ครม.รับทราบคืบหน้าการดำเนินการ Soft Power ไทย

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ

ครม.รับทราบการดำเนินงาน Soft Power ใช้สื่อบันเทิงเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สินค้าและบริการของประเทศ 

วันที่ 21 มีนาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี การนำเสนอวัฒนธรรมของประเทศในลักษณะ Soft Power ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เพื่อให้เกิดการเพิ่มพูนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย

ทั้งนี้ เป็นความคืบหน้าการดำเนินการในด้านการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะ Soft Power โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศฯ (ในคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ เสนอนโยบาย แผน และยุทธศาสตร์ รวมถึงกำหนดมาตรการและแนวทางสนับสนุนการดำเนินงาน และจัดทำ ร่างแผนปฏิบัติการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงฯ

เพื่อใช้สื่อบันเทิงเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สินค้าและบริการของประเทศ รวมทั้งจัดให้มีมาตรการด้านภาษี โดยเตรียมมาตรการการลดหย่อนภาษีหรือมาตรการทางการเงินในการจูงใจให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า บริการ และกำหนดกลยุทธ์การส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศ

โดยร่างแผนดังกล่าวเข้าข่ายเป็นแผนระดับที่ 3 ซึ่งคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศด้วย Soft Power มีมติเห็นชอบในหลักการแล้วในคราวประชุมเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 และ 29 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการเสนอ ครม. ต่อไป

สำหรับความคืบหน้าด้านการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรมนั้น ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Soft Power (ในคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ) เพื่อกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน Soft Power เพื่อเพิ่มคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจของสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ยกระดับสถานะทางอาชีพทางสังคมและเศรษฐกิจ

รวมถึงคุณภาพชีวิตของบุคลากรในภาคศิลปวัฒนธรรมและชุมชนท้องถิ่น และจัดทำ ร่างแผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (พ.ศ. 2566-2570)

เพื่อใช้เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนโดยมีกรอบแนวทางที่สำคัญ เช่น การศึกษาและจัดทำจุดยืนของประเทศในการขับเคลื่อน Soft Power เพื่อให้เกิดการจดจำในสายตาประชาคม โดยจะดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับไทยในความคิดของชาวต่างชาติทั่วโลก และศึกษาแนวโน้มและสภาพการตลาดของสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมไทยที่มีศักยภาพ