“ส.ว.สรรหา” ปมขัดแย้งใหญ่ เขย่าโรดแมป คสช.ซ้ำรอย “บวรศักดิ์โมเดล”?

สถานการณ์ฝ่ายนิติบัญญัติเขม็งเกลียว และเปราะบางสุด ๆ เมื่อร่างกฎหมายลูกสำคัญ 2 ฉบับ
 
หนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ….
 
กับอีกหนึ่งคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. …. ที่ผ่านวาระ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว
 
แต่ยังมี “ข้อท้วงติง” จาก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนเป็นเหตุต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางกฎหมายขึ้น
 
หากตกลงกันไม่ได้อาจถึงคราวคว่ำกฎหมาย ส่งผลสะเทือนต่อโรดแมปเลือกตั้ง กุมภาพันธ์ 2562 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ข้อเห็นแย้งร่าง พ.ร.ป. ส.ส.ที่ กรธ.และ กกต.นำมาโต้แย้งกับร่างกฎหมายของ สนช.ที่ผ่านวาระ 3 รวมกันแล้วมี 8 ประเด็น อาทิ ตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามเป็นข้าราชการรัฐสภา การให้จัดมหรสพ เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในพรรคการเมือง เวลาเลือกตั้ง 07.00-17.00 น. เป็นปัญหากับผู้ปฏิบัติงาน การลงคะแนน แทนผู้พิการทางสายตา การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ
 
ส่วนข้อเห็นแย้ง พ.ร.ป.ส.ว.มีอยู่ 4 ประเด็น 1.การลดกลุ่มอาชีพ เหลือ 10 กลุ่ม 2.การแยกประเภทผู้สมัครอิสระ กับองค์กรนิติบุคคล 3.วิธีการเลือกจากเลือกไขว้ให้มาเป็นเลือกในกลุ่มเดียวกัน 4.จำกัดอำนาจให้ศาลให้ใบดำผู้สมัครเพียงอย่างเดียว
 
แต่ทว่า ความเห็นแย้งระหว่าง 3 เส้า สนช. กรธ. และ กกต. ต่อร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.ดันเห็นไปคนละทาง แล้วสูตรที่อยู่ตรงกลางคือสูตรไหน….ยังเป็นคำถาม
 
ยึดหลัก สนช.ไม่มี “สูตรกลาง”
 
“สมชาย แสวงการ” เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. (วิป สนช.) ซึ่งมีบทบาทอยู่ในคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ทั้ง พ.ร.ป.ส.ส. และ พ.ร.ป.ส.ว. มีความเห็นว่า สูตรตรงกลางก็คือสูตรตาม สนช. เพราะ สนช.ตรวจร่างกฎหมายเสร็จเรียบร้อยครบถ้วน
 
ในกรณี พ.ร.ป.ส.ส. และ พ.ร.ป.ส.ว.มี 3 ประเด็นที่พิจารณา 1.ขัดรัฐธรรมนูญ 2 ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 3 ขัดข้องในทางปฏิบัติ ตรวจดูแล้ว พ.ร.ป. ส.ส. ไม่ได้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องขัดข้องในทางปฏิบัติก็ต้องรับฟัง กกต.กับ กรธ.
 
“ส่วน พ.ร.ป.ส.ว.ไม่มีข้อขัดข้องทางปฏิบัติ แต่ กรธ.มองว่าขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่ง สนช.ดูกันแล้วว่าไม่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้ปิดว่าจะไม่รับฟังความเห็นของ กรธ. ส่วน กกต.ไม่มีความเห็นเรื่องขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ จึงต้องมาดูว่าเรื่องไหนขัดเจตนารมณ์”
 
