สุรนันทน์-สติธร วิเคราะห์เลือกตั้ง’66 เพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ ส.ส.ไม่ถึง 310 เสียง

เลือกตั้ง 2566 เวทีเสวนา
เวทีเสวนาวิชาการ วิเคราะห์เลือกตั้ง 2566 จากฐานคะแนนและการแบ่งเขตเลือกตั้ง

วงเสวนามติชน เลือกตั้ง’66 นักวิชาการ นักวิเคราะห์การเมือง ชี้ เพื่อไทยได้ที่ 1 แต่ไม่แลนด์สไลด์ 310 เสียง

วันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่อาคารมติชน “เครือมติชน” จัดเวทีเสวนาวิชาการ วิเคราะห์เลือกตั้ง 2566 จากฐานคะแนนและการแบ่งเขตเลือกตั้งช่วงที่ 2 ในการเสวนา หัวข้อ “ภูมิทัศน์การเมืองจากเลือกตั้ง 2562 ถึงเลือกตั้ง 2566” โดย รศ.ดร.ธนพร พร้อมด้วย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตกรรมการบริหาร-โฆษกพรรคไทยรักไทย อดีตรัฐมนตรีและเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ดร.สติธรกล่าวว่า วันนี้เราเอาข้อมูลปี 2562 มาแบ่งเขตใหม่ตามปี 2566 โดยพบว่าเลือกตั้งปี 2562 ใครชนะผลในปี 2566 ที่เราคาดการณ์ก็ต้องเป็นพรรคเดิม สิ่งที่น่าติดตามต่อไปคือการย้ายพรรค ยกตัวอย่างกรุงเทพฯเขต 1 เป็นเขตที่ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐเคยชนะ มาเป็นผู้สมัครพรรคเพื่อไทย

ดังนั้น ผลการเลือกตั้งจะออกตามพรรคหรือออกตามผู้สมัคร นี่คือสิ่งที่ต้องติดตามต่อ

อีกประเด็นคือพรรคเพื่อไทยฝันถึงแลนด์สไลด์ แปลว่าเขาฝันถึงวันวานอันหวานชื่นเมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นวันที่พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเยอะมาก แต่หายไปในปี 2562 น่าสนใจที่ว่าคะแนนหายไปตรงไหนบ้าง และวันนี้ปี 2566 มีโอกาสไปกู้คืนได้หรือไม่ ถ้าหายไปให้พรรคอนาคตใหม่ฐานเสียงเดียวกันยังพอเอาคืนมาได้ แต่ถ้าหายไปให้พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ทำอย่างไร

คิดว่านี่ก็เป็นอีกชุดข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ

สติธร ธนานิธิโชติ
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

นายสุรนันทน์กล่าวว่า การดูคะแนนอาจจะต้องกลับไปปี 2544 ปี 2548 ด้วยซ้ำ ส่วนปี 2554 มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเขตเยอะ ประชากรมันเปลี่ยน มู้ด (อารมณ์) ประชาชนเปลี่ยน ถ้าใช้ผลคะแนน ปี 2562 เป็นหลัก ยังมีพรรคลุงกำนัน (พรรครวมพลังประชาชาติไทย) พรรคพลังประชารัฐไม่แตกเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ ยังคงอยู่ในสภาพที่พรรครวมไทยสร้างชาติไม่แย่งฐานคะแนนไป

ในฐานคะแนนและมู้ดของประชาชน คะแนนระดับตำบลหมู่บ้านจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ในหมู่ประชาชน

ปี 2562 กระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ แรงมาก ในฝั่งอนุรักษนิยมเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐก็มา 10-12 ที่นั่ง แต่ใน กทม. ปี 2566 จะรู้สึกได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่แม่เหล็กเหมือนเดิม พล.อ.ประวิตรก็ไม่ใช่แม่เหล็ก พรรครวมไทยสร้างชาติ บวกกับพรรคพลังประชารัฐ อาจจะกินกันเองใน กทม.ด้วยซ้ำ และทำให้ทั้งสองพรรคไม่เข้าวิน

กทม.จะออกฝ่ายประชาธิปไตย เสรีนิยม คาดว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกลมากกว่าที่จะเข้าวิน ชุมชนที่ผมลงไปก็ต้องวิเคราะห์เยอะ บ้านมีรั้วก็บอกว่า 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ พอแล้ว สถิติ 2566 คงต้องคุยกันเรื่องโพล เอาเรื่องโพลต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกัน

นายสุรนันทน์กล่าวว่า การวิเคราะห์สนาม กทม.จะต้องเอาการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เข้าไป เพราะเห็นชัดว่าการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ระดับชุมชน เห็นได้ชัดว่า ส.ก.ของอัศวิน ฝ่ายรัฐบาลหายไปหมด เหลือ 2 ประชาธิปัตย์ มา 4-6 ที่เหลือเพื่อไทยกับก้าวไกล

แม้การต่อสู้ระดับชุมชนที่ต่อสู้กันหนัก มีทั้งกระสุนจริงและสีเทา แต่มันชัดเจนอยู่ว่าชุมชนคะแนนแตก แต่กระแสใหญ่มากลายเป็นคะแนนของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หมด เพราะคนต้องการเปลี่ยนแปลง

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ
สุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตกรรมการบริหาร-โฆษกพรรคไทยรักไทย อดีตรัฐมนตรีและเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

“พรรคก้าวไกล ประกาศชัด กทม.กับหัวเมืองเขต 1 ทั้งหมด พรรคเพื่อไทยเหมือนกัน เขาเข้าถึงชนบทได้ ด้วยนโยบายข้าวเดิม แต่เข้าถึงหัวเมืองด้วยเพราะเพื่อไทยเชื่อว่าคนต้องการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าทุกพรรคที่ทำโพลแม่นที่สุดคือโพลที่ถือที่ดูไบ ผมไม่เชื่อว่าแลนด์สไลด์ ไม่ได้เกิน 250 หรือ 310 แต่มู้ดนี้เพื่อไทยยังเป็นที่ 1”

นายสุรนันทน์กล่าวอีกว่า ตอนทำพรรคสร้างอนาคตไทย ลงไปโฟกัสกรุ๊ปพบว่าความรู้สึกที่เปลี่ยนไปจากปี 2562 เยอะ และเราทำโฟกัสกรุ๊ป พล.อ.ประยุทธ์กับ พปชร.ขายไม่ได้แล้วใน กทม.

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ ปี 2566 คนเบื่อรัฐบาลและอยากเปลี่ยนหรือเปล่ามากกว่า ถ้าคนอยากเปลี่ยนรัฐบาล มันจะไม่ใช่เสรีนิยมหรือเผด็จการ แต่ดูว่าพรรคไหนเสนอนโยบายที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล หรือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลพรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ก็มีสิทธิเลือกได้

นายสุรนันทน์ยังกล่าวถึงนโยบายที่พรรคการเมืองแข่งขันกันขณะนี้ว่า พอเป็นประชานิยมหมด ประชานิยมจนคนงง สุดท้ายคนในชุมชนก็จะคิดว่าก็เป็นนักการเมืองเหมือนกันทั้งหมด เมื่อเสนอนโยบายเหมือนกันเขาแยกไม่ออก เขาก็รับเงินจากพรรคการเมืองที่ให้เงินดีกว่า ในต่างจังหวัดก็มีผล คนไทยคิดเป็นแต่อยากเลือกคนที่ดี แต่ก็มองว่าคนนี้ฝากลูกชั้นเข้าโรงเรียนก็เลือกคนนี้ ไม่ใช่เรื่องนโยบาย เพราะประเทศไทยระบบอุปถัมภ์ฝังรากลึก

“พรรคการเมืองต้องพูดให้ชัดว่าจะเปลี่ยนโครงสร้างประเทศอย่างไรในวันข้างหน้า ข้างหน้าต่างหากที่คนอยากรู้จะใช้ชีวิตอย่างไรในโลกที่เปลี่ยนแปลง ทำอย่างไรให้เขามีเงิน จะดีกับการเมืองไทยในอนาคต ไม่ใช่มาแข่งตัวเลขกัน” นายสุรนันทน์กล่าว

วิเคราะห์เลือกตั้ง 2566
เวทีเสวนาวิชาการ วิเคราะห์เลือกตั้ง 2566 จากฐานคะแนนและการแบ่งเขตเลือกตั้ง วันที่ 20 มี.ค. 2566

ด้าน ดร.สติธรกล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย ชูแคมเปญเลือกตั้งอย่างมียุทธศาสตร์ 310 เสียง มีความเป็นไปได้ไหม 310 ว่า ยังมีความหวังลึกมาก ๆ โพลที่แม่นที่สุดอยู่ที่ดูไบ และรู้ว่าไม่ใช่ 310 แต่เลขนี้มีความหมายรุกฆาต 1 ประชิดไปที่พรรคก้าวไกล ต้องเอาคะแนนที่ก้าวไกลเคยแชร์เอากลับมาให้มากที่สุด 6.3 ล้านเสียง หารกลม ๆ ประมาณ 1.8 หมื่นต่อเขต แปลว่าคะแนนที่เพื่อไทยเคยได้ตอนปี’54 เอาคืนมาได้ยังไง เท่าไหร่

พรรคเพื่อไทยเคยชนะเลือกตั้ง 204 เขต ตอนปี 2554 ถ้าเทียบบัญญัติไตรยางค์ ปัจจุบันคือ 210 เขต เท่ากับ 10,500,000 พอแล้ว วันนี้ก้าวไกลถือเอามาครึ่งเดียว แล้วลุ้นบัญชีรายชื่อ โพลที่สำรวจออกมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มีคะแนนนิยม 40% ก็เอามา 40 ที่นั่ง

การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ ตัวเลข 310 คือหนึ่งในกระบวนการที่จูงใจให้คนอยากเลือกเชิงยุทธศาสตร์ คนฝ่ายเสรีนิยม แปลว่าเขตก็ต้องยกให้เพื่อไทย 310 เอาปาร์ตี้ลิสต์ ยังไงเขตก็ต้องปักให้พรรคเพื่อไทย ก้าวไกลก็ต้องปลอบใจด้วยปาร์ตี้ลิสต์ ก็จะเกิดยุทธศาสตร์แบบนี้

พอวาง 310 ปุ๊บ คนที่วาง อะไรที่ไม่ทะลุหลังคา เพื่อไทยเอามาหมดเลย เกมนี้บีบให้ก้าวไกลทะลุหลังคา นี่คือแผนระดมเสียงในการเรียกคืนจากคะแนนที่แชร์ไป 310 เสียง กระแทกยุทธศาสตร์ยังไงก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ภูมิใจไทย การที่จะไปหาเสียงยังไง ขั้วไหนมา ก็จะดร็อปลงเชิงกระแส

“ฝากถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คือบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่มีแค่ตัวเลขกับช่องสี่เหลี่ยม มันควรจะมีชื่อ วันนี้เราพูดเรื่องประชาธิปไตย 3 วินาที แต่คิดว่าผมใช้เวลาเกิน เพราะต้องมานั่งนึกว่าคนที่จะเลือกคือเบอร์อะไร และสารภาพว่าตอนเลือกตั้ง อบจ.กาผิดเบอร์ อยากขอร้อง กกต.ว่าบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตให้มีการใส่ข้อมูลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตรงนี้จะช่วยประชาชนได้มาก วันนี้เราวิเคราะห์ตัวเลขกันเรื่องเลือกตั้ง มีตัวเลขหนึ่งที่ไม่อยากให้เห็นคือตัวเลขบัตรเสีย บางครั้งของการเลือกตั้งมีถึง 5% ถ้าไม่นับคนที่ตั้งใจผมเชื่อว่าเขาขาดข้อมูลที่เพียงพอ” ดร.สติธรกล่าว

รศ.ดร.ธนพรกล่าวเสริมว่า แลนด์หรือไม่แลนด์สไลด์ วาทกรรมเพื่อไทยชนะแน่ กำลังกลายเป็นวาทกรรมหลัก หน้าที่ผมต้องสร้างวิธีคิดของพรรคการเมืองคิดกันแบบนี้ไม่ได้คาดหวังบุคคลเป็นเทวดา ถ้าอยู่ในสนามที่เป็นนักสู้แบบเขาก็ต้องคิดแบบเขา เอามาให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับรู้ เราจะใช้อำนาจของเรา ผมหวังว่าทุกคนจะมีการตัดสินใจเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น หวังว่าข้อมูลชุดแบบนี้เอาไปประกอบการตัดสินใจมากขึ้นไปอีก