15 วันอันตราย กฎหมายเลือกตั้ง วัดใจ 167 สนช.โหวตคว่ำทั้งฉบับ?

ปลายทางการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย !

ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่งเติมร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับ

หนึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. ขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป 90 วัน นั่นทำให้การเลือกตั้งขยับออกไป 1 ขยักแน่นอนแล้ว

อีกหนึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. …. ที่ยังเป็น “เกมเสี่ยง” ให้โรดแมปการเลือกตั้งถ่างออกไปอีก

ทั้งที่ร่างกฎหมาย 2 ฉบับ เป็นล็อกสำคัญที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุม สนช.ในวาระ 3

แต่กระบวนการยังไม่จบแบบสะเด็ดน้ำ เพราะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตรวจสอบก่อน ว่าจะมีข้อทักท้วงหรือไม่

และกลายเป็นว่าทั้ง กกต. และ กรธ.ชงความเห็นแย้งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้ สนช.ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ไกล่เกลี่ยประเด็นที่เห็นแย้ง

ในส่วน พ.ร.ป.ส.ส.นั้น ฝ่าย กรธ.เห็นแย้ง 4 เรื่อง 1.ตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามเป็นข้าราชการรัฐสภา 2.การให้จัดมหรสพในการหาเสียง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง 3.เวลาลงคะแนน 07.00-17.00 น. จะเป็นปัญหากับผู้ปฏิบัติงาน และ 4.การลงคะแนนแทนผู้พิการทางสายตา

ฟาก กกต.เห็นแย้ง 5 ประเด็น 1.เรื่องที่ให้ผู้สมัครพรรคการเมืองมีหมายเลขแตกต่างกันไปตามเขตเลือกตั้ง2.ประเด็นมหรสพที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ขัดรัฐธรรมนูญ 3.กำหนดค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองเท่ากัน 1.5 ล้านบาท ต่อผู้สมัคร 1 คน ไม่เที่ยงธรรมระหว่างพรรคเล็กพรรคใหญ่เมื่อถูกนำไปปฏิบัติ 4.ขอบเขตอำนาจศาลให้ใบเหลืองหลังประกาศผลเลือกตั้ง ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

และ 5.ภายหลังประกาศผลเลือกตั้ง ในรัฐธรรมนูญกำหนดศาลให้ได้ทั้งใบดำและใบแดง แต่ในกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.เขียนให้อำนาจศาลให้ใบดำเพียงอย่างเดียว จึงถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ร่าง พ.ร.ป.ส.ว. ทาง กรธ.เห็นแย้ง 3 เรื่อง 1.การลดกลุ่มอาชีพ เหลือ 15 กลุ่ม 2.การแยกประเภทระหว่างผู้สมัครอิสระ กับการเสนอชื่อผ่านองค์กรนิติบุคคล 3.วิธีการเลือกจากเลือกไขว้ เป็นเลือกในกลุ่มเดียวกัน

ส่วนคำเห็นแย้ง กกต.ถึงร่าง พ.ร.ป. ส.ว. มีเพียงประเด็นเดียวคือ เห็นว่ากรณีให้อำนาจศาลให้ใบดำเพียงอย่างเดียว ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องกับ ร่าง พ.ร.ป.ส.ส.

หลังจากนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย สนช. กกต.และ กรธ.จำนวน 11 คน ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 267 เพื่อปรับแก้แล้วเสนอต่อ สนช.ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่แต่งตั้ง เพื่อให้ สนช.โหวต

ถ้า สนช.มีมติ “ไม่เห็นชอบ” ด้วยคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สนช.คือ 167 เสียง ให้ร่าง พ.ร.ป.เป็นอัน “ตกไป”

หาก สนช.มีเสียงโหวตไม่ถึง 2 ใน 3 หรือ 167 เสียง ถือว่า สนช.เห็นชอบ

ดังนั้น ในรอบ 15 วัน ที่จะมีการปรับแก้ร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ จึงเป็นช่วงโค้งอันตราย โค้งที่เสี่ยงที่สุด ยังไม่มีใครรู้ว่าการปรับแก้ พ.ร.ป.ส.ส. หรือ พ.ร.ป.ส.ว.จะออกมาในหัวหรือก้อย

แม้แต่ “ชาติชาย ณ เชียงใหม่” กรธ.ยังกังวลว่ากฎหมายอาจจะคว่ำ

“ที่น่ากังวลคือ หากข้อโต้แย้งของเราผ่านคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายแล้ว และปรับแก้ให้ ถึงตรงนั้นเราก็ต้องหาทางชี้แจงแก่ สนช.ให้เข้าใจด้วยว่า เหตุผลที่ปรับแก้คืออะไร ไม่เช่นนั้นหาก สนช.โหวตไม่เห็นด้วย ร่างกฎหมายนั้นก็ตกไป และต้องร่างใหม่ อาจจะกระทบต่อการเมืองอย่างสูง กระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลและ คสช.ด้วย”

เช่นเดียวกับ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” กกต. ซึ่งประธาน กกต.เข้าไปเป็น 1 เสียงในคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย แทงหวยล่วงหน้าว่ากฎหมายลูกมีสิทธิ์คว่ำ โดยมีเสียง กกต. 1 เสียงเป็นตัวชี้ขาด

“หนึ่งเสียงของประธาน กกต. จะมีความหมายมาก ถ้าหากฝ่าย กรธ.และ สนช.ต่างยืนยันความเห็นของฝ่ายตัวเอง เพราะถ้าประธาน กกต.โหวตไปในทางใด ฝ่ายนั้นก็จะชนะ ส่วนตัวมองว่าถ้าฝ่าย กรธ.ชนะ จะมีความสุ่มเสี่ยงสูงมากที่จะไปแพ้โหวตในที่ประชุม สนช. เพราะจะทำให้ร่างกฎหมายทั้งฉบับตกไป ต้องเข้าสู่กระบวนการยกร่างใหม่ ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ถือเป็นสิ่งที่ค่อนข้างกังวล”

อาจเป็นไปได้ว่า ในช่วง 15 วันหลังจากนี้ อาจเป็นช่วงเวลาฝุ่นตลบ สนช.วิ่งวุ่นเช็กสัญญาณนอกสภา

รวมเสียงให้ได้ 167 เสียงขึ้นไป หากผู้มีอำนาจต้องการ “คว่ำ” กฎหมายลูกเพื่อเลื่อนเลือกตั้งไปอีกครั้ง