1.การแบ่ง ส.ว.ออกเป็น 2 ประเภทผู้สมัครอิสระ กับองค์กรนิติบุคคล ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ สนช.มองว่าไม่ขัด เพราะยังเป็น ส.ว.ที่มาจากการเลือกกันเองของผู้สมัคร ไม่ใช่ ส.ว.ที่มาจากการเลือกของประชาชน ไม่ใช่เป็น ส.ว.ที่ให้กรรมการอื่นมาเลือก โดยร่างกฎหมายเดิมของ กรธ.เขียนมาช่องทางเดียวกำหนดให้ ใครอยากเป็น ส.ว.ก็มาสมัครแล้วมาคัดเลือกกันเอง แต่คนไม่อยากเป็นแต่อยากสมัครเพื่อเป็นผู้เลือกก็มี โดยถูกจ้างให้มาสมัคร หัวละ 2,500 บาท พันคนก็ 2.5 ล้านบาท ถ้าพรรคการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ส่งผู้สมัครเพื่อมาเป็นผู้เลือกก็เท่ากับจัดการบล็อกโหวตได้ สนช.จึงแบ่งเป็น 2 ช่องทาง
 
2.ลดกลุ่มจาก 20 กลุ่มเป็น 10 กลุ่ม สนช.มองว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ที่ กรธ.กำหนดให้มี 20 กลุ่มเป็นแบบแคบ อาจได้กลุ่มละ 10 คน ทำไมไม่ให้ กลุ่มอาชีพครู นักกฎหมาย
 
เข้ากลุ่มได้ จึงมีการแปรญัตติให้คนเข้ากลุ่มได้ 20 คน โดยลดให้เหลือ 10 กลุ่มจะได้ทำให้กลุ่มกว้างมากขึ้น มองแล้วไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดเจตนารมณ์
 
ไม่ยึดตาม สนช.เสี่ยงคว่ำ
 
3.วิธีการเลือกไขว้มาเป็นเลือกตรงในกลุ่มเดียวกัน ไม่ขัดรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้ใช้วิธีใดในการเลือก ให้เลือกไขว้เลือกตรง หรือ เลือกสลับกลุ่ม บอกเพียงว่า ให้ผู้ที่สมัครรับเลือกเป็น ส.ว.ได้เลือกกันเอง จึงดูแล้วไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเพราะจะทำให้เกิดความไม่โปร่งใส ก็บอกว่าวิธีการเลือกตรงก็มีวิธีการป้องกันให้โปร่งใสได้เหมือนกัน เมื่อเป็นกลุ่มอาชีพ กลุ่มหมอ ก็ควรเลือกหมอ ไม่ใช่เลือกคนในกลุ่มประมง เกษตร ที่ไม่รู้จัก
 
“ทั้งหมด ต้องยืนตามหลักการนี้ ภายใต้หลักของ สนช.ไม่มีการเปลี่ยน เพราะเปลี่ยนไปจากนี้ไม่ได้ หลักการที่ทำให้กฎหมายลูกไม่ถูกคว่ำ คือยืนอยู่จุดเดิม หากหลักเป็นขวด ออกมาเป็นกล่อง สนช.ก็ตอบสังคมไม่ได้ เพราะ สนช.เห็นชอบ พ.ร.ป.ส.ว.ด้วยหลักการนี้
197 เสียงต่อ 0 พอเปลี่ยนเป็นหลักอื่นแล้วไปเสนอ สนช.ก็ยุ่ง แต่ถ้ายังเป็นหลักเดิมที่ผ่านวาระ 3 สนช.ก็ไม่มีประเด็นที่จะไปคว่ำ ถ้าคว่ำชาวบ้านก็จะได้บุกสภากันพอดี ดังนั้น ใครที่ปล่อยข่าวลือว่า สนช.จะคว่ำจึงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ ได้คุยกับผู้ใหญ่ทั้งหมดในสภา หลักที่เดินมาถูกแล้ว จะปรับเป็นหลักอื่นไม่ได้” สมชายกล่าว
 
เป็นอันว่า “สูตรตรงกลาง” ของฝ่าย สนช.คือ คงหลักการเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
 
กรธ.ถอยเลือกตรง-ลดกลุ่ม ส.ว.
 
ขณะที่อุดม รัฐอมฤต กรธ.ในฐานะที่เป็นตัวแทนฝ่าย กรธ. ที่อยู่ในคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ของ พ.ร.ป.ส.ว. กล่าวในกรณีเดียวกันว่า 1.การเปลี่ยนจากเลือกไขว้มาเป็นเลือกตรง กรธ.ไม่ได้มองว่าจะต้องยืนยันตามร่างเดิมของ กรธ. ถ้าคิดว่ามีวิธีไหนที่ดีกว่าหรือมีวิธีที่ป้องกันไม่ให้ฮั้วกัน กรธ.ก็ยินดีรับฟัง
 
2.การลดจำนวนกลุ่มจาก 20 กลุ่มเหลือ 10 กลุ่ม กรธ.ไม่ได้มองว่าจะต้องยืนยันตามร่างเดิมของ กรธ.เช่นกัน แต่จะต้องให้ผู้สมัคร ส.ว.มีความหลากหลาย
เคยถูกตีตก แต่มติพลิกใน สนช.
 
แต่ 3.สิ่งที่น่าเป็นห่วงและอาจจะต้องอภิปรายกันหนักคือเรื่องการแบ่งประเภท ส.ว.ออกเป็น 2 ประเภท ที่ให้นิติบุคคลส่งผู้สมัคร กับ ให้มาสมัครแบบอิสระ ซึ่งจะเป็นการเขียนที่ “เกินกว่า” รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ที่กำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกกันเอง แต่ถ้าให้นิติบุคคลส่งก็หมายถึงนิติบุคคลเป็นฝ่ายเลือก
 
ดังนั้น ประเด็นอ่อนไหวที่สุดที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย คือ ปมการแยกประเภทของ ส.ว.
 
แต่ประเด็นแยกประเภท ส.ว. เป็น 2 ประเภท เคยถูก “ตีตก” ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ส.ว. ที่มี “สมคิด เลิศไพฑูรย์” เป็นประธาน มาแล้ว ฝ่ายเสียงข้างน้อยที่ “แพ้โหวต” จึงสงวนความเห็นมาแปรญัตติใน “สภาใหญ่” ชั้นวาระ 2
 
โดยเสียงข้างน้อยที่เดินเกมแบ่ง ส.ว.ออกเป็น 2 ประเภทก็คือ สมชาย แสวงการ-พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร และ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์
 
แล้วที่ประชุม สนช.ก็แก้ร่างกฎหมายเพิ่มเติมกันสด ๆ ให้เป็นไปตาม “เสียงข้างน้อย” 3 เสียง ที่ขอแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการวาระที่ 1
 
แหล่งข่าวจาก กรธ. ที่มีส่วนร่าง พ.ร.ป.ส.ว.กล่าวว่า ได้มีการสอบถาม สนช.หลายคนว่าต้องการอย่างไรกันแน่ อยากสร้างบรรยากาศให้นำไปสู่การเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งทุกเสียงก็อยากให้เดินไปสู่การเลือกตั้งด้วยความราบรื่น แต่การปฏิบัติของ สนช.เหมือนกับเล่นไม่เป็นไปตามเกมที่ควรจะเล่น การแปรญัตติให้มี ส.ว. 2 ประเภท ก็แก้กันสด ๆ ในสภา ซึ่งสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีต่อเส้นทางเลือกตั้ง
 
ในปี 2558 โรดแมป คสช.ก็เลื่อนออกไปด้วยน้ำมือของแม่น้ำ 5 สาย พวกเดียวกันเอง โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะมี สปช.และ สนช.เดินเกมใน-นอกสภา กันถึง 9 กลุ่ม เพื่อคว่ำรัฐธรรมนูญ
 
6 กันยายน 2558 เช้าวันโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญ มีบุคคลในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต่อสายไปถึง วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย เพื่อเช็กกระแสว่าคว่ำ-ไม่คว่ำ แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้
 
เกมล้มโรดแมปจึงเสี่ยงประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกรอบ ?