“หมอธี” เปิดโปง “บิ๊กป้อม” เส้นแข็ง “ขอโทษแต่ไม่ลาออก”

อาจเป็นเพราะ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีผู้อยู่เบื้องหลังให้การสนับสนุนแข็งแกร่งระดับ “อำมาตย์ใหญ่” ในเครือข่าย คสช. จึงทำให้เขามีเก้าอี้ และที่ยืน ในคณะรัฐมนตรีต่อไป

แม้ว่าจะมีคำพูด-เปิดใจ เปิดโปงของ “หมอธี” กับนักเรียนไทยและนักธุรกิจไทย และผู้สื่อข่าว BBC ที่มาร่วมงานเลี้ยงรับรองที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เสียง “หมอธี” ก้องจากกรุงลอนดอน ร้อนฉ่าถึงเมืองไทย ก่อนที่เขาจะกลับเข้าถึงสุวรรณภูมิ เมื่อทุกเว็บ-ทุกเพจ รายงานกรณี “พาดพิง” นาฬิกาฉาวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้ทรงอิทธิพล

“เรื่องนาฬิกา ถ้าผมถูก exposed (เปิดโปง) เรือนแรก ผมก็ออกแล้ว อันนี้ถามผมนะ ส่วนใครจะว่าอะไรให้ไปถามคนนั้น ของอย่างนี้คนก็ไม่กล้าพูด…กลัวอะไรทำไม พูดแล้วมันจะมาไล่ผมออกหรือ”

12 ชั่วโมงก่อนประชุม ครม. รัฐมนตรีหลายคนเปิดฟังเสียง “หมอธี” ซ้ำไปซ้ำมา แล้วเปรยกันทั่วไปว่า เจอหน้ากันจะทักกันอย่างไร

“หมอธี” ไม่รอให้ถึงเวลานั้น เขาแจ้ง “ลาประชุม” แล้วเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นการส่วนตัว พร้อมข่าวที่สะพัดไปทั่วว่า เขา “ลาออก”

หลังหลบเลี่ยงไป-มาอยู่ครึ่งวัน เขาเปิดปากแถลงที่ทำเนียบรัฐบาล ขอโทษ “นายกรัฐมนตรี” และเลี่ยงที่จะกล่าวถึง “รองนายกรัฐมนตรี” ที่ถูกพาดพิง

“ยอมรับว่าเป็นผมพูด เสียงผมจริง เป็นช่วงที่นักข่าวมาดัก ผมไม่ทราบว่ามีการอัดเทป และได้ถามผมเรื่องนาฬิกา ผมถือว่าเขาไม่ได้สัมภาษณ์ผมอย่างเป็นทางการ และผมถือว่า ผมก็มีส่วนทำให้เกิดเรื่องขึ้นมา”

“ผมยอมรับว่า ความเห็นที่ออกมา ผิดมารยาทในการกล่าวถึงเพื่อนร่วม ครม. โดยเฉพาะท่านรองนายกฯ และได้ขอโทษท่านว่า ผมทำผิดมารยาท”

“หมอธี” ยืนยันซ้ำไปซ้ำมาว่า “ไม่ลาออก เพราะยังมีความมั่นใจต่อนายกรัฐมนตรี 100% เพราะฉะนั้น ผมจะยังทำงานให้ท่านนายกฯต่อ จนกระทั่งเห็นว่ามันไม่เหมาะแล้ว วันนี้ยังอยู่ตรงนี้ ยืนหยัดที่จะยังทำงานต่อไป”

เขายอมรับว่า ในเบื้องแรก “การลาออก” คือทางเลือกหนึ่ง แต่ในที่สุด เขาก็เลือกทางที่ดีที่สุด เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับรัฐบาล “ไม่ใช่เอาแต่สะใจ เอะอะอะไรก็จะยื่นใบลาออก ต้องปรึกษาท่านนายกฯก่อน ท่านนายกฯก็รู้ว่า ผมคิดยังไงในเรื่องนี้”

“หมอธี” เอ่ยชื่อ พล.อ.ประวิตร เบา ๆ และสั้น ๆ ว่า “ท่านพยักหน้ารับ ผมก็ขอโทษท่านว่า ผมเสียมารยาท”

รมว.ศึกษาฯสรุปบทเรียนการเมืองเล่มใหม่ว่า “เวลาพูด ถึงแม้จะเป็นความเห็นส่วนตัวก็ตาม ผมก็เป็นหนึ่งใน ครม.อยู่ ถือว่าผมเสียมารยาท ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ จะให้คนไม่เชื่อมั่นท่านนายกฯหรือเปล่า แล้วนายกฯจะจัดการยังไง”

แน่นอนที่สุดว่า ในทางการเมือง “หมอธี” กล่าวโทษ “เพื่อนร่วมงาน” อย่างร้ายแรง แต่พูดถึงตัวเองในแง่ดี ย่อมยากที่จะยืนอยู่ต่อใน ครม.เดียวกัน

แต่เพราะ “หมอธี” มีคนหนุนระดับ “อำมาตย์ใหญ่” ถึง 2 คน อีกทั้งยังเข้า-ออก “หลังบ้าน” ผู้ใหญ่ใน คสช. ด้วยความสนิทใจ เขาจึงยังไม่ต้อง “ออก”

เมื่อนายกรัฐมนตรีสำทับว่า “ครม.ไม่มีร้าว ทุกคนรักใคร่กันดี เข้าใจกัน มีอะไรก็พูดจากัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทำอะไรผิดก็ขอโทษซึ่งกันและกันก็จบ เราต้องระงับความขัดแย้งให้ได้บ้าง”

เรื่องที่ร้ายแรงข้ามโลก ระดับเก้าอี้รัฐมนตรีเกือบหลุดจากตัว จบลงด้วยเวลาเพียง 5 นาที