สนช.เทเครือข่าย “บิ๊กป้อม-บิ๊กป็อก” อ้างสัญญาณลับ คว่ำ 7 กกต.กำมะลอ

เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็มีมติ “คว่ำ” 7 ว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วยคะแนนเอกฉันท์

ทั้ง 7 คนที่ถูก สนช.ไม่เห็นชอบให้นั่งเก้าอี้ กกต. ดังนี้ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เห็นชอบเพียงแค่ 27 ต่อ 156 เสียง ทั้งที่มีข่าวมาตลอดว่าจะได้นั่งเก้าอี้ กกต.แบบแบเบอร์ ถึงขั้นลุ้นนั่งเก้าอี้ประธาน กกต.ด้วยซ้ำ เหตุเพราะมีคอนเน็กชั่นทางการเมืองกว้างขวาง โดยเฉพาะเชื่อมต่อกับพี่ใหญ่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯและ รมว.กลาโหม

เช่นเดียวกับ “ประชา เตรัตน์” อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งปัจจุบันนั่งช่วยงาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แท้ ๆ ก็ยังพลาดเป้า โดยได้เสียงโหวตเห็นชอบแค่ 57 ต่อ 125 เสียง แต่ก่อนการโหวตของ สนช. “ประชา” ก็หายตัวไปจากกระทรวงมหาดไทย

ขณะที่คนอื่น ๆ นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ สมัคร กกต.ในสายการศึกษา เคยขึ้นเวที “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ภาคพิเศษ ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในนามนักวิชาการ เมื่อครั้งเริ่มขับไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช โดยได้คะแนนเห็นชอบ 10 ต่อ 175

นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ได้เสียง 30 ต่อ 149

นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมายบริษัท วรวิสิฏฐ์ จำกัด และหัวหน้าสำนักงานกฎหมายสุธีรชาติ ได้คะแนน 16 ต่อ 168 เสียง

ขณะที่ว่าที่ กกต.จากสายที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกาได้เสียง 46 ต่อ 128 และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้คะแนน 41 ต่อ 130 เสียง ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องกระบวนการสรรหาในชั้นศาลว่าการลงมติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศก่อนการ “เปิดโหวต” ให้ สนช.ลงคะแนนนั้น สนช.มีการ “ประชุมลับ” เพื่อให้สมาชิกได้แสดงความเห็นกันครั้งสุดท้าย รับรู้กันเฉพาะใน สนช. ซึ่งอาจเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” ที่ทำให้เกิดล็อกถล่มในฝ่ายนิติบัญญัติ

และจะทำให้ทั้ง 7 ว่าที่ กกต.มาลงสมัครใหม่ไม่ได้อีกแล้วตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 12 วรรคแปด

อย่างไรก็ตาม “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช.กล่าวในทันทีที่ปิดโหวตว่า หลังจากนี้จะต้องดำเนินการสรรหา กกต.ทั้ง 7 คนใหม่ โดยเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขาธิการ สนช.จะส่งหนังสือไปยังประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา และเพื่อดำเนินการสรรหาใหม่ ทั้งในขั้นตอนการสรรหา จากคณะกรรมการสรรหาจำนวน 5 คน และจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอีก 2 คน

“จะต้องดำเนินการสรรหาใหม่ให้เสร็จภายในกรอบเวลา 90 วัน ไม่ทราบว่า เหตุใด สนช.ลงมติไม่เห็นชอบบุคคลทั้ง 7 คน เพราะในฐานะกรรมการสรรหาไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับขั้นตอนของ สนช. ทำให้ไม่ทราบถึงเหตุผลที่ สนช.ไม่เห็นชอบ ยืนยันว่า ไม่มีสัญญาณใด จาก คสช.ก็ไม่มี และยืนยันว่า จะไม่กระทบต่อการเลือกตั้งอย่างแน่นอน เพราะ กกต.ชุดปัจจุบันยังสามารถดำรงตำแหน่งได้อยู่”

“พรเพชร” กำหนอคุณสมบัติผู้สมัคร กกต.ล่วงหน้า 3 ข้อไม่ซ้ำรอย 7 กกต.กำมะลอ 1.จะขยายเวลาการรับสมัครให้มากขึ้น และ 2.จะประชาสัมพันธ์ให้บุคคลที่มีคุณสมบัติครบเข้ามาสมัครให้มากขึ้น 3 คนที่ผ่านการสรรหาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกานั้นคิดว่า สนช.จะไม่มีปัญหากับศาลอย่างแน่นอน

จากนี้ไปกระบวนการหา กกต.ใหม่ ใช้เวลา 6 เดือน ตรงกับเดือนกรกฎาคม

ช่วงที่หนึ่ง การรับสมัคร-สรรหาภายใน 90 วัน พร้อมส่งรายชื่อให้กับทาง สนช.ตรวจสอบ

ช่วงที่สอง คือ สนช.ตรวจสอบประวัติ-คุณสมบัติว่าที่ กกต.ชุดใหม่ ใช้เวลาดำเนินการ 45 วัน

ช่วงที่สาม เมื่อ สนช.ลงมติเห็นชอบรายชื่อเรียบร้อยแล้ว ว่าที่ กกต.ใหม่จะต้องลาออกจากการทำงานทุกประเภทภายใน 15 วัน

ช่วงที่สี่ ขั้นตอนของการทูลเกล้าฯเป็นเรื่องของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา 30 วัน

ฟากฝั่ง “สมชัย ศรีสุทธิยากร” กกต.ชุดปัจจุบัน กล่าวว่า กกต.ชุดปัจจุบันยังคงทำหน้าที่ต่อไป ยกเว้นว่าจะมี กกต.ลาออก 2 คน ซึ่งจะทำให้เหลือองค์ประชุมแค่ 3 คน ซึ่งจะไม่สามารถพิจารณาเรื่องสำคัญต่าง ๆ ได้ ประกอบกับในเดือนกรกฎาคมนี้ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.จะมีอายุครบ 70 ปี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญจะต้องพ้นจากตำแหน่งทันที จนกว่าจะมีชุดใหม่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่า คสช.จะมีความเห็นอย่างไร และไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมี กกต.คนใดลาออกหรือไม่

“ถ้านับไป 6 เดือนจากนี้ก็จะเป็นช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งก็จะล้ำเข้าไปในโซนของการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งก็จะค่อนข้างมีปัญหา”

ฝุ่นตลบไปทั่วสภานิติบัญญัติฯ ล็อกถล่มคว่ำ 7 ว่าที่ กกต. ก่อนการลงมติกฎหมายลูก 2 ฉบับสำคัญคือ กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เพียงแค่ 2 สัปดาห์