วัดกำลัง 3 ก๊กการเมืองใหม่ พันธมิตรบิ๊กตู่-แนวร่วมทักษิณ-ขั้วตัวแปร

กลุ่มการเมืองแสดงตัวเปิดหน้ากันคึกคัก เตรียมลงสนามเลือกตั้งปี”62 ตั้งแต่วินาทีแรกที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้จองชื่อพรรค เมื่อ 2 มีนาคมที่ผ่านมา

ในช่วงที่สังคมการเมืองเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. จะอยู่คุมอำนาจเป็นนายกฯสมัย 2 หลังเลือกตั้ง

ขณะที่คู่แค้นการเมือง เพื่อไทย-ทักษิณ ชินวัตร แม้ภายในประเมินหนทางชนะเลือกตั้งจะดูน้อยนิดจากกติการัฐธรรมนูญ 2560 แต่ก็ไม่ยอมปล่อยพื้นที่การเมืองให้ คณะทหารสืบทอดอำนาจง่าย ๆ

อย่างไรก็ตาม บางกลุ่มที่มาขอจดจองชื่อ มีทั้งประกาศตัว หนุน-ต้าน-แทงกั๊ก เอาหรือไม่เอาชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ขอให้สถานการณ์เป็นตัวตัดสิน

ทว่าแม้บางกลุ่มประกาศแทงกั๊ก แต่พอเห็นหน้า เห็นองคาพยพ สามารถมองทะลุถึงลิ้นไก่

ตัวอย่างเช่น “พรรคพลังชาติไทย” ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเป็นพรรคที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน คสช. โดยมี พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีตคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ คสช. เป็นว่าที่หัวหน้าพรรค

ซึ่ง “วีระพล รักธรรม” ว่าที่โฆษกพรรค กล่าวว่า พรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่นั้น อยู่ที่ประชาชนจะตัดสินใจ แต่มองว่าการที่พรรคทหารจะเล่นการเมืองหรือตั้งพรรคก็เป็นเรื่องปกติ

แต่ร่องรอยการปรากฏตัวของ พล.ต.ทรงกลด ในพื้นที่ถูกคนการเมืองจับตามองมาเป็นระยะว่าลงพื้นที่ทำมวลชนให้ คสช. ประกอบกับ “วีระพล” โฆษก ก็ออกหน้าจอทีวีในกำกับรัฐ สัมภาษณ์บุคคลระดับรัฐมนตรี ในรัฐบาล คสช.อยู่ในเครือข่าย คสช.ทั้งท่อ รุกคืบในภาคอีสาน ไปทั้งงานบุญ-งานบวช จนเจ้าของพื้นที่อดีต ส.ส.เพื่อไทยยังต้องหวั่น ๆ

ส่วนแนวร่วมที่อยู่เคียงข้าง “บิ๊กตู่” ประกาศตัวชัดตั้งแต่แรก คือ กลุ่มพลเมืองปฏิรูป ของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ประกาศตัวเป็นพรรคแรกที่หนุน “คนดี” นั่งเก้าอี้นายกฯต่อ แม้ส่งตัวแทนมา “จองชื่อ” พรรค แต่ในวันจัดตั้งพรรคอย่างเป็นทางการ “ไพบูลย์”
จะปรากฏตัวอีกครั้ง พร้อมกับสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ดัง ๆ อีกรอบ

ส่วน “พรรคพลังธรรมใหม่” ที่มี “นพ.ระวี มาศฉมาดล” ว่าที่หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ประกาศตัวชัดว่า เป็นแนวร่วม กปปส.ของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” และจะมีฐานการเมือง “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ในอดีตเป็นฐาน คนที่อยู่เบื้องหลังคือ “จำลอง ศรีเมือง” ก็แบะท่าที่จะให้ “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งเก้าอี้ต่อ

“หากสภาไม่สามารถเลือก ส.ส.ในสภาได้ ก็ต้องดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญ ในการเลือกนายกฯจากพรรคอื่น แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ พรรคคงไม่ปฏิเสธนายกฯ คนนอก หรือชื่อ พล.อ.ประยุทธ์”

“พรรคมวลมหาประชาชน” ที่มี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ลุงกำนันแห่งม็อบ กปปส. อยู่เบื้องหลัง ยืนยันว่ายังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้น

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา คือ พรรคพลังท้องถิ่นไท ของ “ชัชวาลย์ คงอุดม” ที่รู้จักในนาม “ชัช เตาปูน” ก็เป็นอีกหนึ่งแนวร่วม พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังทำมวลชนในพื้นที่อย่างคึกคัก อีสานก็ไป ภาคใต้ก็โผล่ เป็นอะไหล่ชั้นดีให้กับ คสช.

ยังไม่รวมพรรคขนาดกลาง พรรคชาติไทยพัฒนา แห่งเมืองสุพรรณบุรี ของ “วราวุธ ศิลปอาชา” เคยประกาศเคียงข้างพล.อ.ประยุทธ์ ยามสัญจรเมืองสุพรรณ และ พรรคพลังชล ของ ตระกูลคุณปลื้ม และ ภูมิใจไทย ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ก็ยังเคลื่อนไหว ที่พร้อมเป็น “ตัวแปร” การเมืองในวันข้างหน้าต่อสายได้ทั้งฝั่งทหาร คสช. และฝั่งเพื่อไทยของนายใหญ่ทักษิณ

ขณะที่พรรคเพื่อไทย-แนวร่วมทักษิณยังคงโดดเดี่ยว ท่องคาถา “ฝ่ายประชาธิปไตย” แต่ไร้แนวร่วมเป็นตัว-เป็นตน

มีแต่ว่าที่ “พรรคมุสลิม” ที่เป็นลูกข่ายพรรคเพื่อไทย ที่นำโดยกลุ่มวาดะห์ ชู “พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง” เป็นผู้นำ แต่ยังติดล็อกรัฐธรรมนูญ พรรคลูกข่าย “ทักษิณ” ก็ยังเจอตอ ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มการเมืองที่กำลังแรง-รุกหนัก ในพื้นที่ภาคใต้และอีสาน

หนึ่งในนั้นคือ พรรคเสรีรวมไทย ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. ที่ประกาศตัวในทุกพื้นที่ว่า อยู่คนละฝั่งกับ คสช. พุ่งเป้าคว้าเสียงในระบบบัญชีรายชื่อ โดยเฉพาะภาคใต้ขั้ว “ทักษิณ” ต้องเจอคู่แข่ง-คู่แค้น ทั้งจากฝ่ายเครือข่าย คสช. พรรคตัวแปรที่พร้อมเปลี่ยนข้าง

แถมยังมีพรรคใหม่เข้าร่วมชิงคะแนนในระบบนับแต้มแบบใหม่ทั้ง 3 ขั้วการเมือง ยังระทึก จนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง