หมอเหรียญทอง ผุด รพ.เขต-อำเภอ ดึงสิทธิภาครัฐ เข้ารักษาพยาบาล

พรรครวมไทยสร้างชาติ แถลงนโยบาย เศรษฐกิจ เลือกตั้ง 2566

ประยุทธ์ นำทีมเศรษฐกิจรวมไทยสร้างชาติ แถลงนโยบาย “ประชาชนได้อะไร” ดึงพรรคการเมืองฟอร์มรัฐบาลทีมชาติ ดูแลเรื่องหนี้ครัวเรือน คนวัยทำงาน และวัยเกษียณ

วันที่ 26 เมษายน 2566 ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธานแถลงข่าวภายใต้หัวข้อ ประชาชนจะได้อะไรจากนโยบายพรรครวมไทยสร้างชาติ”

โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจ นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ประธานคณะกรรมการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน รองหัวหน้าพรรค นายอนุชา นาคาศัย และนายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองหัวหน้าพรรค นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รองหัวหน้าพรรค นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค ร่วมแถลง

ดึงพรรคร่วม ร่วมทีมชาติจัดตั้งรัฐบาล

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นการนโยบายหลักของพรรค ตลอดจนแนวทางการทำงานบนพื้นฐานของการคิดนโยบาย ซึ่งต้องเป็นไปตามสิ่งที่เราทำไปแล้วหลายปีที่ผ่านมา หลายอย่างยังไม่สำเร็จ หลายอย่างอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งมีอุปสรรคมากมาย ประเทศไทยมีคนกว่า 60 กว่าล้านคน มีเนื้อที่ 500,000 กว่าตารางกิโลเมตร แต่จะทำอย่างไรให้ทุกคนมีรายได้ที่ดีขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติมีวิธีคิด โดยคำนึงถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พูดไปแล้วไม่มีวิธีทำ ไม่ได้ ต้องมีวิธีทำและยึดระเบียบและกฎหมายในปัจจุบัน ส่วนอุปสรรคก็ต้องแก้ไขกันต่อไป

“วิสัยทัศน์ของผม คือ มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน จะกี่ปีก็แล้วแต่ 5 ปี 10 ปี 15 ปี 20 ปี เราต้องยึดพื้นฐานความมั่นคงในทุกมิติ ความมั่งคั่งของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทุกอาชีพ ทุกรายได้ รวมความไปถึงความยั่งยืน อยากให้นโยบายของเราเป็นพรรคหลักในอนาคต

ถ้าเราสามารถที่จะเข้ามาในสภาได้มาก เราก็จะสามารถดำเนินการตามวิสัยทัศน์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะวันนี้การเลือกตั้งเราก็ได้รัฐบาลผสมหลายพรรค หลายพรรคก็มีนโยบายของตัวเอง เหมือนกับนักฟุตบอลต่างสโมสรมาเล่นให้ทีมชาติเดียวกัน ก็มีปัญหา เพราะฉะนั้นการประชุมหรือทำอะไรก็ตามก็ต้องทำนโยบายของพรรคอื่นด้วย เมื่อต้องมาประกอบเป็นนโยบายของรัฐบาล หรือ เมื่อประกอบทีมไปแล้วก็เป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหลายพรรคมีนโยบายของตัวเองในการหาเสียง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

Advertisment

“นโยบายลดความเหลื่อมล้ำเรามีอยู่ทุกมาตรการ เรื่องสาธารณสุข เราเพิ่มเติมให้ได้ เพราะเราจะกลายเป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ เรากำลังขับเคลื่อนอยู่ เพราะเราต้องเป็นผู้นำในภูมิภาค” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เศรษฐกิจฟื้น-ขาขึ้น

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ขอเป็นตัวแทนทีมเศรษฐกิจพรรครวมไทยสร้างชาติเล่าแนวคิดของนโยบายของทีมเศรษฐกิจ เป็นวิถีคิดจากการมองย้อนกลับไปในปี 52 ประเทศไทยย่ำอยู่กับที่ โครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิม การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นรองประเทศในกลุ่มอาเซียนตั้งแต่นั้นมา เราอยู่กับที่มานาน ตั้งแต่อีสเทิร์นซีบอร์ด ไม่มีการลงทุน เสถียรภาพความเห็นต่างก็เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจพึ่งพิงแต่เพียงการอุปโภคบริโภค จึงเห็นเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ความมั่นใจในการลงทุนน้อย เนื่องจากเรื่องเสถียรภาพ

Advertisment

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ปี 57 เป็นต้นไป ความสงบกลับมาคืนมา สิ่งที่เราได้เห็นรัฐบาล ณ เวลานั้นทำ คือ โครงข่ายการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก โครงสร้างพื้นฐาน เป็นหลักที่จะต้องต่อยอดและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เป็นตัวชูโรงให้เกิดการดึงดูด การลงทุน ไม่ย่ำอยู่กับที่ ไม่มุ่งเน้นด้านอุปโภคบริโภค เป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจ

ระยะเวลา 8 ปีทยอยเสร็จ ทยอยเห็นผล คู่ขนานกับปฏิบัติการเชิงรุกดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษและอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อีวี อิเล็กทรอนิกส์ Wellness ดิจิทัล เทคโนโลยี วันนี้ไหลมาเทมา แต่ไม่ได้สะดวกสบาย เพราะช่วงเวลา 3 ปีสุดท้าย เจอปัญหาโควิดแทรกขึ้นมา เกิดการชะงักชะงัน แต่ไม่ได้หยุด จึงเห็นว่าต้องทำต่อ เพราะมีคนทำแล้วและทำอยู่ขณะนี้ ไม่พึงจะต้องไปเริ่มใหม่

“โจทย์ที่เหลือโจทย์เดียว คือ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเมื่อฝ่าวิกฤตแล้วและกำลังฟื้นฟูจะฟื้นฟูได้อย่างยั่งยืน พลิกโครงสร้างเศรษฐกิจจากเดิมที่เคยย่ำอยู่กับที่ให้เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่มีความยั่งยืน มั่นคงกับประเทศและเหมาะสมกับคนรุ่นใหม่ของประเทศไทย”นายสุพัฒนพงษ์กล่าวและว่า

“วันนี้ ตัวเลขเริ่มผลิดอกออกผล มีหลักฐานยืนยันจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ได้แถลงผลดำเนินการต่าง ๆ ของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา ดัชนีทุกดัชนีดีขึ้น เศรษฐกิจฟื้นฟูและขาขึ้น ตัวเลขที่หลายคนปรามาสว่า เศรษฐกิจไทยโตช้าเหลือเกิน จีดีพีโต 2 % เราพอใจหรือ

วันนี้ประเทศอื่นที่ได้ประกาศตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ดูจะโดดเด่น ไตรมาส 1 ต่ำกว่าปีที่แล้ว ดูเหมือนจะมีประเทศไทยประเทศเดียว ณ ขณะนี้ ต้องรอดูผลอย่างเป็นทางการของสภาพัฒน์ที่จะประกาศตัวเลขจีดีพีในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ก่อนว่า เติบโตมากกว่าไตรมาสที่ 4 ของปี 65 หรือไม่ ตรงนี้เป็นเครื่องชี้วัด”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ขีดเส้น 1 ปี แก้หนี้ครัวเรือน 4 แสนล้าน

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันธุรกิจ เป็นกฎหมายที่มีมานาน จะต้องมีการปรับแก้ ให้อสังหาริมทรัพย์สามารถมาเป็นหลักประกันได้ เช่น รถยนต์ นำมาลดต้นลดดอกได้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถเข้ามาปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ปศุสัตว์ก็สามารถทำได้ โครงการโคล้านตัวก็สามารถนำมาเป็นหลักประกันเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

“เรื่องหนี้ครัวเรือน พรรครวมไทยสร้างชาติให้ความสำคัญ ซึ่งเกิดขึ้นจากคนอื่นที่เราต้องมานั่งแก้ ถ้าเราได้เป็นรัฐบาล ปี 57 หนี้ครัวเรือน 80 % ต่อจีดีพี ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดขึ้น วันนี้ 86 %ต่อจีดีพี รวมผลพวงจากโควิดแล้ว แต่หนี้ครัวเรือนสำคัญ ๆ ได้ถูกแก้ไขในรัฐบาลหรือสภาในยุคคนี้เป็นที่เรียบร้อย คือ หนี้ กยศ. ผู้กู้และผู้ค้ำ 6.8 แสนคน” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

“หนี้ครัวเรือนที่ยังค้างอยู่ คือ หนี้เช่าซื้อ ไม่มีเพดานดอกเบี้ย มีก็สูงมาก เราจะให้มีหน่วยงานกำกับ เช่น ธปท. ให้มาดูหนี้เช่าซื้อ ให้อัตราดอกเบี้ยยุติธรรมและอัตราดอบเบี้ยลดลง รวมถึงหนี้ครู หนี้สหกรณ์ต้องถูกนำมาดำเนินการอย่างจริงจัง ทำอย่างเป็นระบบ มาอยู่ในกำกับ ธปท. และการตัดซองเงินเดือนหนี้สหกรณ์ ข้าราชการ จะแก้ไขกฎหมายให้เงินที่เหลือติดซองไม่น้อยกว่า 30 %

หนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด 3 ล้านราย วงเงินหนี้ 4 แสนล้านบาท จะได้รับการคุ้มครองทรัพย์ บ้านและเครื่องมือทำมาหากินจะไม่ถูกยึด หากจ่ายขั้นต่ำในระดับที่จ่ายได้ รวมไทยสร้างชาติจะแก้ให้ได้ภายใน 1 ปี” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

เพิ่มเงินชราภาพเดือนละ 1 หมื่นบาท

นายสุชาติกล่าวว่า ในฐานะดูแลนโยบายด้านแรงงาน โดยอยู่ในระบบประกันสังคม 12-13 ล้านคน ภายใต้ม็อตโต คืน เพิ่มและสร้าง โดยใช้งบประมาณของกองทุนประกันสังคมเป็นหลัก งบประมาณแผ่นดินไม่ใช้

คืน คือ คืนเงินชราภาพผู้ประกันตน (ร่างพ.ร.บ.3 ขอ) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกันตน 30 % ซึ่งกฎหมายจ่ออยู่ในสภาแล้ว ถ้าพรรครวมไทยสร้างชาติกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลเราสามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาในสภาได้ทันที

เพิ่ม คือ เพิ่มเงินดูแลบุตรให้แก่ผู้ประกันตน 1,000 บาท ตั้งแต่เกิดเกิดจนถึงอายุ 10 ปี โดยมีผู้ประกันตนใช้สิทธิรับเงินเลี้ยงดูบุตร 800 บาท 1.3 ล้านคนหรือครอบครัว และเพิ่มเงินบำนาญชราภาพ 10,000 บาท

สร้าง คือ สร้างโรงพยาบาลประกันสังคม 4 ภาค และให้เป็นสถาบันทางการแพทย์ ขณะนี้อยู่ในคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งได้ข้อสรุปจบแล้ว รอเสนอคณะรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ถ้าพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเราจะให้ทุนบุตรหลานผู้ประกันตนมาตรา 33 สอบชิงทุน เมื่อเรียนจบมาให้มาเป็นแพทย์ พยาบาลให้กับสถาบันทางการแพทย์โรงพยาบาลประกันสังคม

“แรงงานนอกระบบ 21 ล้านคน รอความหวังนี้มานาน เป็นรัฐบาลเดียวที่ทำสำเร็จแล้ว จ่ออยู่ในสภา คือ พ.ร.บ.แรงงานนอกระบบ ทำให้มีระบบ มีที่พึ่งดูแล เช่น จักรยานยนต์รับจ้าง หาบเร่ แผงลอย แท็กซี่ ไรเดอร์ และที่สำคัญที่สุด คือ กองทุนแรงงานนอกระบบ ผ่านครม.แล้ว อยู่ที่เม็ดเงินที่จะเติมเข้าไป ขอให้พรรครวมไทยสร้างชาติจัดตั้งรัฐบาล ทำได้ทันที ทุกเรื่อง”นายสุชาติกล่าว

คนละครึ่งภาคสอง จ่ายค่าน้ำ-ไฟ ได้

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การกำหนดนโยบายต่าง ๆ ของพรรครวมไทยสร้างชาติมีที่มาทางวิชาการและประสบการณ์ ซึ่งสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงมากที่สุด คือ วุฒิภาวะและความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง เพราะฉะนั้นการกำหนดนโยบายต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะกระทบต่อสถานะต่างๆ ของบ้านเมือง ไม่ใช่คิดแต่เพียงว่า กำหนดนโยบายเพื่อให้ได้คะแนนเสียง ไม่ใช่เพียงการคิดนโยบายเพื่อเกทับบลัพกัน แต่ที่สำคัญคือ รับผิดชอบต่อสถานะทางเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของประเทศด้วย

“ประชาชนที่เสียภาษีปีละ 4 ล้านคน ซึ่งได้เงินคืน 2 ล้านคน ดังนั้นนโยบายสำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติคือ เราจะให้สิทธิ์สำหรับประชาฃชนที่จ่ายภาษีสามารถลดหย่อนค่ารักษาพยาบาลตนเองและพ่อแม่วงเงินรวมกัน 6 หมื่นบาทต่อปี ขณะที่นโยบายโครงการคนละครึ่งภาคสองสามารถใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟได้ด้วย”นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาพรวมของการช่วยสังคม คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เปรียบเสมือนกฎหมายบีโอไอภาคประชาชน สามารถสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาช่วยดูแลสังคม ทำอย่างไรให้สังคมอยู่กันได้ ทำอย่างไรให้คนมีมาเจือจางคนไม่มี ทำอย่างไรให้คนที่มีโอกาสมาช่วยเหลือคนที่ไม่มีโอกาส เราจะนำเอาแนวทางนี้มาเริ่มต้นด้วยการดูแลสุขภาพ โดยการตั้งโรงพยาบาลที่ใช้กฎหมายดังกล่าวมาสนับสนุน ในกรุงเทพฯเรียกว่านโยบา 1 เขต 1 โรงพยาบาล หรือ 1 อำเภอ 1 โรงพยาบาล ซึ่งจะเข้ามาดูแลผู้ป่วยระดับ 2 หรือ ผู้ป่วยไม่รุนแรง ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพื่อลดความแออัดและค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันจะมีศูนย์ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสรและผู้ป่วยโรคร้ายระยะสุดท้าย

PPP โรงพยาบาลเขต-อำเภอ

พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เปิดระเบียงเศรษฐกิจเต็มไปทั่วทุกภาคแล้ว เพราะฉะนั้นโครงสร้างสาธารณสุขต้องสอดคล้องไปด้วย ดังนั้น นโยบายพรรครวมไทยสร้างชาติจึงมีบริบทในการพัฒนา ระบบบริการสาธารณสุขออกเป็น 2 ทาง จังหวัดที่มีประชากรหนาแน่น เราจะต้องมีหน่วยบริการ โรงพยาบาลที่เป็นระดับทุติยภูมิ ปฐมภูมิ กระจายตัวอย่างทั่วถึงไปยังชุมชน ในกรุงเทพฯ 1 เขต 1 โรงพยาบาล

“การลงทุนสถานพยาบาลต้องใช้งบประมาณมาก ดังนั้น การใช้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ภายใต้หลักการสังคมเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง ภาคเอกชนที่จะเข้าร่วมกับภาครัฐต้องเป็นภาคเอกชนที่มีจุดดประสงค์หลักในการเข้ามาแก้ไขปัญหาของสังคม การขาดแคลนบริการทางการแพทย์ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ นครราชสีมา เชียงใหม่ สงขลา 1 เขต 1 อำเภอ จะต้องมีการกระจายตัวอย่างทั่วถึง”นพ.เหรียญทองกล่าวและว่า

“ดังนั้น ลักษณะของโรงพยาบาลจึงเป็นเอกชนที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม แต่จำเป็นต้องมีกฎหมายระดับรอง หรือ กฎหมายลูก เพื่อแก้ไขการขาดแคลนหน่วยบริการ เช่น ประชาชน นิติบุคคลที่เข้ามาถือหุ้นลงทุนจะสามารถนำเงินค่าหุ้นนี้ไปเป็นค่าใช้จ่ายในการลดหย่อนภาษี หรือ การเช่าที่ดินราชพัสดุ ไม่ใช่ใช้เปล่า จะสามารถทำให้ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินในการสร้างโรงพยาบาลจำนวนมาก โดยเป็นการร่วมมือกับเอกชน หรือ ใช้คำว่า Public Private Partnership หรือ PPP”นพ.เหรียญทองกล่าว

นพ.เหรียญทอง กล่าวว่า ในเมืองขนาดใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เป็นโรงพยาบาลเอกชนประจำเขต 1 เขต 1 โรงพยาบาล ในต่างจังหวัด ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ที่มีประชากรไม่หนาแน่น สามารถใช้สิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น โรงพยาบาลชุมชน แต่ไปเพิ่มขีดความสามารถ โดยเอกชนที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมเข้าไปสมทบ ทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณในการลงทุน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากรทางการแพทย์ การจัดซื้อจัดจ้างให้ใช้รายได้จากกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จ่ายให้กับการรักษาพยาบาล

“โรงพยาบาลนี้จะรับผู้ป่วยทุกสิทธิ์ บัตรทอง ประกันสังคม รวมถึงสิทธิข้าราชการ ก็สามรารถเข้าได้ โดยอัตราการเบิกจ่ายกับกรมบัญชีกลางจะต้องน้อยกว่าที่กรมบัญชีกลางจ่ายให้โรงพยาบาลรัฐ ทำให้ประหยัดงบประมาณค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวได้”นพ.เหรียญทองกล่าว

ข้าราชการช้างกตัญญู ไม่ใช่ช้างป่วย

นายจุติ กล่าวว่า นโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่หว่านงบประมาณ ไม่เหวี่ยงแห เพื่อชนะเลือกตั้ง แต่จะรับผิดชอบต่อธรรมาภิบาลและวินัยการเงินการคลัง นโยบายพุ่งเป้า การแจกเงินให้ประชาชนไม่ได้ทำให้หายจน ทำอย่างไรให้เงินที่มีอยู่น้อยนิดให้เกิดประโยชน์กับคนจนมากที่สุด คนมีรายได้น้อยมากที่สุด

“สิ่งแรกที่เราจะทำ เราจะไม่แตะต้องเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เราจะดูแลอย่างดี เรามองว่าข้าราการเป็นช้างกตัญญู ไม่ใช่ช้างป่วย”นายจุติกล่าว