เปิด 3 เมกะโปรเจ็กต์ร้อน รถไฟฟ้า-ไฮสปีด EEC ลุ้นรัฐบาลใหม่

เมกะโปรเจ็กต์

ทันทีที่พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยุบสภาออกฤทธิ์ในวันที่ 20 มีนาคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดสถิติครองอำนาจ (ชั่วคราว) ไว้ที่ 8 ปี 9 เดือน 42 วัน

โครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ-ตกขบวนไปไม่ถึง “สถานีปลายทาง”

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ระยะเวลาเดินรถ 30 ปี ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร 11 สถานี (ใต้ดินตลอดสาย) กรอบวงเงิน 96,012 ล้านบาท

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม “ฝั่งตะวันตก” รถไฟฟ้าสายร้อนถูกหยิบขึ้นมาวันที่ “ครม.อำนาจเต็ม” นัดสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566

หลังจากศาลปกครองสูงสุด “ยกฟ้อง” คดีหมายเลขดำที่ อ.572/2565 ระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC “ผู้ฟ้องคดี” กับ “ผู้ถูกฟ้องคดี” คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 เผยแพร่คำสั่งศาลวันที่ 1 มีนาคม 2566

“อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี กำกับกระทรวงคมนาคม กัดฟันเซ็นอนุมัติเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดทิ้งทวนในช่วง “วินาทีสุดท้าย” ซึ่งที่ประชุมใช้เวลาถก-เถียงกันแค่ครึ่งชั่วโมง

โดยมีรัฐมนตรีค่ายประชาธิปัตย์-รัฐมนตรีสายตรง พล.อ.ประยุทธ์ รุมค้านอย่างหนัก เพราะนอกจาก “ส่วนต่าง” การให้ผลประโยชน์รัฐต่ำกว่า 7 หมื่นล้านแล้ว และยังมี “คดีคา” ศาลปกครองสูงสุดที่ยัง “ไม่ถึงที่สุด” ถึง 2 คดี

แม้ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี “มือกฎหมายรัฐบาล” จะการันตีให้ ครม.สามารถเห็นชอบไปก่อนได้ หากศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินอย่างไร ก็สามารถ “ทบทวนมติ ครม.” ได้

วาระดังกล่าวเหล่าบรรดานักการเมือง-คณะรัฐมนตรีไม่อยากเสี่ยงไปด้วย ต่างขอลากิจ-ออกจากที่ประชุมก่อนเวลา

ส่วนรัฐมนตรีที่ยังอยู่ก็นั่งไม่ยอมลุกจากที่ประชุม-ออกมารอจังหวะเข้าไป “ค้านสุดตัว” เมื่อวาระร้อนถูกเสิร์ฟบนโต๊ะประชุม ครม.

ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะทุบโต๊ะ-ถอนออกจากการพิจารณาของ ครม. ท่ามกลางเสียงถอนหายใจของ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ที่ถือ “เผือกร้อน” เข้าที่ประชุม ครม.

รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ต่อสัมปทาน 30 ปีให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิม-BTSC

ครั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เมื่อ 7 รัฐมนตรีภูมิใจไทย นำโดย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคม พร้อมใจกันผลักให้ตกขบวน แนบท้ายด้วยเอกสารประกอบการคัดค้าน “วอล์กเอาต์” ถึง 8 ฉบับ

และยังเป็นการสกัดโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ในวาระการประชุม ครม. 6 ครั้ง ในรอบวาระรัฐบาล 3 ปี

ประเด็นหน้าฉากที่ถกเถียงคือ การคิดค่าโดยสารถูกกว่า 65 บาทได้ และการมีคดีอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ครม.ประยุทธ์ตกอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อ “บีทีเอส” ตั้งโต๊ะแถลง “ทวงหนี้” ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ชำระหนี้ “ค่าจ้างเดินรถ” กว่า 5 หมื่นล้านบาท

อีกโปรเจ็กต์ร้อนคือ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร

วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือเครือซี.พี.

อย่างไรก็ตาม บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้ส่งหนังสือหารือ เนื่องจากผลกระทบจาก “เหตุสุดวิสัย” เกิดโรคระบาดของโควิด-19 โดย “แก้ไขสัญญา” จากเดิม “สร้างเสร็จแล้วค่อยจ่าย” เป็น “สร้างไปจ่ายไป”

แม้ว่า “บอร์ดอีอีซี” จะ “ไฟเขียว” ในหลักการให้ “สร้างไปจ่ายไป” แบบ “มีเงื่อนไข” ได้ แต่ก็ต้องใช้เวลากว่า ร.ฟ.ท.-เครือซี.พี.เจรจา “ข้อต่อรอง” ได้ และยังต้องส่งให้ “อัยการสูงสุด” ดูร่างสัญญา จึงไม่ทันในรัฐบาลนี้

โดยเฉพาะ “รัฐบาลรักษาการ” ซึ่งไม่สามารถจะอนุมัติงบประมาณ-โครงการได้ “ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน”

จึงไม่สามารถแล่นฉิวได้ในรัฐบาลนี้-ต้องไปลุ้นรัฐบาลหน้าว่าจะสานต่อหรือจะรื้อแก้สัญญาอย่างไร

โครงการขนาดใหญ่ทั้ง 3 โครงการต้องรอสัญญาณผ่าน ในรัฐบาลหน้า