทั้งฉบับก็เป็นไปได้ วิกฤตของโรดแมปการเลือกตั้งคราวนี้อยู่ที่ ส.ว.

Q : ถ้าร่างกันใหม่โรดแมปจะยืดออกไปอีกกี่เดือน

6 เดือน คือขั้นตอนอยู่ใน กรธ. ถ้ากฎหมายถูกคว่ำคิดว่าอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ไม่น่ามีความชอบธรรมในการร่างแล้วเพราะโหวตตกในสภา โดยมารยาทไม่ควรมาเกี่ยวข้องกับร่างใหม่ ต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาดูโดยอาจจะใช้เวลา 2-3 เดือน เข้าสภา 2 เดือน และทูลเกล้าฯ 1 เดือน อาจเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นไปได้ และน่าเป็นห่วงที่สุด

Q : จะเป็นช่องทางให้เสนาธิการ คสช.แก้มือหรือไม่

ปัญหาว่า การใช้ลูกเล่นเพื่อทำให้เวลาขยายไป เกิดผลสำเร็จในการขยายเวลา แต่อารมณ์ความรู้สึกของคนที่เริ่มรู้สึกว่ารัฐบาลมีลูกเล่น ทุกอย่างเป็นละคร แบ่งบทบาทหน้าที่เล่นรับกันไป เล่นรับกันมา ทั้งที่เจ้าของคณะละคร เจ้าของเดียวกัน ความรู้สึกดังกล่าว การยืดเวลาออกไปอีกก็เป็นเชื้อปะทุที่สำคัญ และสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนในสังคมก็ได้ และความขัดแย้งรอบใหม่จะเกิดขึ้นจาก คสช.เอง

Q : โจทย์ใหม่ที่ กกต.ชุดใหม่จะต้องเจอคืออะไร

โจทย์ใหม่สำหรับ กกต.ใหม่ 1.สังคมคาดหวังผลการเลือกตั้งให้เป็นไปสุจริตและเที่ยงธรรมสูง 2.กติกาในการจัดการเลือกตั้งซับซ้อนวุ่นวาย เงื่อนไขมากมาย ซึ่งทำงานยากขึ้น 3.การออกแบบระบบที่ใช้ในการเลือกตั้งพิสดาร พันลึกเกินไปเชื่อว่าถ้ากระบวนการคัดเลือกคนมาเป็น กกต.ดี ได้คุณสมบัติขั้นเทพมาเป็น กกต.ก็ต้องมีฝีมือทำได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ ต้องโทษกลับไปคนที่ร่างกติกา

Q : กกต.ใหม่จะเป็นจุดชี้ขาดทางการเมืองหรือไม่

ไม่เชื่อ.. ไม่ว่าใครจะมาเป็น กกต. การรักษากติกา รักษากฎหมายจะเป็นหัวใจสำคัญ มีบทเรียนในอดีตอยู่แล้วว่าถ้าวางตัวไม่เป็นกลาง เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง วันนี้อาจจะรอด วันหน้าก็ไม่รอด

กกต.มี 4 ชุดติดคุกแล้ว 1 ชุด ดังนั้น ใครเข้ามาก็คงไม่กล้าที่จะหรี่ตาข้างหนึ่ง หรือใช้ดาบฟันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว ถ้าทำคิดผิด ชีวิตบั้นปลายไม่ดี ดังนั้น ยังเชื่อว่ามาแล้วต้องทำงานด้วยความเที่ยงธรรม เพราะบทเรียนในอดีตมีมากมาย ไม่ใช่ติดคุกเล่นๆ ติดคุกเป็นปี ติดตอนแก่ ไม่สนุก