ปิยบุตร : พลังพลเมืองใหม่ รื้อมรดก คสช.-ถอดวิกฤติรัฐธรรมนูญ

ปิยบุตร แสงกนกกุล

สัมภาษณ์พิเศษ

จังหวะทางการเมืองที่ยังหันรีหันขวาง “พล.อ.ประยุทธ์-คสช.” อาจมีเงาตั้งพรรคการเมืองหนุนใน-นอกบัญชี

“ทักษิณ-เพื่อไทย” ไร้ฉันทานุมัติว่าจะชูใครขึ้นเชิดเป็น “หัวลวง” อีกรอบ

“อภิสิทธิ์-ประชาธิปัตย์” อยู่ในวังวนความขัด-แย้งกับก๊ก-ก๊วน กปปส.

บังเกิดพลัง…พลเมืองใหม่

ที่มีใจกลางเป็นนักวิชาการหัวก้าวหน้า-บรรดานักธุรกิจหนุ่มผู้พิศสมัยความท้าทายและความเสี่ยง

“ผมเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยไม่สามารถอยู่กับรัฐบาลทหารไปได้เรื่อย ๆ วันหนึ่งต้องกลับไปเลือกตั้งแน่นอน ถ้าเรามองจากภายนอก การเมืองตลอด 10 ปีน่ากลัวอยู่พอสมควร”

“คนรุ่นหลังจากผม อายุ 25 ลงไป เขาหวังอนาคตที่ดี ถ้าคนเหล่านี้สนับสนุนผม ผมคิดว่า ขวากหนาม ความน่ากลัว อันตรายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาในสนามการเมืองในอดีตมันจะลดลงไป”

ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล วัย 38 ปี ประกาศตัวเป็นพลเมือง “ทางเลือกใหม่”

“ดร.ปิยบุตร” สนทนากับ “ประชาชาติธุรกิจ” ก่อนกลับเข้าห้องสอนนักศึกษาภาคพิเศษ ช่วงพลบค่ำ ที่ท่าพระจันทร์

เขาพูดถึงการเมืองภาคต่อจากเป็นทศวรรษแห่งความสูญหาย ว่านับจากนี้ไปจะเป็น “ทศวรรษแห่งการทวงคืนอนาคตของเรากลับมา”

“วิกฤตการณ์ครั้งนี้คือโอกาส ถ้าไม่ลงมือทำก็เกิดวิกฤตอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ นี่คือการเสนอทางเลือก อนาคตให้สังคม ที่เป็นรูปธรรม เชื่อว่าคนจำนวนมากใฝ่ฝันเรื่องนี้อยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะแสดงออกมาในรูปแบบไหน นี่คือแพลตฟอร์มใหม่ ให้คนเห็นว่าเป็นไปได้ และหวังว่าจะมีการสนับสนุนมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ”

ชมคลิปสัมภาษณ์พิเศษ “ปิยบุตร : พลังพลเมืองใหม่ รื้อมรดก คสช.-ถอดวิกฤติรัฐธรรมนูญ”  คลิก >>

แพ้ไม่จำนน-ไม่ชนะ-ไม่เลิก

“การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตเป็นความเสี่ยง เราเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนหน้าที่การงาน เปลี่ยนบทบาทเป็นความเสี่ยงทั้งนั้น แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ ด้านหนึ่งเป็นความท้าทาย ด้วยว่า การเมืองแบบใหม่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย”

“การทำพรรคการเมืองทางเลือกแบบใหม่ ลงสนามแล้วไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งแรก ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด ถ้าจะต้องต่อสู้กันทางความคิดและการเมืองระยะยาว การแพ้การเลือกตั้งหนึ่งครั้ง ถ้าเปรียบเทียบกับสมรภูมิเท่ากับว่าแพ้สงครามที่ 1 แต่ไม่ได้แพ้ทั้งหมด ยังมีอะไรต้องทำอีกเยอะ”

“ครั้งนี้ไม่ชนะ ครั้งหน้าก็รณรงค์ต่อไป การแพ้การเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เรายุติบทบาท ถ้าเราทำแบบนั้นแสดงว่า กลายเป็นพรรคการเมืองเฉพาะกิจ”

“เราจะพิสูจน์ให้คนเห็นว่าเรา ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ แต่เป็นพรรคที่จริงจัง จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น”

เป็นนักการเมืองไปตลอดกาล

คำตอบ-สายตาของ “ดร.ปิยบุตร” แน่วแน่อย่างยิ่ง เขาบอกว่า หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้ผลการเลือกตั้งจะไม่ชนะ ไม่สำเร็จ “ผมไม่กลับมาเป็นอาจารย์ประจำแล้ว”

“ถ้าลงเลือกตั้งแล้วแพ้ กลับมาเป็นอาจารย์ นั่นหมายความว่ามองการเมืองในแง่ของอาชีพ ตำแหน่ง เข้าไปเพราะอยากเป็นอะไรบางอย่าง เป็นผู้แทน เป็นรัฐมนตรี พอไม่ได้ก็กลับมาเป็นอาชีพเดิม แสดงว่าไม่ได้มองการเมืองในเรื่องอุดมการณ์ที่เราต้องการเข้าไปเปลี่ยนแปลง”

“ผมต้องการพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า คนแบบผม คนอย่าง คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเขามีธุรกิจระดับโลก เขาตัดสินใจยุติ อีกหลายคนที่จะเข้ามาร่วมในอนาคต เขาคิดแล้วว่าเป็นความจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องมา ต้องทำ ทั้ง ๆ ที่มีทางเลือกที่ไม่ต้องลงสนามอันตรายแบบนี้”

“ที่แน่ ๆ ถ้าแพ้ผมจะทำต่อ รณรงค์ให้คนเห็นว่าการเมืองแบบใหม่เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย”

จำหน่ายมรดก “คสช.”

“ดร.ปิยบุตร” และบรรดาพลเมืองใหม่ พูดเสียงเดียวว่า ต้องพาสังคมไทยออกจากสถานีเผด็จการ ไปสู่สถานีประชาธิปไตย ซึ่งเป็นภารกิจที่ยาก ระดับงานช้าง แต่มีรูปธรรมการเคลื่อนคือ “ขั้นต้นน้อยที่สุดเขากล้าที่จะเลือกตั้ง ด้วยตัวเลือกและแนวทางใหม่ ๆ แล้วออกจากระบอบทหารของ คสช.”

“ในขั้นที่ 1 อยากให้คนเห็นว่า พรรคที่เกิดขึ้นมาเป็นพรรคทางใหม่ จะได้กล้าตัดสินใจ พร้อมที่จะกลับไปสู่ระบบปกติ ไม่จำเป็นต้องกลับไปอยู่กับระบบเผด็จการทหาร และการเมืองประชาชนจัดการกันเองได้”

“ลำดับต่อไป สิ่งที่รัฐบาลทหารทำมา มีมรดกทิ้งไว้มากมาย อะไรที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ขัดแย้งกับสิทธิและเสรีภาพ ก็ต้องตามไปแก้ไข”

“แน่นอน รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ต้องหาทางแก้ คำสั่งและประกาศ คสช.ฉบับต่าง ๆ ต้องจัดการทิ้งก่อน แล้วค่อยมาดูเป็นกรณี ๆ เช่น ประกาศและคำสั่ง คสช.ฉบับใดที่จำเป็นต้องใช้อยู่ หรือ มีคนสุจริตที่ได้รับประโยชน์จากคำสั่งนี้ โดยการเปลี่ยนรูปให้เป็น พ.ร.บ. แต่สิ่งใดที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนต้องเปลี่ยนซึ่งมีจำนวนมาก”

วาดวิกฤติ-รัฐธรรมนูญ 2560

“ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง คสช.ไม่ได้สืบทอดอำนาจต่อไป เดิมพันของการเมืองในรัฐธรรมนูญจะไปตกอยู่ในมือศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญ เราจะพบเห็นการร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอีนุงตุงนังเต็มไปหมด พลังของฝ่ายที่อยากจะแก้รัฐธรรมนูญก็จะพยายามทำและหนังม้วนเก่าก็จะกลับมาคือแก้ไม่ได้”

“เมื่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ทดลองใช้รัฐธรรมนูญไปแล้วติดล็อกต่อ ๆ กันหมด จะเกิดวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญขึ้นมา ปัญหาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญเพียงองค์กรเดียว จะหลงเหลือความชอบธรรมเพียงพอที่จะจัดการวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญได้อย่างสันติหรือไม่”

“ต้องไม่ลืมว่าศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทุกองค์กรก็อยู่ในรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องจบแบบนี้ แต่องค์กรอื่นที่อยู่ในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน รู้สึกไม่ใช่ ก็จะเกิดการปะทะในทางอำนาจ วิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญจะเกิดแน่นอน”

“ผมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ถ้าเราไม่รับ เราจะมีวิถีทางที่จะเข้าไปแก้ไข เปลี่ยนแปลง คือ 1.เข้าไปอยู่ในกติกา และใช้ช่องทาง เต็มความสามารถที่จะแก้ไข 2.วิถีนอกรัฐธรรมนูญ นอกระบบ ซึ่งจะปรากฏออกมาเป็นรูปอะไรก็ไม่ทราบ ซึ่งผมไม่สนับสนุน”

“ผมเชื่อในแนวทางแรก คือ การรณรงค์ให้คนจำนวนมากเห็นข้ออ่อนของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การตั้งพรรคการเมืองของเราก็จะแสดงให้เห็นข้ออ่อนของรัฐธรรมนูญ และเสนอแนวทางแก้ไข”

รื้อเนติบริกร-ล้างบริการอำมาตย์

แคมเปญของพลเมืองใหม่ ไม่ มีทั้งรื้อ-ถอด-แก้โครงสร้างสังคมแบบเก่า ก้าวพ้นจากการการจัดผังของ “กลุ่มเนติบริกร” รุ่นเก่า-แก่

“นโยบายชุดหนึ่งต้องเป็นนโยบายปรับปรุงสถาบันการเมือง รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพมากยิ่งขึ้น”

“คนที่ได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนให้ไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ กับคนอีกกลุ่มที่เขียนรัฐธรรมนูญโดยอำนาจมาจากคณะรัฐประหาร ความชอบธรรมจากประชาชนต้องมากกว่าอยู่แล้ว”

ไหนจะชนชั้นนายทุน-ขุนศึก-อำมาตย์เก่า ที่ต้องทะลุทะลวง รวมทั้งชุดความคิดแบบ “ข้อเสนอที่คุณปฏิเสธไม่ได้” จะรับมือแบบไหน กุญแจเก่าที่ คสช.โยนทิ้งน้ำไป “พลเมืองใหม่” จะไขล็อกข้อนี้อย่างไร

เขาตอบด้วยหลักสามัญ-ไม่ถึงกับเขยื้อนภูเขา “ถ้าเราเชื่อว่ามีชนชั้นจริง มีกลุ่มคนอีกกลุ่มคนหนึ่งจริงที่ครอบครองอำนาจ ครอบครองทุนทางเศรษฐกิจอยู่ ผมเห็นว่า ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมชาติ มีความปรารถนาดีต่อชาติทั้งนั้น แต่เป้าหมายแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน ผมคิดว่า สิ่งใดที่ดีต่อชาติบ้านเมืองและทำให้คนในประเทศได้เจริญเติบโตขึ้น ได้พัฒนาขึ้น คิดว่าถ้าอธิบายกันให้ดี ให้เข้าใจ ไม่น่าจะเป็นอันตรายใด ๆ”

“ถ้าจะเรียกว่า กลุ่มคนเดิม อำนาจเก่า ทุนเก่า สุดแล้วแต่ ทุกคนต้องมีคนรุ่นต่อไปของพวกเขาเหมือนกัน คนรุ่นลูก รุ่นหลาน ซึ่งคนเหล่านี้ก็จะต้องอยู่ในสังคมแผ่นดินนี้ร่วมกันอีก”

“ผมเชื่อว่าเปลี่ยนแปลงได้ ต้องมีพื้นที่ให้ได้แลกเปลี่ยน พื้นที่แรกที่จะเกิดขึ้นจึงต้องกลับไปยังระบบปกติ คือ การเลือกตั้ง เสนอนโยบายแข่งขันกัน”

112 ในระบอบประชาธิปไตย

“แน่นอนที่สุด ผมปฏิเสธไม่ได้ต่อความคิดเห็นที่ผมแสดงออกมา รณรงค์ให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112”

“แต่การเสนอแก้ไขตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ประชาธิปไตยและปรารถนาดีเพื่อให้สถาบันการเมือง สถาบันทั้งหมดในรัฐธรรมนูญจัดวางให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยและดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนอย่างมีเกียรติ สอดคล้องยุคสมัย ทุกเรื่อง มีจุดร่วมเดียวกัน บนพื้นฐานของความเป็นนิติรัฐ”

“พรรคการเมืองที่ทำงานระดับชาติจำเป็นต้องมีนโยบายที่หลากหลาย ตั้งแต่นโยบายเศรษฐกิจ สวัสดิการสังคม สิ่งแวดล้อม ไอที เทคโนโลยี ซึ่ง 2 เรื่องนี้ได้เตรียมการไว้แล้ว การศึกษา สาธารณสุข ศิลปวัฒนธรรม เราเตรียมความคิดไว้แล้ว”

“ไม่ได้มีเรื่อง 112 เรื่องเดียวและพรรคไม่ใช่ของผม ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นของคนทุกคน”

แพลตฟอร์มใหม่-ไร้มือทักษิณ

คำถามที่สมาชิกพลเมืองใหม่ ต้องเซตคำตอบไว้ คือ แนวร่วมมุมคิด-องศาทิศการเมืองของ “ทักษิณ” ทำมุมกันอย่างไร “ดร.ปิยะบุตร” ประกาศว่า “ไม่เกี่ยวข้องกันเลย” แม้ข่าวในลอนดอนจะลือลั่น-ว่าพันพัว

“เมื่อเปิดตัว และเห็นชื่อผู้ก่อตั้ง เลือกกรรมการและทีมนโยบาย ทำนโยบายออกมาก็จะเห็นว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย ยืนยันว่า พรรคของเราที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น รวมตัวคนใหม่ ๆ การบริหารจัดการใหม่ ๆ เราจะเป็นนอมินีของประชาธิปไตย ของสิทธิและเสรีภาพ ของความเสมอภาคทางโอกาส ของการพัฒนา การสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น”

การเมืองโลกไม่สวยงาม-คำถามเดดล็อกคือ เวลานี้พรรคการเมืองแบ่งเป็น 2 ค่าย 2 ขา ทางหนึ่งหนุนเครือข่าย “ทักษิณ” คู่ขนานกับการชู “พล.อ.ประยุทธ์และเครือข่าย”

ใช่หรือไม่ว่า “พลเมืองใหม่” คือแพลตฟอร์มใหม่ “ขาที่ 3” ของการเมืองก้าวพ้นจาก 2 ขั้วเก่า

“ไม่ได้คิดเรื่องพันธมิตรกับใครเราจะเป็นแพลตฟอร์มใหม่ให้การเมืองไทย อยากจะทำให้การเมืองไม่ใช่เรื่องที่น่ารังเกียจ ไม่ใช่เรื่องสกปรก ทำการเมืองสร้างสรรค์ แบบใหม่และถ้าการเมืองดูดีขึ้น คนจำนวนมากจะเข้ามามากขึ้น ทำให้คนเลิกตั้งข้อรังเกียจ ถ้าการเมืองมันแย่ ก็ต้องลงไปทำ ให้มันดี”

พรรคนี้ไม่ได้มีแต่พลเมืองใหม่-แต่ร่างเงาคนการเมืองเก่ากลุ่มก้าวหน้าให้การสนับสนุน แม้ “ดร.ปิยบุตร” จะปฏิเสธว่าไม่มีพี่เลี้ยง-แต่มี “คนอยากมาช่วยทำงานเบื้องหลัง think tank ของพรรคด้วย คอยผลิตนโยบายส่งให้พรรค”