อัครพงษ์ เผยโพลสะท้อนความรู้สึก ปชช.ปลุกนักการเมืองเร่งทำคะแนนนิยม

อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิเคราะห์โพล มติชนXเดลินิวส์
ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อัครพงษ์ วิเคราะห์โพลมติชนXเดลินิวส์ เลือกตั้ง’66 บทใหม่ประเทศไทย ตั้งคำถามกับ ‘อำนาจ’ สะท้อนความรู้สึก แนะพรรคการเมืองเร่งลงพื้นที่ เรียกเสียงจากคน ‘ยังไม่ตัดสินใจ’

วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 มติชน รายงานว่า ที่ชั้น G บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เขตจตุจักร กรุงเทพฯ มติชน X เดลินิวส์ จัดเวที “ร่วมวิเคราะห์โพลเลือกตั้ง 66”

ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศเวลา 10.10 น. มีการเสวนา หัวข้อ “สรุป-วิเคราะห์ ผลการจัดทำ มติชน-เดลินิวส์ โพล” โดย นายปารเมศ เหตระกูล กรรมการบริหารหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์, นายปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดี วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

ผศ.อัครพงษ์กล่าวบนเวทีเสวนาถึงคำถามที่ว่า “ผลโพลที่ปรากฏออกมา ซึ่งสวนทางกับกระแสสังคมในขณะนั้น อยากบอกอะไรกับสังคมถึงผลโพลที่ปรากฏออกมา”

สิ่งที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นเรื่องของตัวเลข และผ่านการพูดคุยกับนักวิชาการท่านอื่นถึงวิธีการนำเสนอ ว่าจะนำเสนออย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ที่ผ่านมาเกิดการตั้งคำถามว่า การมีโพลก่อให้เกิดประโยชน์อะไร เนื่องจากการทำโพลมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้า การตอบปัญหาต่าง ๆ จะสามารถหาคำตอบได้โดยการตั้งโพล

“โพลปกติจะมีการตั้งคำถาม และมีสูตรคำนวณต่าง ๆ ซึ่งแล้วแต่วิธีการของแต่ละคน ขณะเดียวกันสิ่งที่มติชนกับเดลินิวส์ทำคือการนำกลุ่มตัวอย่างมาก่อน และหลังจากนั้นถึงมาวิเคราะห์เหตุผลของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งพบว่าวิธีการดังกล่าวสามารถสะท้อนความเชื่อมั่นของผลโพลได้ถึง 95% มีความคลาดเคลื่อนไม่ถึง 0.35” ผศ.อัครพงษ์กล่าว

ผลโผลคือความนิยม ไม่ใช่ผลลัพธ์

ในตอนหนึ่งนายอัครพงษ์ตอบคำถามที่ว่า “จากกระแสที่เกิดขึ้นในโซเชียล ผลโพลสามารถเป็นคะแนนในโลกความเป็นจริงได้หรือไม่”

ผศ.อัครพงษ์ตอบว่า โพลที่มติชนและเดลินิวส์ทำขึ้นมาเพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างประชาธิปไตย ผลโพลคือความนิยมไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่สามารถให้ข้อคิดแก่นักการเมือง และพรรคการเมืองได้ว่าทำพลาดตรงส่วนไหน และต้องปรับแก้ส่วนใด ดังนั้นการมีโพลเป็นการกระตุ้นพรรคการเมือง และนักการเมืองได้เป็นอย่างดี

“ถ้าเห็นว่ากระแสมา อย่างกรณีของอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ โจ ไบเดน ก็พิสูจน์แล้วว่าดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมาจริง และทำให้หลายบริษัทปิดตัวไปแล้ว ถ้าท่านไม่เปลี่ยนก็แล้วแต่ ไม่ว่ากัน รอดูวันที่ 14 พ.ค.ว่าจะเป็นอย่างนั้นไหม”

“การเลือกตั้งในครั้งนี้สะท้อนว่าดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมีผลต่อคะแนนความนิยมของนักการเมืองโดยแท้จริง สามารถบอกได้ว่าหากสื่อไหนไม่ตามกระแสก็อาจจะเจ๊ง พรรคการเมืองไหน สถาบันไหนไม่ตามกระแสออนไลน์มีโอกาสไม่รอด” ผศ.อัครพงษ์กล่าว

“โพล” บอกความรู้สึก ส่งสัญญาณถึงนักการเมือง พรรคการเมือง

ผศ.อัครพงษ์กล่าวต่อไปว่า โพลมติชนXเดลินิวส์เป็นการตั้งคำถามกับอำนาจ นอกจากจะเห็นความนิยม และความรู้สึกของคนที่มาร่วมตอบคำถามแล้วนั้น สามารถพูดง่าย ๆ ได้ว่าโพลนี้บอกความ ‘รู้สึก’

“การเลือกตั้งเป็นเรื่องของความรู้สึกโดยแท้ ท่านจะชอบหรือไม่ชอบ นโยบายนี้ดีหรือไม่ดี การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณถึงนักการเมือง พรรคการเมือง อย่าลืมว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องกับชนหมู่มาก ชนหมู่มากมาพร้อมกับกระแส และความนิยม

“สิ่งสำคัญที่สุดคือพื้นที่ 400 เขต และขอฝากถึงพรรคการเมือง และนักการเมืองว่าให้กลับไปลงพื้นที่ และสังเกต พร้อมกับคอยสังเกตกระแสของผู้คนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือก เพราะคือตลาดที่ท่านสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้

สิ่งสำคัญในการทำโพลครั้งนี้ คือการกระตุ้นความรู้สึกอยากจะออกมามีส่วนร่วมทางการเมือง ทุกคนรู้สึกว่าเรามีจิตใจเป็นเจ้าของชาติ ชาติหมายถึงเราอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้นโพลบอกว่านี่คือบ้านเมืองของเรา เราจะกำหนดอนาคตของเราวันที่ 14 พฤษภาคมครับ” ผศ.อัครพงษ์กล่าว