อัพเกรดเงิน-อำนาจ-ตำแหน่ง คสช.ซื้อใจตุลาการ องค์กรอิสระ

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการ “ปรับ” เงินเดือนของตุลาการศาลยุติธรรม ศาลปกครอง รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ

แม้กระทั่งข้าราชการการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รองนายกฯ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา แต่ส่วนนี้จะปรับต่อเมื่อมา ได้คนที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่สิ่งที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษคือ การเพิ่มเงินเดือนให้กับองค์กรอิสระรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะได้รับเงินเดือนตำแหน่งใหม่ย้อนหลังไปถึง 1 ธันวาคม 2557

เพราะองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นเครื่องมือ-กลไก ชี้ขาดทางการเมือง นับตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อกการเมือง เพื่อไปสู่การเลือกตั้ง

อัตราที่ปรับใหม่ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ดังนี้ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เทียบเท่าเงินนายกฯ เงินเดือนเก่า 75,590 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท ที่ปรับปรุงใหม่ 83,090 บาท เงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เงินเดือนเก่า 75,590 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท ที่ปรับปรุงใหม่ 83,090 บาท เงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท เพิ่มขึ้น 10-18 เปอร์เซ็นต์

ประธานกรรมการองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เงินเดือนเก่า 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,550 บาท เงินเดือนใหม่ 81,920 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท เทียบเท่าระดับรองนายกฯ

กรรมการองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เงินเดือนเก่า 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท ที่ปรับปรุงใหม่ 80,540 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์

สำหรับสถานการณ์ขององค์กรอิสระในปัจจุบัน อย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังเผชิญมรสุมเรื่องการตรวจสอบ “แหวนเพชร-นาฬิกาหรู” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เพราะถ้อยคำที่แถลงความคืบหน้ากรณีดังกล่าว ถูกสังคมตั้งแง่ว่าช่วยเหลือ “พล.อ.ประวิตร”

เพราะ “พล.ต.อ.วัชพล ประสานราชกิจ” ประธาน ป.ป.ช. เคยเป็นมือขวาของ พล.อ.ประวิตร ในตำแหน่งรองเลขาธิการนายกฯ จนถูกวิจารณ์เรื่องความ “เหมาะสม”

อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ในยุค พล.ต.อ.วัชพล ถือว่าเป็นองค์กรที่โชว์ฟอร์มเยี่ยมในสายตา คสช. สามารถเอาผิดนักการเมืองสำคัญ ๆ ตั้งแต่ทำคดีเรื่องจำนำข้าวทะลุเป้า จนจำเลย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ต้องหนีคดีไปกบดานอยู่ต่างประเทศ และยังมีอำนาจเอาผิดนักการเมืองที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงเพิ่มขึ้นจากในอดีต

ด้าน กกต. เวลานี้คนการเมืองมองข้ามคณะ กกต.ชุดปัจจุบันที่มี “ศุภชัย สมเจริญ” เป็นประธาน ซึ่งนับเวลาถอยหลังลงจากตำแหน่ง เพราะถูกเซตซีโร่ โดยจะมี กกต.ชุดใหม่เข้ามาแทนที่ วางกติกา-จัดการเลือกตั้งใหม่ตามโรดแมป คสช. นับว่า กกต.ชุดใหม่จะมีบทบาทอย่างมากในการเลือกตั้ง เพราะมีอำนาจให้ทั้งใบแดง (เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง) ใบเหลือง (สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่) ใบดำ (ระงับสิทธิสมัครเลือกตั้ง) และให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งคอยจับทุจริตในช่วงเลือกตั้ง

เมื่อดูรายชื่อ “ว่าที่” กกต.ใหม่ส่วนใหญ่ “โนเนม” ชื่อ “บิ๊กเนม” ที่สุดเป็น “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ซึ่งเป็นเลขาธิการ กสทช.ในปัจจุบัน เป็นอีกหนึ่งผู้มากคอนเน็กชั่นในทุกแวดวง ว่ากันว่ามี “พล.อ.ประวิตร” เป็นแบ็กอัพสำคัญ ถึงขั้นมีข่าวว่าถูกวางตัวไว้เป็นประธานไปเรียบร้อยแล้ว

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งปัจจุบันมี พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ เป็นรักษาการประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เคยเป็นรักษาการแทนปลัดกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญ เป็นต้นทางที่จะ “คัดกรอง” ปมการเมือง ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ถูกเซตซีโร่เพราะเหตุว่า “ไม่ใช่องค์กรอิสระ” แม้คุณสมบัติของตุลาการบางรายจะขัด และขาด คุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ก็ได้รับการยกเว้นให้อยู่จนครบวาระทั้ง 9 คน อย่างไรก็ตาม จะเป็นปลายทาง

สำคัญที่จะชี้ขาดทางการเมือง ซึ่งในเวลาอันใกล้นี้ จะต้องวินิจฉัยประเด็นสำคัญทางการเมือง ในกรณีที่พรรคเพื่อไทยร้องให้ตีความคำสั่งหัวหน้า คสช.53/2560 เรื่องขยายเวลาให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม ขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หรือไม่

ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินเป็นบวก หรือลบ ย่อมกระทบการเมืองเป็นแน่ เมื่อองค์กรอิสระในฐานะ “กรรมการ” ที่คุมการเมืองตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ได้รับการปูนบำเหน็จ ทั้งเงิน อำนาจ จึงถูกสันนิษฐานว่าจะกลายเป็นฐานการเมืองหนุนผู้มีอำนาจใน คสช.ให้กลับมามีตำแหน่งอีกครั้งหลังเลือกตั้ง